นครราชสีมา อุตุนิยมอีสาน พยากรณ์ ช่วง 7 วัน มีโอกาสเกิดพายุฝน ทำให้ 4 อ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่เร่งระบายน้ำออก เปิดพื้นที่ไว้รองรับมวลน้ำใหม่ มั่นใจบริหารจัดการน้ำเหมาะสม รัดกุม เพียงพอ
4 มิถุนายน 2565 – อุตุนิยมวิทยา พยากรณ์อากาศ 24 ชั่วโมง ประเทศไทย จะมีมรสุมตะวันตกเฉียงใต้กำลังปานกลาง พัดปกคลุม ทะเลอันดามันและอ่าวไทย กับมีหย่อมความกดอากาศต่ำปกคลุมบริเวณประเทศเวียดนามตอนบนและประเทศจีนตอนใต้
ทำให้ประเทศไทยยังคงมีฝนฟ้าคะนองเกิดขึ้น โดยมีฝนตกหนักบางแห่ง บริเวณภาคอีสาน ภาคตะวันออก และภาคใต้ฝั่งตะวันตก
ส่วนช่วงระหว่างวันที่ 5-6 มิถุนายน 2565 บริเวณภาคอีสาน ภาคตะวันออก และภาคใต้ฝั่งตะวันตก จะยังคงมีฝนฟ้าคะนองเกิดขึ้น และมีฝนตกหนักบางแห่ง และช่วงวันที่ 7-10 มิถุนายน 2565 หย่อมความกดอากาศต่ำยังปกคลุมบริเวณภาคเหนือ ภาคอีสานตอนบน ประกอบกับมรสุมตะวันตกเฉียงใต้ กำลังปานกลางยังคงพัดปกคลุมอยู่ ทำให้ภาคเหนือและภาคอีสานตอนบนมีฝนเพิ่มขึ้น และมีฝนตกหนักบางแห่ง
ขณะที่ศูนย์อุตุนิยมวิทยาภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนล่าง พยากรณ์ว่า ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ตอนล่าง จะมีฝนฟ้าคะนอง 60% ของพื้นที่ โดยจังหวัดนครราชสีมา จะมีเมฆมาก ส่วนช่วง 7 วันจากนี้มีโอกาสเกิดพายุฝนในตอนกลางวันได้
อ่างเก็บน้ำต่างๆ ในพื้นที่จังหวัดโคราช จึงต้องพร่องระบายน้ำออกจากอ่างฯ ไว้ล่วงหน้า เพื่อเตรียมไว้รองรับมวลน้ำใหม่ที่จะไหลลงอ่างฯ ซึ่ง 4 อ่างเก็บขนาดใหญ่ ได้แก่ อ่างเก็บน้ำลำตะคอง อ.สีคิ้ว ได้ระบายน้ำออกจากอ่างฯ ในอัตรา 8 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที หรือ 691,200 ลูกบาศก์เมตรต่อวันละ
ทำให้ขณะนี้ อ่างฯลำตะคอง มีปริมาณน้ำเก็บกักอยู่ที่ 192.89 ล้านลูกบาศก์เมตร หรือ 61.34 % เป็นน้ำใช้การได้ 170.17 ล้านลูกบาศก์เมตร หรือ 58.32 %
ส่วนอ่างเก็บน้ำลำพระเพลิง อ.ปักธงชัย มีปริมาณน้ำเก็บกักอยู่ที่ 99.17 ล้านลูกบาศก์เมตร หรือ 63.98 % เป็นน้ำใช้การได้ 98.45 ล้านลูกบาศก์เมตร หรือ 63.82 %
อ่างเก็บน้ำมูลบน อ.ครบุรี มีปริมาณน้ำเก็บกักอยู่ที่ 88.94 ล้านลูกบาศก์เมตร หรือ 63.08 % เป็นน้ำใช้การได้ 81.94 ล้านลูกบาศก์เมตร หรือ 61.15 %
และอ่างเก็บน้ำลำแชะ อ.ครบุรี มีปริมาณน้ำเก็บกักอยู่ที่ 177.79 ล้านลูกบาศก์เมตร หรือ 64.65 % เป็นน้ำใช้การได้ 170.79 ล้านลูกบาศก์เมตร หรือ 63.73 %
รวม 4 อ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ มีปริมาณน้ำเก็บกักคงเหลืออยู่ที่ 558.81 ล้านลูกบาศก์เมตร หรือ 63.11 % เป็นน้ำใช้การได้ 521.37 ล้านลูกบาศก์เมตร หรือ 61.48 %
อย่างไรก็ตาม แต่ละอ่างฯ จะดำเนินแผนจัดสรรน้ำให้เกษตรกรทำนาปีในช่วงต้นเดือนมิถุนายน 2565 และบริหารจัดการน้ำในช่วงฤดูฝนนี้อย่างเหมาะสมและรัดกุม เพื่อส่งน้ำสนับสนุนการอุปโภคบริโภคและการเกษตรได้อย่างเพียงพอ
รวมทั้ง ต้องบริหารจัดการน้ำช่วงฤดูฝนให้เป็นไปตามเกณฑ์ควบคุมปริมาณน้ำในอ่างฯ และต้องสอดรับกับ 13 มาตรการรับมือฤดูฝน ปี 2565 ตามมติคณะรัฐมนตรี ที่เน้นเพิ่มประสิทธิภาพการจัดการน้ำในฤดูฝนปี 65 กับการกักเก็บน้ำเพื่อฤดูแล้งปี 65 – 66