อ.ส.ค.สืบสาน รักษา ต่อยอด โคนมอาชีพพระราชทานสู่ความมั่นคง ตามพระราชปณิธานของทั้ง 3 พระองค์

Home » อ.ส.ค.สืบสาน รักษา ต่อยอด โคนมอาชีพพระราชทานสู่ความมั่นคง ตามพระราชปณิธานของทั้ง 3 พระองค์
อ.ส.ค.สืบสาน รักษา ต่อยอด โคนมอาชีพพระราชทานสู่ความมั่นคง ตามพระราชปณิธานของทั้ง 3 พระองค์

อ.ส.ค. เดินหน้าพัฒนาองค์ความรู้และเพิ่มทักษะการเลี้ยงโคนมให้กับเกษตรกรผู้เลี้ยงโคนม เพื่อสืบสาน รักษา ต่อยอด โคนมอาชีพพระราชทานสู่ความมั่นคง ยั่งยืนตามพระราชปณิธานของทั้ง 3 พระองค์

นายสมพร ศรีเมือง ผู้อำนวยการองค์การส่งเสริมกิจการโคนมแห่งประเทศไทย (อ.ส.ค.) กล่าวว่า “อาชีพการเลี้ยงโคนม ถือเป็นอาชีพพระราชทานจากพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร (ในหลวงรัชกาลที่ 9) ที่ต้องการให้เกษตรกรไทยได้ประกอบอาชีพที่มั่นคง ยั่งยืน อีกทั้งยังได้มีนมที่มีคุณภาพไว้บริโภคได้อย่างพอเพียงโดยไม่ต้องนำเข้าจากต่างประเทศ”

“ซึ่งแต่ละปี อ.ส.ค.ได้จัดเทศกาลโคนมแห่งชาติ พร้อมจัดประกวดโคนมดีเด่นชิงถ้วยพระราชทานจากพระบาทสมเด็จพระปรเมนทรรามาธิบดีศรีสินทร มหาวชิราลงกรณ พระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ 10) และสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารีขึ้น เพื่อน้อมรำลึกถึงพระมหากรุณาธิคุณของในหลวงรัชกาลที่ 9 ได้ทรงพระราชทานอาชีพการเลี้ยงโคนมแก่ปวงชนชาวไทยจนได้รับการน้อมเกล้าฯ ถวายพระราชสมัญญาว่า ‘พระบิดาแห่งการโคนมไทย’ จนถึงในหลวงรัชกาลที่ 10 ได้ทรงสืบสาน รักษา ต่อยอด โคนมอาชีพพระราชทานสู่ความมั่นคง ยั่งยืน”
433867นายสมพร กล่าวด้วยว่า “ที่ผ่านมากระทรวงเกษตรและสหกรณ์ได้ให้ความสำคัญเป็นอย่างยิ่งต่ออาชีพการเลี้ยงโคนม ได้มอบหมายให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องร่วมกัน สืบสาน รักษา ต่อยอดอาชีพโคนมตามพระราชปณิธานของทั้งสองพระองค์ โดยมีนโยบายที่จะพัฒนาและส่งเสริมการเลี้ยงโคนมอย่างต่อเนื่องเพื่อพัฒนาสู่อาชีพที่มั่นคง ซึ่งการประกวดโคนมสำหรับเกษตรกรผู้เลี้ยงโคนมนั้น นอกจากช่วยกระตุ้นให้เกิดการพัฒนาพันธุ์โคนม บริหารจัดการฟาร์มโคนมที่ดีขึ้นแล้ว ยังช่วยสร้างศักยภาพความสามารถในการแข่งขันทางธุรกิจของเกษตรกรผู้เลี้ยงโคนม ทั้งด้านพัฒนาประสิทธิภาพของปริมาณการผลิตน้ำนมดิบและคุณภาพน้ำนมดิบที่อ.ส.ค. มุ่งพัฒนาและขับเคลื่อนเพื่อยกระดับการผลิตน้ำนมดิบให้ได้มาตรฐานรองรับการแข่งขันในอุตสาหกรรมผลิตภัณฑ์นมในและต่างประเทศและเพื่อขับเคลื่อนสู่ยุทธศาสตร์นมแห่งชาติอีกด้วย”

“ทั้งนี้ อ.ส.ค.ยังคงยึดมั่นในการเป็นองค์กรหลักในการสืบทอดองค์ความรู้และสร้างความสุขแก่เกษตรกรโคนมไทยให้ดำรงอาชีพอย่างมั่นคงและยั่งยืนด้วยการสรรค์สร้างนวัตกรรมตลอดห่วงโซ่คุณค่าของอุตสาหกรรมโคนมให้เป็นแบรนด์ที่หนึ่งในใจที่คนไทย เพื่อส่งมอบคุณค่าให้คนไทยมีสุขภาพดีด้วยผลิตภัณฑ์จากนมโคสดแท้ 100% ของเกษตรกรไทยให้อยู่คู่ประเทศไทยตลอดไป เพื่อสืบสาน รักษา ต่อยอด โคนมอาชีพพระราชทานตามพระราชปณิธานของทั้ง 3 พระองค์”

นายสมพร กล่าวด้วยว่า “ปัจจุบันประเทศไทยมีอุตสาหกรรมโคนมที่ใหญ่ที่สุดในภูมิภาคอาเซียนมีโคนมมากกว่า 6 แสนตัว กว่าครึ่งเป็นแม่โครีดนมกระจายอยู่ในทุกภาคของประเทศ กำลังการผลิตน้ำนมดิบไม่ต่ำกว่า 1,264,000 ตัน โดยน้ำนมดิบส่วนใหญ่ 90% ถูกส่งป้อนตลาดนมพาณิชย์ และ 10% สำหรับโครงการอาหารเสริม(นม)โรงเรียน ซึ่ง อ.ส.ค.มีเป้าหมายเร่งพัฒนาองค์ความรู้และเพิ่มทักษะการเลี้ยงโคนมให้กับเกษตรกรสมาชิก มุ่งส่งเสริมให้เป็นสมาร์ทฟาร์มเมอร์ (Smart Farmer) ตามนโยบายกระทรวงเกษตรฯ คาดว่าจะสามารถช่วยยกระดับฟาร์มโคนมให้ได้รับการรับรองมาตรฐานฟาร์ม (GAP) เพิ่มขึ้นจากปีที่ผ่านมา 20% ซึ่งจะทำให้ได้น้ำนมดิบที่มีคุณภาพมาตรฐาน พร้อมลดต้นทุนการผลิตลงทำให้เกษตรกรผู้เลี้ยงโคนมรายย่อยมีรายได้เพิ่มสูงขึ้น  ซึ่งการที่เกษตรกรผู้เลี้ยงโคนมมีความเข้มแข็งในอาชีพและมีความมั่นคงในรายได้อย่างยั่งยืน นับเป็นพระมหากรุณาธิคุณอย่างหาที่สุดมิได้”
433868นายสมพร กล่าวด้วยว่า “จากนโยบายของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ในการให้แนวทางในการส่งเสริมและพัฒนาการเลี้ยงโคนมอย่างต่อเนื่องเพื่อพัฒนาสู่อาชีพที่มั่นคงตามแนวพระราชดำริของ 3 พระองค์ ส่งผลให้ในปีที่ผ่านมาทำให้ศักยภาพการผลิตน้ำนมดิบของเกษตรกรผู้เลี้ยงโคนมเพิ่มขึ้น โดยปีที่ผ่านมามีปริมาณน้ำนมดิบทั้งประเทศ 1,088,795 ตันต่อปี อ.ส.ค. รับซื้อน้ำนมดิบ จำนวน 219,864 ตันต่อปี คิดเป็น 20 เปอร์เซ็นต์จากสมาชิก 3,534 ราย ส่วนในปี 2567 อ.ส.ค. ได้จัดทำบันทึกข้อตกลงการซื้อขายน้ำนมโค (MOU) จำนวน 435 ตันต่อวัน หรือ 159,285 ตันต่อปีคิดเป็น 16 เปอร์เซ็นต์จากน้ำนมดิบทั้งประเทศ เพื่อรองรับในการผลิตผลิตภัณฑ์นมของสำนักงานทุกภาค”

“ทั้งนี้ อ.ส.ค. ดำเนินการปรับขึ้นราคาน้ำนมโค หน้าโรงงานแปรรูปผลิตภัณฑ์นม และศูนย์รวบรวมน้ำนมดิบ ตามประกาศคณะกรรมการโคนมและผลิตภัณฑ์นม เมื่อวันที่ 8 มกราคม 2567 โดยไม่รอมติ ครม. อนุมัติเพื่อเป็นขวัญและกำลังใจให้กับเกษตรกรและชะลอเกษตรกรเลิกกิจการ เป็นการบรรเทาความเดือดร้อนที่เกษตรกรเผชิญเรื่องต้นทุนการผลิตที่ปรับตัวสูงขึ้น”

“จากความสำเร็จที่ได้ร่วมมือ ร่วมใจกันสืบสาน รักษา ต่อยอดโคนมอาชีพระราชทาน ส่งผลให้ได้รับน้ำนมดิบที่มีคุณภาพเข้าสู่ขบวนการผลิตเพื่อผลิตผลิตภัณฑ์นมที่มีคุณภาพ และปลอดภัยให้กับผู้บริโภค ส่งผลย้อนกลับให้กับเกษตรกรผู้เลี้ยงโคนมมีความเข้มแข็งในอาชีพและมีรายได้ที่มั่นคงอย่างยั่งยืน  นับเป็นพระมหากรุณาธิคุณอย่างหาที่สุดมิได้” นายสมพร กล่าว

แท็กที่เกี่ยวข้อง

เรื่องอื่นที่น่าสนใจ