อุทยานวิทย์ ม.มหาสารคาม หนุนชุมชนใช้เทคโนโลยีระบบน้ำสั่งผ่านมือถือ

Home » อุทยานวิทย์ ม.มหาสารคาม หนุนชุมชนใช้เทคโนโลยีระบบน้ำสั่งผ่านมือถือ


อุทยานวิทย์ ม.มหาสารคาม หนุนชุมชนใช้เทคโนโลยีระบบน้ำสั่งผ่านมือถือ

อุทยานวิทย์ ม.มหาสารคาม นำนวัตกรรมช่วยชุมชนถ่ายทอดเทคโนโลยีชุดต้นแบบระบบน้ำสั่งการผ่านสมาร์ทโฟน เพิ่มประสิทธิภาพการผลิตผักอินทรีย์เชิงการค้า

เมื่อวันที่ 27 พ.ค. รศ.(พิเศษ) ดร.ดวงฤทธิ์ เบ็ญจาธิกุล ชัยรุ่งเรือง เลขานุการ รมว.การอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม(อว.) ในฐานะโฆษก อว. เปิดเผยว่า อุทยานวิทยาศาสตร์ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ มหาวิทยาลัยมหาสารคาม ภายใต้กองส่งเสริมและประสานเพื่อประโยชน์ด้านวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม(กปว.) สำนักงานปลัด อว.ดำเนินโครงการสร้างกำลังคนและทักษะแห่งอนาคตในภูมิภาค เพื่อตอบโจทย์การพัฒนานวัตกรรมของประเทศและโครงการยกระดับคุณภาพชีวิตและเศรษฐกิจท้องถิ่นในภูมิภาคด้วยองค์ความรู้ภูมิปัญญาและนวัตกรรม

ซึ่งกำกับดูแลโดยสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม(สกสว.) ผ่านแผนงานการส่งเสริมการนำนวัตกรรมไปใช้ประโยชน์ในพื้นที่เพื่อพัฒนาสังคมและชุมชน โครงการการถ่ายทอดเทคโนโลยีชุดต้นแบบระบบน้ำสั่งการผ่านสมาร์ทโฟนเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตผักอินทรีย์เชิงการค้าเพื่อตามมาตรฐานเกษตรอินทรีย์ โดย ดร.ศุภชัย สุทธิเจริญ ภาควิชาเทคโนโลยีการเกษตร คณะเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยมหาสารคาม ให้กับกลุ่มวิสาหกิจชุมชนปลูกผักอินทรีย์บ้านหนองแปน บ้านหนองแปน ต.หนองจิก อ.บรบือ จ.มหาสารคาม

 

เลขานุการ รมว.อว.กล่าวว่า อุทยานฯ ได้ทำการลงพื้นที่ สำรวจเพื่อวิเคราะห์ปัญหาและความต้องการของผู้ประกอบการ ด้านปัญหาที่ต้องการปรับปรุงการให้บริการบริหารจัดการภายในฟาร์ม (IoT) การออกแบบระบบการจัดการภายในฟาร์ม เช่น ระบบการให้น้ำ ให้ปุ๋ย แบบฟอร์มบันทึกที่จำเป็นต่อระบบการผลิตผักอินทรีย์ แบบสมาร์ทฟาร์ม ตลอดจนเทคนิคและเทคโนโลยีการผลิตพืชอินทรีย์ให้ได้คุณภาพ การถ่ายทอดเทคโนโลยีชุดต้นแบบระบบน้ำสั่งการผ่านสมาร์ทโฟนเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตผักอินทรีย์ผ่าน “ชุดต้นแบบระบบน้ำสั่งการผ่านสมาร์ทโฟนเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตผักอินทรีย์เชิงการค้าเพื่อตามมาตรฐานเกษตรอินทรีย์” โดยมีเกษตรกรเข้าร่วมโครงการ จำนวน 15 คน ปรากฎว่า สามารถลดต้นทุนการผลิตด้านแรงงานและการบริหารจัดการภายในฟาร์ม ได้แก่ การลดการจ้างแรงงานรายวันโดยมีการนำระบบการบริหารจัดการแบบสมาร์ทฟาร์มเข้ามาควบคุมระบบการให้น้ำให้ปุ๋ย ผ่าน application ทางสมาร์ทโฟน ซึ่งทำให้ลดระยะเวลาในการดูแลรักษาตลอดอายุการเก็บเกี่ยวของผลผลิตในแต่ละรอบ

รศ.(พิเศษ) ดร.ดวงฤทธิ์ กล่าวอีกว่า ที่สำคัญ ยังลดผลกระทบทางสิ่งแวดล้อม เมื่อสามารถลดการใช้สารเคมีและสารกำจัดแมลงศัตรูพืช จึงทำให้ระบบนิเวศน์ไม่เกิดการปนเปื้อนสารเคมีลงสู่แหล่งน้ำและตกค้างในดิน มีความหลากหลายทางชีวภาพซึ่งทำให้สามารถวางแผนการผลิตให้สอดคล้องกับความต้องการของตลาดได้อย่างต่อเนื่องและควบคุมคุณภาพผลผลิตอย่างสม่ำเสมอ

“ผู้ประกอบการมีรายได้ที่เกิดขึ้นหลังจากการเข้าร่วมโครงการ โดยคิดเป็นร้อยละ 25 จากรายได้ก่อนเข้าร่วมโครงการ ซึ่งมีรายได้หลักจากการผลิตและจำหน่ายผักสลัดและต้นอ่อนทานตะวันงอกและจากนี้ จะมีการขยายผลในพื้นที่โดยพัฒนาเป็นแหล่งเรียนรู้ด้านการผลิตพืชผักตามมาตรฐานเกษตรอินทรีย์แบบครบวงจร ขณะที่ ผู้ประกอบการสามารถสร้างเครือข่ายการผลิตในรูปแบบ Contact Farming ในชุมชนและพื้นที่ใกล้เคียง สามารถสร้างงานและสร้างรายได้ให้กับเกษตรสมาชิกได้โดยมีแผนที่จะพัฒนาเป็นผู้ประกอบการด้านการผลิตพืชอาหารเป็นไปตามมาตรฐานเกษตรอินทรีย์ตลอดห่วงโซ่อาหาร” รศ.(พิเศษ) ดร.ดวงฤทธิ์ กล่าว

แท็กที่เกี่ยวข้อง

เรื่องอื่นที่น่าสนใจ