อ.ธนิสร์ ศรีกลิ่นดี ต่อยอดเสียงขลุ่ยให้เยาวชน หวังสร้างความสัมพันธ์คนในชาติ

Home » อ.ธนิสร์ ศรีกลิ่นดี ต่อยอดเสียงขลุ่ยให้เยาวชน หวังสร้างความสัมพันธ์คนในชาติ


อ.ธนิสร์ ศรีกลิ่นดี ต่อยอดเสียงขลุ่ยให้เยาวชน หวังสร้างความสัมพันธ์คนในชาติ

อ.ธนิสร์ ศรีกลิ่นดี ศิลปินแห่งชาติ จัดโครงการ ขลุ่ยสร้างความสัมพันธ์ของคนในชาติ ครั้งที่1 ต่อ ยอดดนตรีไทยด้วยเสียงขลุ่ยให้เยาวชน หวังสร้างความสัมพันธ์คนในชาติ

เมื่อวันที่ 3 ธ.ค. 2564 ที่หอประชุมเล็ก ศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย อ.ธนิสร์ ศรีกลิ่นดี ศิลปินแห่งชาติ ปี 2559 สาขา ศิลปะการแสดง (ดนตรีไทยสากล) จัดงานแถลงข่าว “โครงการขลุ่ยสร้างความสัมพันธ์ของคนในชาติ ครั้งที่1” พร้อมร่วมบรรเลงขลุ่ยกับนักเรียนกว่า 50 คน จากหลายโรงเรียนทั้งในกรุงเทพฯ และต่างจังหวัด ซึ่งเพลงที่นำมาบรรเลงร่วมกันเป็นวงขลุ่ย อาทิ เพลงสรรเสริญพระบารมี เพลงพระราชนิพนธ์ “ชะตาชีวิต” รวมทั้งเพลงที่ อ.ธนิสร์ แต่งขึ้นเอง “นกระเต็นเริงระบำ” ปิดท้ายด้วยเพลง “เดือนเพ็ญ” ซึ่งจะจัดการแสดงในรูปแบบมหกรรมดนตรี กับนักเรียน 1,000 คน ในวันที่ 28 ธันวาคม 2564 ณ มหาวิทยาลัยราชภัฏเพชรบูรณ์

โดย อ.ธนิสร์ กล่าวว่า “โครงการนี้เกิดขึ้นด้วยความรักให้เยาวชนได้สืบสานดนตรีไทยเสียงขลุ่ยต่อไปจากรุ่นสู่รุ่น ยุคนี้เป็นยุคโซเชี่ยลมีเดียโลกใบเดียวกัน จะทำอย่างไรให้วัฒนธรรมของบ้านเราออกมาโชว์ให้โลกได้เห็นว่านี่คือโอกาสของความเป็นไทยที่งดงามผ่านเสียงขลุ่ย ต้องขอบคุณกรมส่งเสริมวัฒนธรรม กระทรวงวัฒนธรรม การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย ที่เห็นค่าและเข้าใจสนับสนุนในครั้งนี้ แล้วโครงการนี้เกิดขึ้นเพราะต้องการให้เด็กๆ ได้ซึมซับความรู้สึกดีๆ ว่าบ้านเรามีสิ่งที่งดงาม โดยเฉพาะสถาบันหลัก ชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ แล้วศิลปะคือวิชาชีวิตปลูกฝังให้เด็กๆ มีความรู้สึกดีๆ ออกไปเป็นเยาวชนของชาติ ประชาชนของชาติที่มีคุณภาพ แล้วมีความดีงามติดตัวไปครับ”

“และหัวใจสำคัญวัตถุประสงค์โครงการนี้ คือทำอย่างไรให้คนในชาติรักและสามัคคี ผมเป็นศิลปินเป็นนักขลุ่ย ผมพยายามเอาเสียงขลุ่ยผูกสัมพันธ์ร้อยหัวใจทุกดวงเข้าด้วยกัน อย่างเพลงที่นำเสนอไปทุกเพลง จะรู้เลยว่าผมเน้นให้เยาวชนของชาติ โดยเฉพาะเด็กๆ ให้รู้จักว่าบ้านเมืองของเราพระมหากษัตริย์มีคุณงามความดีต่อแผ่นดินของเรา”

“การสื่อสารของผมผ่านเสียงดนตรีผูกสามัคคีรักใคร่กลมเกลียวกัน ที่บนเวทีจะเห็นเด็กๆ มาจากหลากหลายจังหวัด ขลุ่ยเล่นง่าย แต่เราต้องรู้จักว่า จะทำยังไงให้เขามีโอกาสได้เล่นร่วมกัน วันนี้ได้เห็นแล้วว่าร่วมกันเล่นมันเป็นยังไง เสียงทุกเสียงที่เล่นพร้อมกันสร้างความสามัคคี ใจส่งใจ มาจากคนละโรงเรียนแต่ทุกคนสามารถอยู่ร่วมกันทำงานร่วมกันได้ ในวันงานจะมีเด็กๆ กว่าพันคน ร่วมบรรเลงเพลงพระราชนิพนธ์ ชะตาชีวิต ลมหนาว ใกล้รุ่ง ความฝันอันสูงสุด โดยเฉพาะเพลงสำคัญ บ้านเกิดเมืองนอน ทุกคนจะร่วมร้องกันหมด”

รู้สึกอย่างไรบ้างได้เห็นศักยภาพของเยาวชนไทย? “ผมมองเด็กๆ เราสอนแล้วมีความสุข ทำด้วยความตั้งใจให้เยาวชนสืบสานดนตรีไทยด้วยเสียงขลุ่ย ผมมีความสุขมากเห็นเขามาตั้งแต่ตัวเล็กๆ แล้วพัฒนาจนเขาทำได้ขนาดนี้ เราต้องต่อยอดให้เด็กรุ่นใหม่ เราจะทำยังไงให้เขาซึมซับตรงนี้สำคัญ ใช้เสียงเพลงเสียงขลุ่ยเป็นสื่อให้เขาซึมซับและเติบโตอยู่ในหัวใจของเขา”

วันนั้นจะได้เห็นวงซิมโฟนีขลุ่ย เราไม่ได้เล่นแบบเดิม เราเล่นร่วมสมัย เล่นภาษาสากล เป็นสัญลักษณ์ว่าคือนักขลุ่ยของไทย นักขลุ่ยไทยมีความสามารถ เราสามารถทำขึ้นมาได้ สร้างเด็กขึ้นมาได้ แต่ต้องทำให้หัวใจของคนในชาติผูกสัมพันธ์สามัคคีกันมันถึงจะมีพลังออกไปเราต้องเห็นค่าในตัวเราก่อน ดนตรีสร้างความสัมพันธ์ในชาติได้พราะดนตรีไม่ได้แบ่งแยกอะไรทั้งสิ้น เข้าไปในโสตประสาทของทุกคนแล้วเอาความงามใส่ไปในทุกคน ผมตั้งใจทำไปเรื่อยๆ ทุกจังหวัดทุกภาค จากเพชรบูรณ์ แล้วครั้งที่2 จะไปภาคใต้ ไปภาคเหนือ แล้วไปอีสาน ภาคตะวันออก

ฝากติดตามงานที่จะเกิดขึ้นในวันที่ 28 ธ.ค. 2564 ที่มหาวิทยาลัยราชภัฏเพชรบูรณ์ การแสดงงานขลุ่ยสร้างความสัมพันธ์ของคนในชาติครั้งที่ 1 ในงานจะมีนักขลุ่ยจำนวนมาก ให้เห็นว่าวงขลุ่ยของเราเกิดขึ้นแล้วครับ”

แท็กที่เกี่ยวข้อง

เรื่องอื่นที่น่าสนใจ