อ.มหาลัยดัง แขวะ สว.หมอเกศ ทำลายภาพพจน์นักวิชาการหนักมาก!

Home » อ.มหาลัยดัง แขวะ สว.หมอเกศ ทำลายภาพพจน์นักวิชาการหนักมาก!

ดับฝันคนอื่น

อาจารย์ม.ดัง แซะ พญ.เกศกมล ทำภาพลักษณ์ส.ว.-นักวิชาการเสียหาย ลั่นการได้รับตำแหน่งแบบนี้ เป็นการทำลายความฝันของนักวิชาการหลายคนที่ตั้งใจทำงาน

เมื่อวันที่ 23 กรกฎาคม ศ.ดร.ปังปอนด์ อาจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยดัง โพสต์ผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัว “อาจารย์ปังปอนด์” กรณีพญ.เกศกมล เปลี่ยสมัย ส.ว. ความว่า กรณี “ศาสตราจารย์ ดร. พญ. เกศกมล” ใครเสียหาย? เมื่อคืนนั่งคุยกับสามีที่เป็น “ศาสตราจารย์ ด๊อกเตอร์“ ถึงกรณีคุณหมอเกศกมลที่เลื่องลือ และบอกกับสามีว่าไม่อยากให้ความเห็นกับเรื่องนี้ในที่สาธารณะเพราะจะดูเหมือนไปเกาะกระแส คุณสามีบอกว่า มีผู้ออกมาปกป้องคุณหมอและถามคำถามท้าทายว่า “คุณหมอทำแบบนี้..ใครเสียหาย? ไม่มีใครเสียหาย!” คำถามนี้กระตุกต่อมนักวิชาการในตัวมาก วันนี้จึงขอมาตอบคำถาม และอธิบายสักนิดว่าใครเสียหาย?

วงการวิชาการในประเทศไทยแม้จะยังมีปัญหาอยู่หลายเรื่อง แม้แต่เรื่องการขอกำหนดตำแหน่งวิชาการที่มีข้อผิดพลาดและช่องโหว่ที่ต้องตามแก้ไขกันบ้าง แต่วงการนี้โดยส่วนมากก็จะประกอบไปด้วยคนที่มีความรู้ขั้นสูง ที่มีหน้าที่หลักในการสอน ทำงานวิจัย และบริการวิชาการให้กับสังคม ทำให้ประเทศชาติพัฒนาตามองค์ความรู้ที่แต่ละคนมี ในที่นี้ ไม่ได้หมายถึงคนเป็นอาจารย์ที่มีตำแหน่งใหญ่โตจะหมายถึงผู้วิเศษ หรือผู้มีอำนาจบารมีเกินใคร เพราะตำแหน่งทางวิชาการไม่ใช่ตำแหน่งบริหาร (หัวหน้าภาควิชา รองคณบดี คณบดี หรืออธิการบดี) แต่หมายถึงตำแหน่งที่ได้รับมาที่แสดงถึงคุณวุฒิทางด้านความรู้ที่พิสูจน์ว่ามีเพิ่มสูงขึ้น เชื่อถือได้มากขึ้น เพราะแต่ละตำแหน่งต้องผ่านการยื่นเสนอขอโดยใช้ผลงานทางด้านการสอน ผลงานวิจัย และผลงานการบริการรับใช้สังคม (แต่ในระยะหลังมักจะให้น้ำหนักไปที่ผลงานวิจัยตีพิมพ์ที่อยู่ในฐานข้อมูลระดับนานาชาติที่ต้องผ่านการกลั่นกรองงานว่ามีมาตรฐานและความถูกต้องจริงๆ)

การเป็นศาสตราจารย์เป็นเรื่องยากเย็นของคนในวงการวิชาการมาก เทียบแล้วก็คงจะน้องๆ การเป็นจอหงวนในประเทศจีนสมัยก่อนที่ปีหนึ่งๆ มีคนได้เป็นจอหงวนเพียงคนเดียว (ในบางตำราบอกว่าเปิดสอบสามปีครั้งอีกด้วย) อาจารย์ในมหาวิทยาลัยในสมัยนี้โดยมากจะได้วุฒิการศึกษาในระดับปริญญาเอก ซึ่งก็ยากเย็นแสนเข็ญในระดับหนึ่งแล้ว เพราะจะต้องเรียนจบปริญญาโทอย่างน้อย 2 ปี และเรียนจบปริญญาเอกอีกอย่างน้อย 4-5 ปี (บางคนเรียน 8-9 ปี) จบปริญญาเอกแล้วก็จะมีชื่อนำหน้าเท่ๆ ว่า “ด๊อกเตอร์” เพราะเรียนมายากเย็นแสนเข็ญ แต่พอมาเป็นอาจารย์มหาวิทยาลัยในระบบไทย จะมีตำแหน่งแรกเริ่มเพียงแค่ “อาจารย์ ดร.” เท่านั้น (ใครอยู่ในช่วงวัยนี้จะรู้ดีว่าเราช่างเด็กเล็กเหลือเกินในวงการนี้ หนทางช่างยาวไกล!) แม้ตอนจบด๊อกเตอร์ใหม่ๆ จะยืดเต็มที่ให้ป้าข้างบ้านหรือคนอื่นดูก็ตาม

close-up-graduation-diploma-min

หลังจากเป็น “อาจารย์ ด๊อกเตอร์” แทบทุกคนก็อยากพยายามขอตำแหน่ง “ผู้ช่วยศาสตราจารย์” ที่เป็นตำแหน่งทางวิชาการขั้นแรกเท่านั้น ต้องผลิตผลงานวิจัย หนังสือ ตำรา และยื่นขอแสนลำบาก ชีวิตการทำงานสอนประจำและชีวิตครอบครัวที่ต้องดูแลและบาลานซ์ให้ได้ก็จะอยู่ในวัยนี้ บางคนกว่าจะได้เป็นผู้ช่วยศาสตราจารย์ก็อายุมากแล้ว พอแล้ว เหนื่อยแล้ว ไม่ขอเอื้อมไปถึงตำแหน่ง “รองศาสตราจารย์” ที่เป็นขั้นต่อไป โดยเฉพาะด๊อกเตอร์ผู้หญิงที่มีภาระแต่งงาน เลี้ยงดูลูก ดูแลบ้าน และดูแลพ่อแม่ไปด้วย ยังไม่นับรวมคนที่ขอตำแหน่งแล้วหลายครั้งก็ยังไม่ได้เพราะผลงานยังไม่ผ่านหรือไม่เข้าเป้า

คุณหมอเกศกมลผ่านขั้นตอนการเป็นด๊อกเตอร์และ ผู้ช่วยศาสตารจารย์ง่ายๆ ก็ไม่ต่างอะไรกับการทำร้ายความฝันของใครหลายคนที่ชีวิตนี้อยากเป็นด๊อกเตอร์ หรือผู้ช่วยศาสตราจารย์กับเค้าบ้าง คงเหมือนกับนางงามตกรอบที่มองดูคนขี้เหร่(มาก)มงลงชนะการประกวด!…..ช้ำใจ และสงสัยในระบบการตัดสิน ….เสียหายมากๆ !!!

  • เฉลยแล้ว! รองเท้าแตะติดแกลม คู่ละ 4 หมื่น ที่แท้แค่เรื่องเข้าใจผิด
  • ห้ะ!? ลูกค้าโวย เจอบิลเก็บค่าแอร์เพิ่ม 20 บาท โดนทัวร์ลงยับดีกว่าไม่แจ้ง
  • เปิดภาพโพสต์สุดท้าย แม่ลูกอ่อนวัย 3 เดือน โดนหนุ่มเมายาจับขาฟาดพื้น!

ตำแหน่งต่อไปก็คือ “รองศาสตราจารย์” ที่การได้มาก็โหดหินมาก โดยเฉพาะอาจารย์ที่จบปริญญาเอกในไทย เนื่องจากต้องมีผลงานวิจัยตีพิมพ์ในระดับนานาชาติต้องเข้มข้นขึ้น คุณภาพดีขึ้น และจำนวนมากขึ้น จนไปถึงตำแหน่ง “ศาสตราจารย์” หรือจอหงวน ที่เป็นจุดสูงสุดของอาชีพในวงวิชาการ ที่หมายถึง บุคคลนั้นมีความรู้ในสาขาวิชานั้นๆ และได้พิสูจน์ให้ชาวโลกได้เห็นว่าเรามีคุณวุฒิเทียบเท่ากับเขาที่จะเป็นผู้รู้ที่ต้องผ่านการทำงานวิจัยและสะสมองค์ความรู้ที่ดีพอ ไม่รวมกับระบบระเบียบ และโครงสร้างการทำงานในมหาวิทยาลัยไทยที่ยังไม่เอื้อต่อการผลิตผลงานวิชาการเพราะงานสอนและการบริการวิชาการมีมากมาย อาจารย์หลายคนยังต้องทำงานหลายงานเพื่อหารายได้เสริมเพราะภาระครอบครัวที่มากขึ้น ทั้งนี้ เพราะเงินเดือนอาชีพอาจารย์ในมหาวิทยาลัย(ในไทย)ไม่ได้มากเลย

ในประเทศไทยการมีตำแหน่ง “ศาสตราจารย์” จึงเป็นเกียรติยศขั้นสูงต่อตนเองและครอบครัวเพราะได้มาอย่างยากเย็น ต้องผ่านตำแหน่งผู้ช่วยศาสตราจารย์และรองศาสตราจารย์ และผ่านการตรวจสอบคุณสมบัติอย่างละเอียดยิบย่อย ผ่านการสอน การวิจัย (และการใช้ภาษาอังกฤษในกระบวนการขั้นตอนต่างๆที่อธิบายไปอย่างโชกโชน) และการบริการวิชาการเพื่อสังคม ก่อนที่จะได้รับการโปรดเกล้าฯ ตำแหน่ง “ศาสตราจารย์” จากพระมหากษัตริย์ (ทำให้เป็นตำแหน่งเดียวที่สามารถใช้ตำแหน่งคำนำหน้าชื่อตำแหน่ง “ศาสตราจารย์” ได้ในหนังสือราชการเช่นเดียวกับยศตำแหน่งของทหารและตำรวจ)

แน่นอนว่าใครมาเคลมตำแหน่งนี้ง่ายๆ แม้จะเคลมว่าได้มาจากต่างประเทศ ก็คงจะต้องเป็นการไม่เป็นธรรมต่อทุกคนที่เกี่ยวข้องกับระบบการขอตำแหน่งทางวิชาการของไทยโดยเฉพาะตำเหน่ง “ศาสตราจารย์ ดร.” ของคุณหมอเกศกมล ที่นำมาใช้เป็นคุณสมบัติในการลงสมัครรับการคัดเลือกเป็นสมาชิกวุฒิสภา…ในประเทศไทย!

เสียหาย น่าโมโห และไม่เป็นธรรมกับทุกคนในกระบวนการขอตำแหน่งวิชาการ และแน่นอนว่า ผู้เสียหายมีมากมาย!!!

นอกจากนี้ หากหมอเกศกมลนำคุณวุฒิต่างๆ นี้มาสมัครเป็นอาจารย์ในมหาวิทยาลัยในไทย ผู้เขียนมั่นใจว่า มหาวิทยาลัยที่มีมาตรฐานดีๆ คงจะไม่แม้จะรับเข้าเป็น “อาจารย์ ดร.” ในตำแหน่งแรกของการเป็นอาจารย์ แต่ตำแหน่งของคุณหมอกลับผ่านกระบวนการของการคัดเลือกผู้สมัครเข้าเป็นสมาชิกวุฒิสภา ที่เป็นตำแหน่งสำคัญในการบริหารประเทศในระดับสูง

ในชีวิตการทำงานของผู้เขียนเอง แม้แต่การขอตำแหน่งวิชาการยังมีการให้ลงนามว่าข้อมูลต่างๆ ที่เราให้ในใบสมัครต่างๆ เป็นความจริงทุกประการ ทำให้มีความมั่นใจว่าการสมัครสมาชิกวุฒิสภาจะต้องให้ความสำคัญกับเรื่องนี้ และสามารถเอาผิดกับผู้ที่ให้ข้อมูลเท็จได้…. ข้อมูลที่ผู้สมัครไม่ได้มีความรู้จริง ไม่ได้จบปริญญาเอกจริง และไม่ได้มีการร่ำเรียนจากสถาบันการศึกษาที่มีคุณภาพตามที่ได้มีการรับรองโดยกระทรวง อว. จริงๆ

หากคุณหมอและคนรอบข้างที่ปกป้องและสนับสนุนยังคงยืนยันว่าไม่มีความผิดใดๆ ก็จะเกิดผู้เสียหายอีกกลุ่มใหญ่ นั่นก็คือ เด็กเล็ก นักเรียน นิสิต/นักศึกษา ในประเทศที่คงจะขาดความเชื่อมั่นในระบบการศึกษาไทย และความมีศีลธรรมและจรรยาบรรณของผู้ใหญ่ในบ้านเมือง เพราะใครๆ ก็เป็นศาสตราจารย์ ดร. ได้ โดยหากสนับสนุนคุณหมอก็ไม่ต่างอะไรไปจากการสนับสนุนค่านิยม “ระบบจ่ายครบจบแน่” ในระบบการศึกษาขั้นสูงของไทย

ในส่วนของสังคม ผู้เสียหายอีกกลุ่มก็คือผู้ลงสมัครแข่งขันเป็นสมาชิกวุฒิสภากับคุณหมอ เพราะไปแพ้คุณหมอที่มีคุณวุฒิที่ไม่ผ่านการตรวจสอบอย่างเข้มข้น แม้แต่ท่านสมาชิกวุฒิสภาที่เข้าไปอยู่ในสภาอันทรงเกียรติด้วยกันก็คงจะรู้สึกเสียหายเช่นกัน อย่าลืมว่าท่านยังแพ้คุณหมอเกศกมลเพราะคนที่มีคำนำหน้าชื่อ “ศาสตราจารย์ ดร. พญ.” ได้รับคะแนนโหวตสูงสุดในการเลือกตั้งครั้งนี้จากคนไทยด้วยกันเอง

ประชาชนทั่วไปที่เสพสื่อหรือเสพข้อมูลเกี่ยวกับเรื่องนี้มาหลายสัปดาห์ ก็คงจะรู้อยู่เต็มอกว่าฝ่ายคุณหมอยกคำตอบ คำแถลงการณ์ และข้อกฎหมายมาแย้งและโต้ตอบแบบข้างๆคูๆ ว่าไม่มีผู้เสียหาย และกำลังจับตาดูว่าเรื่องนี้จะจบลงอย่างไร คุณหมอจะได้เป็นสมาชิกวุฒิสภาจริงๆ หรือไม่ สังคมจะหมดศรัทธากับระบบและกระบวนการประชาธิปไตยของไทยไปถึงระดับไหน…. เสียหายแน่นอน!

และสุดท้าย หากคุณหมอได้รับใช้ประเทศโดยเป็นสมาชิกวุฒิสภาจริงๆ ตลอด 5 ปีของการทำงานของคุณหมอก็จะเป็นที่จับตาของสังคม ผู้ที่เกี่ยวข้องและออกมาปกป้องคุณหมอก็จะถูกตรวจสอบโดยละเอียดถึงอดีตและคุณวุฒิที่กล่าวอ้าง ผู้ที่มีวุฒิการศึกษาสูงๆ ที่อยู่ในตำแหน่งใหญ่โตในบ้านเมืองเราที่ได้รับวุฒิการศึกษาแบบเป็นที่น่าสงสัยเช่นเดียวกันก็จะถูกตรวจสอบที่มาที่ไป และอาจเป็นประเด็นใหญ่โตบานปลายของหลายๆ ท่าน….

สุดท้ายคุณหมอเกศกมลนั่นแหละที่จะเป็นผู้เสียหาย!

ณ ตอนนี้ การออกมายอมรับ การแสดงความบริสุทธิ์ใจ และการแสดงข้อมูลที่ถูกต้องเป็นทางออกที่ดีที่สุด เพราะผู้เสียหายมีอยู่มากมาย ทั้งในระบบวิชาการที่เกียรติและศักดิ์ศรีได้มาเพราะความเก่งและความเพียร และในสังคมที่จับตามอง เพราะคนที่จะได้ตำแหน่ง “ศาสตราจารย์ ดร.” ต้องได้เพราะคู่ควร มิใช่ได้ด้วยความอยากมีอยากเป็น และหากมีตำแหน่ง “ศาสตราจารย์” และก็ควรที่จะต้องทำตัวให้เป็นแบบอย่างและแรงบันดาลใจที่ดีให้กับอาจารย์รุ่นน้องๆต่อไป

อย่าลืมว่า “ตำแหน่งอยู่ไม่นาน แต่ตำนานจะอยู่ตลอดไป”

ด้วยความปรารถนาดี

ศาสตราจารย์ ดร. ปังปอนด์

(”ของแทร่“ ผู้ไม่อยากให้เรื่องนี้จบเพราะข่าวปลาหมอคางดำหรือเพราะไม่มีผู้เสียหาย)

แท็กที่เกี่ยวข้อง

เรื่องอื่นที่น่าสนใจ