องค์การอุตสาหกรรมป่าไม้ สร้างค่านิยมและวัฒนธรรมองค์กร “4 ป. และ HAPPYs” มุ่งขับเคลื่อนและพัฒนาองค์กรสู่ความเป็นเลิศ
22 พ.ค. 66 – นายประสิทธิ์ เกิดโต โฆษกองค์การอุตสาหกรรมป่าไม้ เปิดเผยว่า สืบเนื่องจากองค์การอุตสาหกรรมป่าไม้ (อ.อ.ป.) ได้มีการทบทวนและจัดทำแผนวิสาหกิจองค์การอุตสาหกรรมป่าไม้ ระยะ 5 ปี (พ.ศ. 2566 – 2570) เพื่อเป็นกรอบและทิศทางในการดำเนินงานของ อ.อ.ป. ที่มุ่งสู่การเป็นองค์กรที่สร้างสมดุลผู้มีส่วนได้ส่วนเสียอย่างยั่งยืน (Sustainable Stakeholder Balancing)
ภายใต้วิสัยทัศน์ “สร้างสรรค์สวนป่าเศรษฐกิจเพื่อความยั่งยืน” โดยมีจุดมุ่งหมาย ได้แก่ การขยายธุรกิจพร้อมกับการสร้างผลเชิงบวกต่อชุมชนให้สามารถพัฒนาคุณภาพชีวิตที่ดีอย่างยั่งยืน และมีความรับผิดชอบต่อสภาพแวดล้อม
ตลอดจนสามารถรองรับสังคมคาร์บอนต่ำอย่างเต็มรูปแบบ ควบคู่กับอนุรักษ์และสร้างความตระหนักในการใช้ทรัพยากรธรรมชาติให้แก่ชุมชนและประชาชน รวมถึงบริหารจัดการทรัพยากรธรรมชาติที่มีอยู่ให้เกิดมูลค่าทางสังคมและเศรษฐกิจอย่างยั่งยืน
โฆษก อ.อ.ป. กล่าวอีกว่า ทั้งนี้เพื่อให้การขับเคลื่อนนโยบายเป็นไปในทิศทางเดียวกัน และเกิดประสิทธิผลตามเป้าประสงค์ของ อ.อ.ป. จึงมีการกำหนดค่านิยม (Core Values) และวัฒนธรรม (Culture) ของ อ.อ.ป. ขึ้น ซึ่งจะเป็นส่วนหนึ่งในการกำหนดรูปแบบ และทิศทางในการดำเนินงาน ของผู้ปฏิบัติงานให้ชัดเจนมากยิ่งขึ้น เพื่อให้บรรลุผลตามจุดมุ่งหมายที่ อ.อ.ป. ได้ควาดหวังไว้
สำหรับค่านิยมและวัฒนธรรมของ อ.อ.ป. ที่กำหนดขึ้นมาใหม่นั้น เป็นการสร้างค่านิยมที่ส่งเสริมพฤติกรรมที่พึงประสงค์ให้ผู้ปฏิบัติงานได้ยึดเป็นแนวทางในการปฏิบัติ และส่งเสริมให้เกิดพฤติกรรมอย่างต่อเนื่องที่มุ่งไปสู่ความสำเร็จตามวิสัยทัศน์และพันธกิจของ อ.อ.ป. โดยค่านิยมของ อ.อ.ป. (Core Values) ประกอบด้วย 4 ป. ได้แก่ ‘ปลุก – ปลูก – ปั้น – ปัน’ โดยในแต่ละ ป. นั้น จะสื่อความหมาย ดังนี้
ปลุก คือ การปลุกคุณธรรม: มุ่งมั่นในการบริหารและจัดการตามหลักธรรมาภิบาล ด้วยความซื่อสัตย์ สุจริต เสียสละ และอดทน
ปลูก คือ การปลูกคุณภาพ: สร้างสรรค์และส่งมอบผลผลิตและบริการที่เป็นเลิศทุกกระบวนการด้วยบุคลากรมืออาชีพ สร้างโอกาสในการแข่งขัน
ปั้น คือ การปั้นคุณค่า: ยกระดับองค์ความรู้ เทคโนโลยีสู่การสร้างสรรค์นวัตกรรมเพื่อสร้างคุณค่า สินทรัพย์ ความรู้ และส่งมอบให้มีผู้ส่วนได้ส่วนเสีย
และ ป.สุดท้าย คือ ปัน – ปันความยั่งยืน: แบ่งปัน ขับเคลื่อนความยั่งยืนทางด้านเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม ตามแนววิถีใหม่ ด้วยการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วนให้สอดคล้องกับหลักการกำกับดูแลกิจการที่ดี
นายประสิทธิ์ กล่าวเพิ่มเติมว่า นอกจากการสร้างค่านิยม 4 ป. แล้ว อ.อ.ป. ยังมีการขับเคลื่อนการดำเนินงานในเรื่องของ “วัฒนธรรมองค์กร” (Culture) ภายใต้คำว่า ‘HAPPYs’ ซึ่งมีความหมายว่า ชีวิตที่มีความสุขทุกภาคส่วน โดย H: Harmonization – ทำงานเป็นทีม, A: Accountability – ปฏิบัติงานเต็มความสามารถ, P: People Centric – การทำงานที่คำนึงถึงประโยชน์ของประชาชน, P: Positive Thinking – มีทัศนคติเชิงบวก, Y: Young at Heart – กระตือรือร้น และ S: Social Contribution – ส่งมอบคุณค่าให้กับสังคม ชุมชน
“จากการกำหนดค่านิยม (Core Values) และวัฒนธรรม (Culture) อ.อ.ป. คาดหวังว่าจะสามารถสร้างความเชื่อมั่น สร้างแรงจูงใจให้บุคลากรยึดถือเป็นแนวทางปฏิบัติร่วมกัน และสืบทอดจนเป็นธรรมเนียม ตลอดจนยกระดับความพร้อมสำหรับการเปลี่ยนแปลงเป็นองค์กรที่มีเอกลักษณ์สู่ความเป็นเลิศในอนาคตต่อไป” โฆษก อ.อ.ป. กล่าวทิ้งท้าย