‘อุลตร้าแมน’ มาแล้ว! รฟท.จ่อเปิดหวูดหัวรถจักรดีเซลไฟฟ้า 20 คันแรก เดือน ต.ค.นี้

Home » ‘อุลตร้าแมน’ มาแล้ว! รฟท.จ่อเปิดหวูดหัวรถจักรดีเซลไฟฟ้า 20 คันแรก เดือน ต.ค.นี้



รฟท. จ่อเปิดหวูดหัวรถจักรดีเซลไฟฟ้า ‘อุลตร้าแมน’ 20 คันแรก วิ่งเข้าสถานีกลางบางซื่อ ภายใน ต.ค.นี้ มั่นใจผู้โดยสารกลับมาใช้บริการรถไฟมากขึ้น

วันที่ 12 ก.ย.2565 นายนิรุฒ มณีพันธ์ ผู้ว่าการการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) เปิดเผยว่า ตามที่การรถไฟฯ มีการจัดหาและรับมอบรถจักรดีเซลไฟฟ้า รุ่นใหม่ หรือหัวรถจักรอุลตร้าแมน มีน้ำหนักกดเพลา 16 ตันต่อเพลา พร้อมอะไหล่ ระยะที่ 1 จำนวน 20 คัน จากกิจการร่วมค้า เอสเอฟอาร์ ได้ดำเนินขั้นตอนการตรวจรับ พร้อมทำการทดสอบไปแล้ว ส่วนระยะที่ 2 อีก 30 คันนั้น การรถไฟฯ เตรียมรับมอบเพิ่ม 15 คันในช่วงปลายปี 2565 และในช่วงต้นปี 2565 อีก 15 คัน

นายนิรุฒ กล่าวว่า สำหรับระยะที่ 1 จำนวน 20 คันนั้น ขณะนี้การรถไฟฯ อยู่ระหว่างการพิจารณาอนุมัติเพื่อนำไปให้บริการในการขนส่งสินค้า และเดินขบวนรถเชิงพาณิชย์ (รถทางไกล) รวมทั้งการฝึกอบรมพนักงานขับรถไฟกว่า 4,000 คน ซึ่งตอนนี้ฝึกอบรมไปแล้วกว่า 50%

นอกจากนี้จะต้องไปตรวจสอบสภาพแนวเส้นทาง และทำการทดลองวิ่งอีกครั้ง อาทิ ทดลองในเส้นทางผ่านผาเสด็จ เส้นทางผ่านอุโมงค์ช่องเขาไปยัง จ.นครศรีธรรมราช เป็นต้น เนื่องจากหัวรถจักร อุลตร้าแมน มีขนาดสูงกว่าหัวรถจักรที่ใช้อยู่ในปัจจุบัน โดยมีความสูง 4 เมตร จากหัวรถจักรปกติมีความสูง 3.8-3.9 เมตร

ทั้งนี้ หากทดลองและตรวจเช็กสภาพเส้นทางเป็นที่เรียบร้อยแล้ว คาดว่าจะนำมาให้บริการได้ภายในเดือนต.ค.นี้ โดยใช้ในขบวนรถด่วนพิเศษโดยวิ่งเข้าสถานีกลางบางซื่อ สอดคล้องกับนโยบายของกระทรวงคมนาคม หรือใช้ในการขนส่งสินค้าต่อไป

สำหรับเส้นทางที่หัวรถจักรอุลตร้าแมนสามารถวิ่งให้บริการได้ เช่น เส้นทางสายเหนือ เส้นทางภาคใต้ไปยัง จ.ตรัง เส้นทางสายตะวันออกเฉียงเหนือ (อีสาน) ไปยัง จ.หนองคาย เป็นต้น

นายนิรุฒ กล่าวอีกว่า ปัจจุบันการรถไฟฯ มีหัวรถจักร 212 คัน โดยใช้งานได้ประมาณ 70-80% จากจำนวนทั้งหมด หากรวมหัวรถจักรอุลตร้าแมนอีก 50 คัน จะทำให้ในอนาคต การรถไฟฯ จะมีหัวรถจักร 262 คัน ส่วนขบวนรถโดยสาร ปัจจุบันมี 700-800 คัน และขบวนรถไฟดีเซลรางอีก 200 กว่าคัน (ไม่รวม KIHA 183) ซึ่งปัจจุบันใช้งานจริงอยู่ที่ประมาณ 80%

นายนิรุฒ กล่าวอีกว่า ขณะที่จำนวนผู้โดยสารในปัจจุบันนั้น จากข้อมูล ต้นเดือนก.ย. 2565 พบว่า การรถไฟฯ ให้บริการขบวนรถเชิงพาณิชย์ใน 66 เส้นทาง จากทั้งหมด 84 เส้นทาง มีผู้โดยสารประมาณ 20,000 คนต่อวัน ซึ่งผู้โดยสารเริ่มกลับมาแล้ว 70% เมื่อเทียบกับช่วงก่อนเกิดโควิด-19 ที่มีผู้โดยสารอยู่ที่ 30,000 คนต่อวัน มีรายได้วันละ 6-7 ล้านบาท จากเดิมมีรายได้วันละ 10 ล้านบาท แต่เมื่อช่วงหยุดยาวเดือนส.ค.ที่ผ่านมา มีผู้โดยสารสูงถึง 28,000-29,000 คนต่อวัน

นายนิรุฒ กล่าวว่า ส่วนขบวนรถเชิงสังคมนั้น การรถไฟฯ ให้บริการ 144 เส้นทาง จากทั้งหมด 152 เส้นทาง ผู้โดยสารเริ่มกลับมาแล้ว 70% เช่นกัน โดยปัจจุบันมีผู้โดยสารอยู่ที่ 45,000 คนต่อวัน จากในช่วงก่อนเกิดโควิด-19 มีผู้โดยสารอยู่ที่ 68,000 คนต่อวัน เชื่อว่าผู้โดยสารเริ่มกลับมาใช้บริการรถไฟนั้น เนื่องจากนโยบายการเปิดประเทศของรัฐบาล ทำให้มีนักท่องเที่ยวเดินทางเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะนักท่องเที่ยวชาวยุโรป และอินเดีย และคาดว่า จะเพิ่มมากขึ้นอีกในอนาคต หากมีการเดินทางของนักท่องเที่ยวชาวจีน

แท็กที่เกี่ยวข้อง

เรื่องอื่นที่น่าสนใจ