ศาลอุทธรณ์ เเก้ยกฟ้องบางมาตรา บรรยิน กับพวก อุ้มฆ่าพี่ชายผู้พิพากษา เเต่ยังจำคุกตลอดชีวิต พร้อมยกคำร้องจำเลยทั้ง 6 ขอลดโทษทั้งหมด
เมื่อวันที่ 1 ก.ค.2565 ที่ศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบกลาง ศาลนัดฟังคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ คดีอุ้มฆ่าพี่ชายผู้พิพากษาอดีตเจ้าของสำนวนโอนหุ้นเสี่ยชูวงษ์ แซ่ตั๊งหมายเลขดำ อท.69/2563 ที่พนักงานอัยการสำนักงานคดีปราบปรามการทุจริต 3 น.ส.พนิดา ศกุนตะประเสริฐ เป็นโจทก์เเละโจทก์ร่วมยื่นฟ้อง พ.ต.ท.บรรยิน ตั้งภากรณ์ อายุ 56 ปี อดีต รมช.พาณิชย์, นายมานัส ทับทิม อายุ 67 ปี, นายณรงค์ศักดิ์ ป้อมจันทร์ อายุ 48 ปี, นายชาติชาย เมณฑ์กูล อายุ 31 ปี, นายประชาวิทย์ หรือตูน ศรีทองสุข อายุ 33 ปี และด.ต.ธงชัย หรือ ส.จ.อ๊อด วจีสัจจะ อายุ 63 ปี
ทั้งหมดภูมิลำเนา จ.นครสวรรค์ เป็นจำเลยที่ 1-6 ในความผิด 9 ข้อหา ฐานร่วมกันฆ่าผู้อื่นโดยไตร่ตรองไว้ก่อนเพื่อปกปิดความผิดอื่นของตนหรือเพื่อหลีกเลี่ยงให้พ้นอาญาในความผิดอื่นที่ตนได้กระทำไว้ ตามประมวลกฎหมายอาญา (ป.อ.) มาตรา 289, ฐานร่วมกันหน่วงเหนี่ยวหรือกักขังผู้ใดเพื่อให้ได้มาซึ่งค่าไถ่ เป็นเหตุให้ผู้ถูกเอาตัวไปถึงแก่ความตาย มาตรา 309, 313
ฐานร่วมกันหน่วงเหนี่ยวกักขังผู้อื่นเป็นเหตุให้ผู้อื่นถึงแก่ความตาย มาตรา 310, ฐานร่วมกันข่มขืนใจเจ้าพนักงานให้ปฏิบัติการอันมิชอบด้วยหน้าที่โดยใช้กำลังประทุษร้ายโดยร่วมกันกระทำผิดตั้งแต่ 3 คนขึ้นไป มาตรา 139, 140, ฐานเป็นซ่องโจร
โดยสมคบกันเพื่อกระทำผิดที่มีระวางโทษประหารชีวิต มาตรา 210, ฐานร่วมกันพยายามข่มขืนใจผู้อื่น ให้กระทำการใดโดยร่วมกันกระทำผิดตั้งแต่ 5 คนขึ้นไป มาตรา 213, ฐานร่วมกันซ่อนเร้น ทำลายศพเพื่อปิดบังการตายและสาเหตุการตาย มาตรา 199, ฐานร่วมกันกระทำการใดๆ แก่ศพก่อนการชันสูตรพลิกศพเสร็จสิ้นเพื่ออำพรางคดี
คดีนี้ ศาลชั้นต้นพิพากษาเมื่อวันที่ 15 ธ.ค.63 ว่า จำเลยที่ 1 มีความผิดฐานร่วมกันกักขังหน่วงเหนี่ยวเป็นเหตุให้ผู้อื่นจนถึงแก่ความตายฯ ลงโทษประหารชีวิต, ร่วมกันฆ่าผู้อื่นโดยไตร่ตรองไว้ก่อนฯ ตาม ป.อาญา มาตรา 289 (4)(7) ลงโทษประหารชีวิต, ฐานแสดงตัวเป็นเจ้าพนักงานฯ จำคุก 1 ปี สวมเครื่องแบบเจ้าพนักงานฯ จำคุก 1 ปี, ซ่อนเร้นทำลายศพฯ จำคุก 4 ปี แต่จำเลยที่ 1 ให้การเป็นประโยชน์ลดโทษ 1 ใน 3 ทุกข้อหาคงจำคุกจำเลยที่ 1 ทั้งสิ้นตลอดชีวิตสถานเดียว
จำเลยที่ 2 มีความผิดฐานสนับสนุนให้กระทำความผิดฐานฆ่าผู้อื่นโดยไตร่ตรองไว้ก่อนฯ ลงโทษจำคุกตลอดชีวิต แต่ให้การเป็นประโยชน์ ลดโทษเหลือจำคุก 33 ปี 4 เดือน จำเลยที่ 4-6 มีความผิดฐานร่วมกันกักขังหน่วงเหนี่ยวให้ผู้อื่นถึงแก่ความตายฯ(เรียกค่าไถ่) ลงโทษประหารชีวิต แต่ให้การเป็นประโยชน์ ลดโทษเหลือจำคุกตลอดชีวิต โดยจำเลยที่ 1 ให้นับโทษต่อจากคดีโอนหุ้นจำคุก 8 ปี ของศาลอาญากรุงเทพใต้
จำเลยที่3 กระทำผิดฆ่าโดยไตร่ตรอง (คนลงมือ)พิพากษาประหารชีวิต เเละกักขังหน่วงเหนี่ยวให้ผู้อื่นถึงเเก่ความตาย พิพากษาประหารชีวิต ให้การเป็นประโยชน์ลดเหลือจำคุกตลอดชีวิต
ต่อมาโจทก์และโจทก์ร่วมยื่นอุทธรณ์ว่าไม่มีเหตุบรรเทา ขอไม่ให้ลดโทษ
ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้ว่า จำเลยที่ 1 และที่ 3 ไม่มีความผิดตามมาตรา 140 วรรคแรก ส่วนความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 309 วรรคแรก เป็นเพียงการพยายามกระทำความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 80
จำเลยที่ 2 ไม่มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 289 (4)(7) มาตรา 314 ประกอบ มาตรา 86 แต่จำเลยที่ 2 มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 310 วรรค 2313 (3) วรรคท้ายประกอบมาตรา 86, 87 วรรคสอง เป็นกรรมเดียวผิดกฎหมายหลายบทให้ลงโทษฐานสนับสนุนเพื่อให้ได้มาซึ่งค่าไถ่ร่วมกันหน่วงเหนี่ยวหรือกักขังบุคคลใดเป็นเหตุให้ผู้ถูกเอาตัวไป ผู้ถูกหน่วงเหนี่ยวหรือผู้ถูกกักขังถึงแก่ความตาย ซึ่งเป็นบทกฎหมายที่มีโทษหนักสุดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90 ลงโทษจำคุกตลอดชีวิต
จำเลยที่ 6 มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 310 วรรคสอง 313 (2)วรรคท้าย ประกอบมาตรา 86,87 วรรคสอง เป็นกรรมเดียวผิดกฎหมายหลายบทให้ลงโทษฐานสนับสนุนเพื่อให้ได้มาซึ่งค่าไถ่ร่วมกันหน่วงเหนี่ยวหรือกักขังบุคคลใดเป็นเหตุให้ผู้ถูกเอาตัวไป ผู้ถูกหน่วงเหนี่ยวหรือผู้ถูกกักขังถึงแก่ความตาย ซึ่งเป็นบทกฎหมายที่มีโทษหนักสุดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90 ลงโทษจำคุกตลอดชีวิต
ไม่ลดโทษให้จำเลยทั้ง 6 ในความผิดฐานแสดงตนเป็นเจ้าพนักงาน กระทำการเป็นเจ้าพนักงาน สวมเครื่องแบบตำรวจโดยไม่มีสิทธิ ฐานร่วมกันหน่วงเหนี่ยวหรือกักขังผู้อื่นเป็นเหตุให้ผู้ถูกหน่วงเหนี่ยว หรือถูกกักขังถึงแก่ความตาย ฐานเพื่อให้ได้มาซึ่งค่าไถ่ร่วมกันหน่วงเหนี่ยวหรือกักขังบุคคลใดเป็นเหตุให้ผู้ถูกเอาตัวไป ผู้ถูกหน่วงเหนี่ยวหรือถูกกักขังถึงแก่ความตาย ฐานร่วมกันกระทำการใดๆ แก่ศพ หรือสภาพแวดล้อมในบริเวณที่พบศพก่อนการชันสูตรศพเสร็จสิ้น ฐานเป็นผู้สนับสนุนการกระทำความผิดฐานเพื่อให้ได้มาซึ่งค่าไถ่ร่วมกันหน่วงเหนี่ยวหรือกักขังบุคคลใดเป็นเหตุให้ผู้ถูกเอาตัวไป ผู้ถูกหน่วงเหนี่ยวหรือถูกกักขังถึงแก่ความตาย
เมื่อลงโทษประหารชีวิตจำเลยที่ 1 และที่ 3 แล้วไม่อาจนำโทษกระทงอื่นมารวมหรือนับต่อจากโทษคดีอื่นหรือเพิ่มโทษได้อีก
ทั้งนี้ จำเลยที่ 1 และที่ 3 ไม่ปรับบทตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 91 (3) นอกจากที่แก้ ให้เป็นไปตามคำพิพากษาของศาลชั้นต้น