สตาร์ทอัพด้านเทคโนโลยีชีวภาพ SweetBio และกองทุนร่วมลงทุน VamosVentures ได้รับการสนับสนุนเงินทุนจากโครงการ Racial Equity and Justice Initiative ของ Apple
เมื่อสองปีที่แล้ว Lauro Salvador ได้รับบาดเจ็บที่เท้าจากอุบัติเหตุในการทำงาน แต่สำหรับผู้ที่เป็นเบาหวานวัย 55 ปีนั้น การทดสอบอันทรหดของเขาไม่ได้สิ้นสุดลงง่ายๆ
เมื่อ Salvador พร้อมแล้วที่จะกลับไปทำงาน แต่อาการบาดเจ็บกลับยังไม่หายสนิท และเท้าของเขาก็อาการแย่ลงเรื่อยๆ จนในท้ายที่สุดเขาก็ต้องพาตัวเองไปเข้าห้องฉุกเฉินของโรงพยาบาล Regional One Health ในเมืองเมมฟิส
แพทย์ที่นั่นพยายามช่วยรักษาเท้าของเขา แต่หลังจากการผ่าตัดครั้งแรกล้มเหลว หมอก็เสนอให้เขาตัดเท้า
“ผมบอก ได้โปรดอย่าทำแบบนั้นเลย” Salvador เล่า “ผมกลัวมากๆ ผมถามว่ายังมีทางเลือกอื่นอีกหรือเปล่า”
นั่นทำให้หมอของเขา Dr. Tony Alleman แนะนำคอร์สการรักษาที่มีการใช้ผลิตภัณฑ์รักษาแผลจาก SweetBio
SweetBio ก่อตั้งขึ้นโดยคู่พี่น้อง Kayla Rodriguez Graff และ Isaac Rodriguez ซึ่งครอบครัวของทั้งสองคนมาจากเปอร์โตริโก เป้าหมายของทั้งคู่ก็คือการรักษาบาดแผลที่ล้ำหน้าสำหรับทุกคน และเพื่อให้ประสบความสำเร็จในเรื่องนี้ พวกเขาได้ใช้ประโยชน์จากพลังอันเหลือเชื่อของน้ำผึ้ง โดยเฉพาะอย่างยิ่ง น้ำผึ้งมานูก้า (Manuka) ซึ่งได้มาจากผึ้งที่ผสมเกสรกับต้นมานูก้า และการศึกษาบางชิ้นได้แสดงให้เห็นว่ามีคุณสมบัติในการต้านแบคทีเรียและการเยียวยาผิว
SweetBio เป็นหนึ่งในบริษัทที่ก่อตั้งโดยชาวละตินที่ได้รับเงินทุนจาก VamosVentures กองทุนร่วมลงทุนที่มุ่งสร้างผลกระทบเชิงบวก ซึ่งมีการลงทุนในบริษัทด้านเทคโนโลยีที่มีความหลากหลายทั่วประเทศ
ในฐานะส่วนหนึ่งของโครงการ Racial Equity and Justice Initiative (REJI) ของ Apple ซึ่งเพิ่งเปิดตัวไปเมื่อไม่นานมานี้ Apple ได้ลงทุนโดยรวม 50 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ กับบริษัทหลายแห่งโดยเน้นธุรกิจที่มีชาวผิวดำและชาวละตินเป็นเจ้าของ ซึ่งมี VamosVentures รวมอยู่ด้วย
“เราต้องการเป็นมากกว่าแค่กองทุนรวมเพื่อการลงทุนสักแห่งหนึ่ง” Marcos Gonzalez ผู้ก่อตั้ง VamosVentures กล่าวเช่นนั้น ทั้งพ่อและแม่ของเขาเป็นผู้อพยพมาจากเม็กซิโก “เราอยากสร้างพอร์ตโฟลิโอของบริษัทที่นำโดยชาวละตินและผู้ก่อตั้งที่มีความหลากหลายทางเชื้อชาติ ซึ่งสามารถสร้างผลกระทบได้อย่างแท้จริง ทั้งทางด้านเศรษฐกิจและสังคม ความจริงที่ว่า Apple ได้สร้างพันธะสัญญาที่มีความหมายกับกองทุนของเรา แสดงให้เห็นว่าพวกเขาตระหนักดีถึงความท้าทายที่มีอยู่ในธุรกิจประเภทนี้ และอยากเป็นส่วนหนึ่งในการหาทางออกให้แก่เรื่องนี้”
และ Gonzalez ก็เห็นโอกาสใน SweetBio ทั้งในแง่การสนับสนุนธุรกิจของชาวละติน และการพุ่งเป้าไปที่ประเด็นสำคัญสำหรับชุมชนชาวละตินส่วนใหญ่
“ไม่เพียงแต่เราจะเชื่อในภารกิจและผู้ก่อตั้งเหล่านี้ และไม่เพียงแต่จะตระหนักดีถึงอุปสรรคที่กีดขวางชาวผิวสีทั่วไป โดยเฉพาะผู้หญิง แต่เรายังเชื่อว่าผลิตภัณฑ์ที่พวกเขาพัฒนาขึ้นนั้นอาจสามารถช่วยเปลี่ยนโฉมชุมชนชาวผิวสีได้ด้วย” Gonzalez บอก
สำหรับ Kayla ซึ่งมีพื้นฐานทางด้านธุรกิจและ Isaac ซึ่งจบปริญญาเอกทางด้านวิศวกรรมชีวภาพ การพัฒนาผลิตภัณฑ์ที่อาจช่วยคนจำนวนมากได้ เป็นแรงผลักดันอันแรงกล้าเบื้องหลัง SweetBio
“มีการใช้น้ำผึ้งเพื่อรักษาแผลมาแล้วตั้งแต่สมัยอียิปต์โบราณ” Isaac บอก เขาเป็นผู้ตั้งชื่อผลิตภัณฑ์ทำแผลของตนเองว่า APIS ตามชื่อ Apis mellifera ซึ่งเป็นชื่อทางวิทยาศาสตร์ของผึ้งน้ำหวาน “และทุกวันนี้ก็ยังมีการใช้อยู่ในโรงพยาบาล แต่ค่อนข้างเลอะเทอะและเก็บรักษายาก เราจึงใช้วิศวกรรมชีวภาพเพื่อสกัดส่วนผสมออกมา และนำมาทำให้อยู่ในรูปผ้าปิดแผลซึ่งใช้งานได้ง่าย”
“เราเห็นความต้องการอย่างมากในการรักษาบาดแผล โดยเฉพาะอย่างยิ่งแผลเบาหวาน” Kayla บอก “และเบาหวานก็เป็นโรคที่เกิดกับชุมชนชาวผิวสีเยอะมาก นั่นจึงเป็นที่ซึ่งเราสำรวจและศึกษาในระยะเริ่มแรกมากที่สุด”
แพทย์ที่โรงพยาบาล Regional One Health ใช้ผลิตภัณฑ์ทำแผล APIS ของ SweetBio ในโปรแกรมนำร่องเมื่อปีที่แล้ว
“เมืองเมมฟิสมีประชากรแอฟริกันอเมริกันราว 60 เปอร์เซ็นต์ และคนไข้ของเราจำนวนมากก็มีชีวิตความเป็นอยู่ที่ต่ำกว่าเส้นแบ่งความยากจน” Dr. Reginald Coopwood ประธานและซีอีโอของ Regional One Health บอก “ผมจึงภูมิใจเป็นอย่างมากที่เราได้ก่อตั้งศูนย์วัตกรรม ซึ่งทำให้เราได้พบกับสตาร์อัพอย่างเช่น SweetBio บริษัทซึ่งพยายามหาวิธีใหม่ๆ และสร้างสรรค์ในการแก้ปัญหาสุขภาพเรื้อรังในกลุ่มประชากรที่มีความซับซ้อน”
Dr. Tony Alleman ซึ่งบริหารงานศูนย์รักษาบาดแผลของโรงพยาบาล ได้เคยเห็นผลลัพธ์ในแง่บวกจากผลิตภัณฑ์ SweetBio ในคนไข้หลายคนของเขา
“ผมคิดว่า APIS เป็นผลิตภัณฑ์ที่ดีและใช้งานได้ง่าย” Alleman บอก “เรามีคนไข้โรคเบาหวานคนหนึ่งซึ่งเป็นแผลที่เท้ามาหลายเดือนแล้ว และเราพยายามลองมาหลายสิ่งหลายอย่างที่ไม่ได้ประโยชน์อะไรเลย จนกระทั่งเราได้ลองใช้ผลิตภัณฑ์ของ SweetBio และภายในสองสัปดาห์แผลของเขาก็หาย”
Dr. Alleman ยังใช้ APIS กับ Lauro Salvador เป็นส่วนหนึ่งของการรักษาทางเลือกเพื่อหลีกเลี่ยงการตัดอวัยวะ และผลลัพธ์ก็คือบาดแผลที่หายสนิท
“ตอนแรกผมลังเลที่จะลองผลิตภัณฑ์ใหม่ แต่มันช่วยรักษาเท้าผมเอาไว้ได้” Salvador บอก และในตอนหลังเขาก็ได้รู้ว่า APIS สร้างสรรค์ขึ้นโดยบริษัทที่ก่อตั้งโดยชาวละติน “ตอนที่ได้รู้ว่าสมาชิกของชุมชนเราเป็นผู้ทำเรื่องนี้อยู่ เป็นช่วงเวลาที่รู้สึกภาคภูมิใจมาก”
Kayla และ Isaac หวังว่าเรื่องราวความสำเร็จเหล่านี้จะเป็นเพียงแค่จุดเริ่มต้น ขณะที่ทั้งคู่ทำงานเพื่อขยายผลิตภัณฑ์ของตัวเองให้ครอบคลุมทั่วทั้งประเทศให้ได้ภายในปลายปี 2022 นอกเหนือจากโปรแกรมนำร่องที่โรงพยาบาล Regional One Health ซึ่งกำลังจะสรุปเป็นการศึกษาวิจัยย้อนหลัง ก็ยังมีการทดลองทางคลินิกที่กำลังทำอยู่ร่วมกับมหาวิทยาลัยแวนเดอร์บิลต์
“การที่ความฝันของเราได้รับการสนับสนุนโดยบริษัทอย่าง Apple ทำให้เรามีพลังที่จะก้าวไปข้างหน้า” Isaac บอก “และช่วยให้ไอเดียของเรา รวมถึงไอเดียกล้าบ้าบิ่นของคนรุ่นหลังในอนาคต สามารถแปรมาเป็นผลิตภัณฑ์และบริการที่จะช่วยพัฒนาคุณภาพชีวิตของผู้คนได้”
“Isaac กับฉันเริ่มต้นบริษัทนี้เพื่อช่วยในการเยียวยาผู้คน” Kayla บอก “และสิ่งที่ฉันไม่เข้าใจในตอนแรกที่เราเริ่มต้นก็คือสิ่งนั้น ใช่แล้ว เรากำลังช่วยในการเยียวยาบาดแผล แต่ที่สำคัญไปกว่านั้นก็คือ เรากำลังช่วยในการเยียวยาครอบครัวและชุมชนด้วย การเปลี่ยนแปลงแบบนี้ครอบคลุมทั้งหมู่บ้าน และเราก็ภูมิใจอย่างยิ่งที่ VamosVentures และ Apple ช่วยสนับสนุนเส้นทางของเรา”