อีก 2 มหาวิทยาลัยในฮ่องกง ย้าย “ประติมากรรม” รำลึก “เหตุการณ์เทียนอันเหมิน”

Home » อีก 2 มหาวิทยาลัยในฮ่องกง ย้าย “ประติมากรรม” รำลึก “เหตุการณ์เทียนอันเหมิน”



อีก 2 มหาวิทยาลัยในฮ่องกง – วันที่ 24 ธ.ค. บีบีซี รายงานว่า มหาวิทยาลัยในฮ่องกงอีก 2 แห่ง เคลื่อนย้ายอนุสาวรีย์รำลึกการสังหารหมู่ผู้ประท้วงที่จัตุรัสเทียนอันเหมินในกรุงปักกิ่งของจีนเมื่อปี 2532 ออกไป

แห่งแรกคือมหาวิทยาลัยฮ่องกงจีน (CUHK) ที่เคลื่อนย้ายรูปปั้น “เทพีแห่งประชาธิปไตย” ซึ่งจำลองตามรูปปั้นเดิมที่นักศึกษาชาวจีนสร้างและแห่ไปที่จัตุรัสเทียนอันเหมินก่อนถูกปราบปราม

แถลงการณ์มหาวิทยาลัยฮ่องกงจีนไม่ได้ยืนยันโดยตรงถึงการรื้อถอนรูปปั้น แต่ระบุว่า “มหาวิทยาลัยไม่เคยอนุญาตจัดแสดงรูปปั้นในวิทยาเขต และไม่มีองค์กรใดอ้างความรับผิดชอบในการบำรุงรักษาและการจัดการ”

อีกแห่งคือมหาวิทยาลัยหลิงหนาน ที่เคลื่อนย้ายประติมากรรมนูนเทียนอันเหมิน และทาสีทับภาพวาดสเปรย์เทพีแห่งประชาธิปไตยด้วย

มหาวิทยาลัยหลิงหนานระบุว่า ยังตรวจสอบและประเมินวัตถุต่างๆ ในมหาวิทยาลัยที่อาจเสี่ยงมีความเสี่ยงต่อกฎหมายและความปลอดภัย จึงเคลื่อนย้ายออกไปเพื่อผลประโยชน์สูงสุดของมหาวิทยาลัย

ความเคลื่อนไหวดังกล่าวมีขึ้นเพียง 1 วัน หลังมหาวิทยาลัยฮ่องกง เคลื่อนย้าย “เสาแห่งความอัปยศ” ผลงานของนายเยนส์ กัลชูท ศิลปินชาวเดนมาร์ก หลังจัดแสดงมากว่า 24 ปี

 

ทั้งนี้ ฮ่องกงเคยเป็นหนึ่งในสถานที่ไม่กี่แห่งในจีนที่อนุญาตรำลึกถึงการสังหารหมู่ดังกล่าว ซึ่งยังเป็นหัวข้อละเอียดอ่อนในจีนแผ่นดินใหญ่ แต่ในปี 2563 ทางการฮ่องกงสั่งห้ามการรำลึกดังกล่าวเป็นครั้งแรกในรอบ 30 ปี โดยอ้างข้อจำกัดของโควิด-19

อย่างไรก็ตาม นักเคลื่อนไหวกล่าวหาทางการก้มหน้ารับแรงกดดันจากปักกิ่งที่สั่งปิดปากการแสดงความเห็นสนับสนุนประชาธิปไตย หลายหมื่นคนฝ่าฝืนคำสั่งห้ามเข้าร่วมกิจกรรมรำลึกในคืนนั้น โดยทำลายเครื่องกีดขวางที่นำมาวางรอบสวนสาธารณะวิกตอเรีย

จนเดือนต.ค. 2564 นักเคลื่อนไหวเพื่อประชาธิปไตยในฮ่องกง 9 คน ถูกตัดสินจำคุกระหว่าง 6 -10 เดือนในข้อหาเข้าร่วมกิจกรรมรำลึก ต่อมา ต้นเดือนธ.ค. นายจิมมี ไหล มหาเศรษฐีสื่อฮ่องกง ถูกจำคุก 13 เดือนในข้อหาเข้าร่วมกิจกรรมรำลึกเช่นกัน

เป็นไปตามกฎหมายความมั่นคงแห่งชาติที่เข้มงวดในฮ่องกงเมื่อปีที่แล้ว ซึ่งกำหนดให้การแบ่งแยกดินแดน การโค่นล้มรัฐบาล การก่อการร้าย และการสมรู้ร่วมคิดกับกองกำลังต่างประเทศ เป็นความผิดทางอาญา แต่นักเคลื่อนไหวกล่าวว่ากฎหมายดังกล่าวถูกใช้เพื่อปราบปรามภาคประชาสังคม จำคุกนักรณรงค์เพื่อประชาธิปไตย และควบคุมเสรีภาพขั้นพื้นฐาน

แท็กที่เกี่ยวข้อง

เรื่องอื่นที่น่าสนใจ