อินเดียเตรียมส่งยานสังเกตการณ์ลำแรกไปศึกษาดวงอาทิตย์ โดยกำหนดเดินทางออกจากโลกในวันที่ 2 กันยายนนี้ จากการเปิดเผยของสำนักงานอวกาศอินเดียในวันจันทร์ทางสื่อสังคมออนไลน์ X
ยานที่มีชื่อว่า อาทิตยา-แอล1 (Aditya-L1) คือยานสำรวจดวงอาทิตย์ลำแรกของอินเดีย ตั้งชื่อตามคำว่า “พระอาทิตย์” ในภาษาฮินดู จุดประสงค์ของยานสำรวจลำนี้คือศึกษา ‘ลมสุริยะ’ ซึ่งอาจส่งผลกระทบถึงพื้นโลกได้
ก่อนหน้านี้ไม่กี่วัน อินเดียเพิ่งประสบความสำเร็จครั้งประวัติศาสตร์ เมื่อสามารถส่งยานสำรวจไปลงบนขั้วใต้ของดวงจันทร์ได้สำเร็จเป็นชาติแรก
องค์การวิจัยด้านอวกาศอินเดีย หรือ ISRO (Indian Space Research Organisation) ระบุว่า ยานลำนี้จะถูกส่งจากศูนย์อวกาศบนเกาะศรีหริโกฏ โดยจะสามารถเดินทางได้ไกลราว 1.5 ล้านกิโลเมตร และจะใช้เวลาเดินทางราว 4 เดือน
เมื่อปี 2019 รัฐบาลอินเดียจัดสรรงบประมาณราว 46 ล้านดอลลาร์สำหรับโครงการสำรวจดวงอาทิตย์ ในขณะที่ภารกิจสำรวจดวงจันทร์ได้รับงบประมาณราว 75 ล้านดอลลาร์ ซึ่งน้อยกว่าต้นทุนการสร้างภาพยนตร์ฮอลลีวู้ดเรื่อง “Gravity” ที่เป็นเรื่องราวเกี่ยวกับอวกาศเช่นกัน
เมื่อสัปดาห์ที่แล้ว ยานอวกาศ “จันทรายาน-3” ของอินเดีย สามารถลงจอดบริเวณขั้วด้านใต้ของดวงจันทร์ได้สำเร็จเป็นประเทศแรก ถือเป็นความพยายามครั้งที่สองของอินเดียในการลงจอดบนขั้วด้านใต้ของดวงจันทร์
รอยเตอร์รายงานว่า จันทรายาน-3 จะมีเวลาปฏิบัติการบนดวงจันทร์เป็นเวลาสองสัปดาห์ โดยจะทำการค้นคว้าหลายอย่าง รวมถึงการวิเคราะห์ส่วนประกอบสเปคตรัมขององค์ประกอบของแร่ธาตุบนพื้นผิวดวงจันทร์ และหาคำตอบว่ามีน้ำอยู่ในน้ำแข็งของดวงจันทร์หรือไม่ ซึ่งจะเป็นข้อมูลที่สำคัญในการศึกษาด้านธรณีวิทยาของดวงจันทร์ ตลอดจนโอกาสในการตั้งอาณานิคมของมนุษย์ในอนาคต