อ.จุฬาฯ โต้ ‘อภิสิทธิ์’ ปมเงื่อนไขรัฐประหาร ชี้ไม่ใช่ข้ออ้างทำผิดกฎหมาย ยันถ้าอนุญาตเช่นนั้นย่อมเป็นการอนุญาตให้เข้าทำลายหลักนิติธรรม
วันที่ 3 พ.ค.65 ผศ.ดร.พรสันต์ เลี้ยงบุญเลิศชัย อาจารย์คณะนิติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย แสดงความคิดเห็น กรณี นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ อดีตนายกรัฐมนตรี ให้สัมภาษณ์ ตอนหนึ่งถึงพรรคเพื่อไทย ว่าไม่สามารถก้าวพ้นตระกูลชินวัตร ความว่า เรื่องระหว่างพรรคการเมืองนั้น ผมคงไม่ไปพูดถึง แต่ประเด็นสำคัญที่ทำให้ต้องอธิบายเพื่อให้ประชาชนได้เข้าใจอย่างถูกต้องนั้น คือ ประเด็นที่อดีตนายกฯ คุณอภิสิทธิ์กล่าวถึง “เงื่อนไขในการทำรัฐประหาร” ซึ่งเป็นประเด็นที่สำคัญอย่างมากในทางวิชาการด้านกฎหมายมหาชนและรัฐธรรมนูญ
คุณอภิสิทธิ์กล่าวทำนองว่าพฤติกรรมบางอย่างที่ฝืนหลักธรรมาภิบาลบ้าง กฎหมายบ้าง เอื้อประโยชน์พวกพ้องบ้าง จะเป็นเงื่อนไขนำไปสู่การทำรัฐประหารได้ ด้วยความเคารพ คำกล่าวเช่นนี้ขัดแย้งต่อหลักการ ผมไม่อาจเห็นพ้องด้วย
จริงอยู่ว่าการกระทำที่คุณอภิสิทธิ์พูดมาทั้งหมดนั้นเป็นสิ่งที่ไม่ถูกต้องตามหลักการและกฎหมายและผมเองก็ไม่เห็นด้วย แต่ในรัฐเสรีประชาธิปไตยภายใต้การปกครองที่มีรัฐธรรมนูญเป็นกฎหมายสูงสุด ก็ “ย่อมไม่ใช่ข้ออ้างในการกระทำผิดกฎหมายเสียเอง” ด้วยการกระทำรัฐประหารฉีกรัฐธรรมนูญละเมิดต่อตัวบทกฎหมายต่างๆ
หากคุณอภิสิทธิ์สนับสนุนระบอบเสรีประชาธิปไตยและไม่เห็นด้วยกับการทำรัฐประหารจริงอาจต้องเข้าใจและพึงตระหนักอย่างยิ่งว่า ในรัฐเสรีประชาธิปไตยนั้น หลักนิติธรรม (Rule of Law) ถือเป็นหลักการที่คอยประคับประคองค้ำจุนให้ระบอบประชาธิปไตยดำรงคงอยู่ได้ โดย “หัวใจของหลักนิติธรรม” นั้นคือ “การให้ความสำคัญในเป้าหมายและวิธีการที่นำไปสู่เป้าหมายควบคู่กันไป” (The End cannot justify the means)
นั่นหมายถึง แม้จะปรากฏการกระทำที่ขัดต่อตัวบทกฎหมาย ไม่ถูกต้องกับหลักการก็ตามที แต่การเข้าไปแก้ไขปัญหาดังกล่าวก็ต้องเป็นวิธีการตามครรลองของกฎหมายและวิถีทางตามระบอบประชาธิปไตยด้วย หาใช่จะใช้วิธีการใดๆ ก็ได้ตามอำเภอใจเพียงแค่อ้างว่าตนเองเจตนาดีดังเช่นผู้ทำรัฐประหารที่กล่าวอ้างเพื่อสร้างความชอบธรรมให้กับตนเองอยู่เสมอในทุกๆ ครั้ง
ดังนั้น อาจกล่าวแบบสรุปสั้นๆ ได้ว่า ในรัฐเสรีประชาธิปไตยนั้น “ไม่มีข้ออ้าง หรือเงื่อนไขใดๆ สำหรับการกระทำที่ผิดกฎหมายอย่างการทำรัฐประหารครับ” เพราะหากเราอนุญาตเช่นนั้นย่อมเป็นการอนุญาตให้เข้าทำลายหลักนิติธรรมที่ถือหลักการปกครองด้วยตัวบทกฎหมายให้สูญสิ้นไปเสียเอง อันเป็นการบ่อนทำลายระบอบประชาธิปไตยให้ต้องสูญสลายลงไปพร้อมกันด้วย
อนึ่ง เรื่องระบบของการตรวจสอบถ่วงดุลเพื่อการรับผิดชอบทางด้านการเมืองและกฎหมายในประเทศไทย ณ ปัจจุบันที่คุณอภิสิทธิ์กล่าวถึงนั้นก็มีปัญหาอย่างมาก
ทั้งนี้มีสาเหตุหลักมาจากระบอบรัฐธรรมนูญปัจจุบัน (และที่ผ่านมา) ที่มีการร่าง หรือออกแบบมาอย่างไม่ถูกต้องตามหลักการที่ควรจะเป็น ซึ่งเรื่องนี้คงต้องอธิบายกันยาวครับ