อุทาหรณ์! หญิงวัย 48 ปีมีอาการปวดคอเรื้อรัง ลองจัดกระดูกคอ ส่งผลกระดูกสันหลังหัก เลือดอุดตัน เสี่ยงอัมพาตทั้งตัว
เว็บไซต์ Neurology เผยผลวิจัยเกี่ยวกับการบาดเจ็บไขสันหลัง การผ่าหลอดเลือดแดงกระดูกสันหลังในวารสารทางประสาทวิทยา โดยอ้างอิงถึงหญิงอายุ 48 ปีที่มีอาการปวดคอเรื้อรัง มีประวัติอาการปวดคอเฉียบพลันและมีอาการอ่อนแรงทั้งร่างกาย หลังรับการรักษาด้วยการจัดกระดูกคอ ปรับลักษณะกระดูกภายในร่างกายให้อยู่ตำแหน่งที่เหมาะสมที่เรียกว่า ไคโรแพรคติก (Chiropractic manipulation)
ผลการตรวจ x-ray และ MRI ในการตรวจทางระบบประสาทพบ การบาดเจ็บของเส้นประสาทไขสันหลัง (spinal cord injury) ทำให้เกิดการอ่อนแรงแบบอัมพาตทั้งตัว (tetraplegia), กระดูกสันหลังส่วนคอแตกหักที่ส่งผลต่อกระดูก C5 และ C6, การอุดตันของหลอดเลือดแดงกระดูกสันหลังทวิภาคี, การตีบของเส้นเลือดที่ไปเลี้ยงสมองทั้งสองข้างเป็นเหตุให้สมองตายเฉียบพลัน (cerebellar infarction and bilateral cerebral occlusion), การปลิ้นของหมอนรองกระดูก, การฉีกขาดและเลือดออกของเยื่อหุ้มประสาท
ทั้งนี้ จากผลตรวจยังพบว่า ผู้ป่วยมีอาการของโรคข้อกระดูกสันหลังอักเสบชนิดติดยึด (Ankylosing Spondylitis – AS) ที่เกิดจากการอักเสบของกระดูกสันหลังเรื้อรังร่วมกับกระดูกเชิงกราน ข้อต่อก้นกบ และอาการนอกระบบข้อร่วมด้วย
โดยมักเกิดการอักเสบไปถึงบริเวณที่เป็นจุดเชื่อมของเส้นเอ็นกับกระดูกทำให้มีแคลเซียมสะสมบริเวณเอ็นรอบกระดูกสันหลัง และสะสมมากขึ้นเรื่อย ๆ จนทำให้กระดูกสันหลังแต่ละท่อนเชื่อมติดกัน และเสียแนวการวางตัวที่ปกติ
ซึ่งเป็นโรคที่พบได้น้อย หากปล่อยให้อาการทวีความรุนแรงขึ้น อาจเกิดภาวะแทรกซ้อนที่ทำให้ผู้ป่วยพิการได้ เพราะถือเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้กระดูกสันหลังแตกหักได้ง่าย อย่างไรก็ตาม ก่อนทำการจัดกระดูก ผู้ป้วยรายนี้ไม่มีการตรวจพบภาวะนี้ของผู้ป่วย
ทางด้านเพจ PT NOTE – บันทึกกายภาพบำบัด ออกมาเผยย้ำถึงวิจัยดังกล่าวว่าอันตรายร้ายแรงจากการจัดกระดูกคอ หลายครั้งคำถามที่ว่า การจัดกระดูก ควรทำหรือไม่? เป็นสิ่งที่ตอบได้ยาก เนื่องจากผลการรักษานั้นมีทั้งข้อดีและข้อเสีย อย่างไรก็ตามรายงานเคสของผู้ป่วยรายนี้ อาจบ่งชี้ถึงผลข้างเคียงรุนแรง ที่มีโอกาสเกิดขึ้นได้จากการจัดกระดูก
หากท่านจะเชื่อถืองานวิจัย และหลักฐานทางวิทยาศาสตร์ ในหลายไกด์ไลน์ที่แนะนำเรื่องการรักษาแบบอนุรักษ์ (conservative treatment) สำหรับผู้ป่วยที่มีอาการปวดทางระบบกระดูกกล้ามเนื้อเรื้อรัง
ท่านเชื่อหรือไม่ ว่าการออกกำลังกายหรือการบริหารต่าง ๆ นั้น ให้ผลลดอาการปวดได้ดีและคงอยู่ยาวนานกว่าหลายการรักษา ไม่ว่าจะเป็นการจัดกระดูก หรือเครื่องมือทางกายภาพบำบัด เพราะบางครั้ง การรักษาที่ง่ายและปลอดภัยก็เริ่มได้จากตัวเราเอง
ขอบคุณที่มาจาก Neurology , PT NOTE – บันทึกกายภาพบำบัด