รฟท. จ่อเปิดหวูดหัวรถจักรดีเซลไฟฟ้า ‘อุลตร้าแมน’ 20 คันแรก วิ่งเข้าสถานีกลางบางซื่อ ภายใน ต.ค.นี้ มั่นใจผู้โดยสารกลับมาใช้บริการรถไฟมากขึ้น
วันที่ 12 ก.ย.2565 นายนิรุฒ มณีพันธ์ ผู้ว่าการการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) เปิดเผยว่า ตามที่การรถไฟฯ มีการจัดหาและรับมอบรถจักรดีเซลไฟฟ้า รุ่นใหม่ หรือหัวรถจักรอุลตร้าแมน มีน้ำหนักกดเพลา 16 ตันต่อเพลา พร้อมอะไหล่ ระยะที่ 1 จำนวน 20 คัน จากกิจการร่วมค้า เอสเอฟอาร์ ได้ดำเนินขั้นตอนการตรวจรับ พร้อมทำการทดสอบไปแล้ว ส่วนระยะที่ 2 อีก 30 คันนั้น การรถไฟฯ เตรียมรับมอบเพิ่ม 15 คันในช่วงปลายปี 2565 และในช่วงต้นปี 2565 อีก 15 คัน
นายนิรุฒ กล่าวว่า สำหรับระยะที่ 1 จำนวน 20 คันนั้น ขณะนี้การรถไฟฯ อยู่ระหว่างการพิจารณาอนุมัติเพื่อนำไปให้บริการในการขนส่งสินค้า และเดินขบวนรถเชิงพาณิชย์ (รถทางไกล) รวมทั้งการฝึกอบรมพนักงานขับรถไฟกว่า 4,000 คน ซึ่งตอนนี้ฝึกอบรมไปแล้วกว่า 50%
นอกจากนี้จะต้องไปตรวจสอบสภาพแนวเส้นทาง และทำการทดลองวิ่งอีกครั้ง อาทิ ทดลองในเส้นทางผ่านผาเสด็จ เส้นทางผ่านอุโมงค์ช่องเขาไปยัง จ.นครศรีธรรมราช เป็นต้น เนื่องจากหัวรถจักร อุลตร้าแมน มีขนาดสูงกว่าหัวรถจักรที่ใช้อยู่ในปัจจุบัน โดยมีความสูง 4 เมตร จากหัวรถจักรปกติมีความสูง 3.8-3.9 เมตร
ทั้งนี้ หากทดลองและตรวจเช็กสภาพเส้นทางเป็นที่เรียบร้อยแล้ว คาดว่าจะนำมาให้บริการได้ภายในเดือนต.ค.นี้ โดยใช้ในขบวนรถด่วนพิเศษโดยวิ่งเข้าสถานีกลางบางซื่อ สอดคล้องกับนโยบายของกระทรวงคมนาคม หรือใช้ในการขนส่งสินค้าต่อไป
สำหรับเส้นทางที่หัวรถจักรอุลตร้าแมนสามารถวิ่งให้บริการได้ เช่น เส้นทางสายเหนือ เส้นทางภาคใต้ไปยัง จ.ตรัง เส้นทางสายตะวันออกเฉียงเหนือ (อีสาน) ไปยัง จ.หนองคาย เป็นต้น
นายนิรุฒ กล่าวอีกว่า ปัจจุบันการรถไฟฯ มีหัวรถจักร 212 คัน โดยใช้งานได้ประมาณ 70-80% จากจำนวนทั้งหมด หากรวมหัวรถจักรอุลตร้าแมนอีก 50 คัน จะทำให้ในอนาคต การรถไฟฯ จะมีหัวรถจักร 262 คัน ส่วนขบวนรถโดยสาร ปัจจุบันมี 700-800 คัน และขบวนรถไฟดีเซลรางอีก 200 กว่าคัน (ไม่รวม KIHA 183) ซึ่งปัจจุบันใช้งานจริงอยู่ที่ประมาณ 80%
นายนิรุฒ กล่าวอีกว่า ขณะที่จำนวนผู้โดยสารในปัจจุบันนั้น จากข้อมูล ต้นเดือนก.ย. 2565 พบว่า การรถไฟฯ ให้บริการขบวนรถเชิงพาณิชย์ใน 66 เส้นทาง จากทั้งหมด 84 เส้นทาง มีผู้โดยสารประมาณ 20,000 คนต่อวัน ซึ่งผู้โดยสารเริ่มกลับมาแล้ว 70% เมื่อเทียบกับช่วงก่อนเกิดโควิด-19 ที่มีผู้โดยสารอยู่ที่ 30,000 คนต่อวัน มีรายได้วันละ 6-7 ล้านบาท จากเดิมมีรายได้วันละ 10 ล้านบาท แต่เมื่อช่วงหยุดยาวเดือนส.ค.ที่ผ่านมา มีผู้โดยสารสูงถึง 28,000-29,000 คนต่อวัน
นายนิรุฒ กล่าวว่า ส่วนขบวนรถเชิงสังคมนั้น การรถไฟฯ ให้บริการ 144 เส้นทาง จากทั้งหมด 152 เส้นทาง ผู้โดยสารเริ่มกลับมาแล้ว 70% เช่นกัน โดยปัจจุบันมีผู้โดยสารอยู่ที่ 45,000 คนต่อวัน จากในช่วงก่อนเกิดโควิด-19 มีผู้โดยสารอยู่ที่ 68,000 คนต่อวัน เชื่อว่าผู้โดยสารเริ่มกลับมาใช้บริการรถไฟนั้น เนื่องจากนโยบายการเปิดประเทศของรัฐบาล ทำให้มีนักท่องเที่ยวเดินทางเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะนักท่องเที่ยวชาวยุโรป และอินเดีย และคาดว่า จะเพิ่มมากขึ้นอีกในอนาคต หากมีการเดินทางของนักท่องเที่ยวชาวจีน