อินเดีย: ลูกชายที่เกิดจากการ "ย่ำยี" ช่วยแม่ทวงความยุติธรรมเมื่อเกือบ 30 ปีก่อน

Home » อินเดีย: ลูกชายที่เกิดจากการ "ย่ำยี" ช่วยแม่ทวงความยุติธรรมเมื่อเกือบ 30 ปีก่อน


อินเดีย: ลูกชายที่เกิดจากการ "ย่ำยี" ช่วยแม่ทวงความยุติธรรมเมื่อเกือบ 30 ปีก่อน

อินเดีย: ลูกชายที่เกิดจากการ “ย่ำยี” ช่วยแม่ทวงความยุติธรรมเมื่อเกือบ 30 ปีก่อน

วันที่ 11 ส.ค. บีบีซี รายงานเรื่องราวของผู้หญิงอินเดียที่ถูกชายสองพี่น้องรุมข่มขืนซ้ำซากเมื่อเกือบ ปีก่อน และตอนนี้หวังว่าสุดท้ายจะได้รับความยุติธรรม หลังได้รับความช่วยเหลือจากลูกชายที่เกิดจากการ “ย่ำยี”

ผู้หญิงคนนี้อยู่ในรัฐอุตตรประเทศ ทางเหนือของประเทศ ถูกชายสองพี่น้องข่มขืนเป็นเวลา 6 เดือน เมื่อเธอมีอายุเพียง 12 ขวบ ส่วนลูกชายของเธอ ได้รับเลี้ยงเป็นบุตรบุญธรรม แต่กลับมาหาแม่บังเกิดเกล้าในอีก 13 ปีต่อมา สนับสนุนให้แม่ยื่นฟ้องชายทั้งสองที่ข่มขืนแม่

และเมื่อ 10 วันก่อน (31 ก.ค.) ตำรวจจับกุมหนึ่งในผู้ต้องหาได้ และควบคุมตัวผู้ต้องหาคนที่สองในวันพุธที่ 10 ส.ค.

ผู้หญิงคนนี้บอกบีบีซีว่า “เหตุการณ์นี้นานมาก แต่บาดแผลที่เกิดขึ้นยังไม่หายดี มันทำให้ชีวิตฉันหยุดนิ่ง และฉันจำช่วงเวลานั้นได้ครั้งแล้วครั้งเล่า”

 

“พวกเขาปลูกฝังความหวาดกลัวในใจฉัน”

หญิงผู้ผ่านการถูกข่มขืน ซึ่งไม่สามารถเปิดเผยชื่อได้ภายใต้กฎหมายอินเดีย ระบุว่า เหตุการณ์เกิดขึ้นเมื่อปี 2537 ในเมืองชาห์จาฮันปุระ นายโมฮัมเม็ด ราซี และ นายนากี ฮาซัน สองพี่น้อง อาศัยอยู่ในละแวกนั้น จะกระโดดข้ามกำแพงบ้านเธอและประทุษร้ายทางเพศเธอทุกครั้งเมื่อเธออยู่คนเดียว

เธอพบว่าตัวเองตั้งครรภ์เมื่อสุขภาพเริ่มทรุดโทรม และน้องสาวพาเธอไปพบแพทย์ แต่แพทย์ปฏิเสธการทำแท้ง เนื่องจากสุขภาพอ่อนแอและอายุยังน้อย และทันทีที่ทารกลืมตาดูโลก ได้รับเลี้ยงเป็นลูกบุญธรรมคนอื่น

“ฉันเป็นทุกข์กับเด็กคนนี้มามากแล้ว แต่ฉันไม่มีโอกาสเห็นหน้าเขาด้วยซ้ำ เมื่อฉันถามแม่ฉัน เธอพูดว่า ‘ลูกจะมีโอกาสครั้งที่สองในชีวิต’ ” เธอกล่าวและว่า เธอและครอบครัวไม่ได้แจ้งความกับตำรวจเนื่องจากเธออาศัยอยู่ด้วยความหวาดกลัวผู้ต้องหาทั้งสอง

“พวกเขาขู่ว่าจะฆ่าครอบครัวฉัน และจุดไฟเผาบ้านฉัน หากฉันบอกใครว่าถูกข่มขืน ความฝันฉันคือเป็นตำรวจ แต่เพราะสองคนนั้น ความฝันฉันทั้งหมดจึงจบลง ฉันไม่ได้ไปโรงเรียน ฉันเรียนหนังสือไม่ได้” เธอกล่าว

เธอและครอบครัวย้ายไปเขตรัมปุระในเวลาต่อมาเพื่อหนีความทรงจำอันเจ็บปวดกับบ้านหลังก่อน ต่อมาในปี 2543 เธอแต่งงานและมีลูกคนที่สอง เธอหวังว่าบทบาทใหม่นี้จะช่วยให้เธอลืมอดีตไป แต่หลังแต่งงานมา 6 ปี สามีรู้ว่าภรรยาถูกข่มขืนและโทษเธอเป็นต้นเหตุ

หลังสามีขับไล่เธอพร้อมลูกชายออกจากบ้าน เธอจึงไปอาศัยอยู่กับพี่สาวและครอบครัวเธอ

 

ลูกชายค้นหาความจริง

ลูกชายคนแรกของเธอ ซึ่งได้รับเลี้ยงเป็นลูกบุญธรรม ยังเผชิญการถูกเลือกปฏิบัติสารพัด เนื่องจากตัวตนเด็ก เธอบอกว่า ลูกชายเติบโตมาโดยได้ยินเพื่อนบ้านพูดว่าไม่ใช่ลูกของพ่อแม่ที่อยู่ด้วยกัน และนั่นทำให้ลูกชายรู้ว่าตัวเองเป็นลูกบุญธรรม

13 ปีหลังแม่และลูกชายพรากจากกัน พ่อแม่บุญธรรมคืนลูกชายแก่แม่บังเกิดเกล้า แต่ลูกชายอยากรู้ว่าใครเป็นพ่อ เนื่องจากไม่มีนามสกุลซึ่งในอินเดียมักเป็นชื่อพ่อ จึงถูกเพื่อนๆ ในโรงเรียนเยาะเย้ย

ลูกชายจะถามแม่ถึงบรรพบุรุษเขาตลอดเวลาและไม่ได้รับคำตอบ ซึ่งทำให้เขาเสียใจอย่างยิ่ง เธอบอกว่าลูกชายจะบอกเธอว่า เขาจะใช้ชีวิตไร้ชื่อแบบนี้ไม่ได้ และขู่ว่าจะฆ่าตัวตายหากเธอไม่เปิดเผยชื่อพ่อเขา

เธอบอกว่า ตอนแรกดุลูกชายที่ถามคำถาม แต่สุดท้าย เธอยอมและบอกความจริง แต่แทนที่ลูกชายจะตกใจ กลับกลายเป็นผู้สนับสนุนอันยิ่งใหญ่ที่สุดของแม่ โดยบอกกับแม่ว่า “แม่ต้องต่อสู้กับศึกครั้งนี้และสั่งสอนผู้ก่อเหตุเป็นบทเรียน”

“หากแม่พูดถึงสิ่งที่เกิดขึ้น อาจมีคนพูดมากกว่านี้ด้วย นั่นจะทำให้คดีเรามีพลังมากขึ้นและผู้ก่อเหตุจะถูกลงโทษ จะเป็นการส่งข้อความถึงสังคมว่า ไม่มีใครจะได้รับความช่วยเหลือหลังก่ออาชญากรรม” ลูกชายกล่าว

 

ต่อสู้เพื่อความยุติธรรม

ด้วยกำลังใจจากลูกชาย เธอจึงกลับมาเยือนเมืองชาห์จาฮันปุระอีกครั้งในปี 2563 แต่พบว่าเป็นการยากที่จะฟ้องผู้ต้องหาทั้งสอง และเมื่อตำรวจปฏิเสธการทำคดีเพราะผ่านมานานเกินไป เธอจึงติดต่อทนายความ

แต่ทนายความเองลังเลเช่นกัน โดยบอกว่าเป็นการยากที่จะต่อสู้คดีที่มีอายุเกือบ 30 ปี ขณะที่บ้านที่เธออาศัยอยู่ตั้งแต่เด็กเปลี่ยนไปจนจำไม่ได้ เธอหาบ้านเก่าไม่เจอด้วยซ้ำ และไม่สามารถตรวจสอบย้อนกลับผู้ต้องหาทั้งสองได้

“คุณจะพิสูจน์ได้อย่างไรว่าคุณอาศัยอยู่ที่ไหนเมื่อ 3 ทศวรรษ และนั่นคือสถานที่ที่คุณถูกข่มขืน” ทนายความเธอถาม ขณะที่เธอบอกว่า “เราจะนำหลักฐานมาให้คุณ คุณรับคดีเรา”

ทนายความยื่นอุทธรณ์ต่อศาล และตามคำสั่งหัวหน้าผู้พิพากษา หัวหน้าผู้พิพากษาเมืองชาห์จาฮันปุระ มีการดำเนินคดีกับผู้ต้องหาทั้งสองในเดือนมี.ค. 2564

เธอบอกว่าตำรวจขอให้เธอตามหาตัวผู้ต้องหาทั้งสอง “ฉันพบพวกเขาและพูดกับพวกเขาทางโทรศัพท์ พวกเขาจำฉันได้และถามฉันว่าทำไมฉันยังไม่ตาย ฉันบอกว่า ตอนนี้ถึงเวลาตายของพวกคุณแล้ว”

 

หลักฐานและการจับกุม

แม้จะตามตัวผู้ต้องหาทั้งสองแล้ว แต่ไม่มีหลักฐานมัดตัวว่าก่ออาชญากรรม อย่างไรก็ดี ตำรวจกล่าวว่า หลักฐานดังกล่าวได้มาจากการตรวจสารพันธุกรรม (ดีเอ็นเอ) ในเดือนก.พ. 65

เอส อนันต์ ผู้กำกับการอาวุโสตำรวจเมืองชาห์จาฮันปุระ บอกบีบีซีว่า “คดีนี้เป็นคดีที่ไม่คาดคิดอย่างยิ่ง เมื่อผู้หญิงคนนี้ออกมายื่นฟ้องคดี เราค่อนข้างแปลกใจ แต่เราถือโอกาสและเก็บตัวอย่างดีเอ็นเอลูกชายเธอ”

ขณะที่ ธรรเมนทระ กุมาร คุปตะ สารวัตรตำรวจเมืองชาห์จาฮันปุระ ซึ่งกำลังสืบสวนคดีนี้ในปีที่ผ่านมา กล่าวว่า “จากนั้นเราเก็บตัวอย่างดีเอ็นจากผู้ต้องหาและตรวจสอบ หนึ่งในนั้นตรงกับตัวอย่างดีเอ็นเอของลูกชาย”

หนึ่งในผู้ต้องหาคนนั้นถูกจับกุมเมื่อวันที่ 31 ก.ค. และต่อมาวันพุธที่ 10 ส.ค. ตำรวจระบุว่าควบคุมผู้ต้องหาคนที่สอง ผู้ต้องหาทั้งสองไม่ให้การเกี่ยวกับข้อกล่าวหาดังกล่าว

ผู้หญิงคนนี้บอกว่าต้องการให้เรื่องราวของเธอเป็นแรงบันดาลใจให้คนอื่นออกมาและก่ออาชญากรรมต่อพวกเขา “คนอื่นนั่งเงียบๆ ฉันก็นั่งเงียบๆ และคิดว่า นี่คือสิ่งที่ถูกกำหนดในชะตากรรมของฉัน แต่ไม่มีเช่นนั้น เราต้องไปหาตำรวจเพื่อไม่ให้คนอื่นต้องทนกับสิ่งที่เราจำเป็นต้องทำ”

สำหรับลูกชาย เขาบอกว่ารู้สึกยินดีที่จับตัวผู้ต้องหาทั้งสองได้แล้ว

แท็กที่เกี่ยวข้อง

เรื่องอื่นที่น่าสนใจ