อินเดียเช่าเรือดำน้ำพลังงานนิวเคลียร์จากรัสเซีย 

Home » อินเดียเช่าเรือดำน้ำพลังงานนิวเคลียร์จากรัสเซีย 
อินเดียเช่าเรือดำน้ำพลังงานนิวเคลียร์จากรัสเซีย 

ปัจจุบันกองทัพเรืออินเดียเรือดำน้ำพลังงานนิวเคลียร์อยู่ 1 ลำ และมีเรือดำน้ำดีเซลอีก 15 ลำในขณะที่คู่ปรับของอินเดียที่มีเรื่องถึงขนาดทำสงครามบริเวณชายแดนและปะทะกันประปรายมานานหลายสิบปี คือสาธารณรัฐประชาชนจีนที่มีเรือดำน้ำพลังงานนิวเคลียร์อยู่ 12 ลำ และมีเรือดำน้ำดีเซลอีก 47 ลำ 

แต่อินเดียได้เข้าร่วมกลุ่มพันธมิตรที่เรียกว่า เดอะ ควอด (The QUAD – Quadrilateral Security Dialogue) ซึ่งเป็นกลุ่มพันธมิตรของ 4 ประเทศคือ ญี่ปุ่น ออสเตรเลีย สหรัฐอเมริกา และอินเดีย

ทั้ง 4 ประเทศต่างได้รับผลกระทบไม่ทางตรงก็ทางอ้อมจากการขยายอำนาจอย่างรวดเร็วและกว้างขวางของจีน เช่นปัญหาสงครามการค้าจีน-สหรัฐอเมริกา ปัญหาข้อพิพาทหมู่เกาะระหว่างจีน-ญี่ปุ่น ความขัดแย้งเหนือชายแดนหิมาลัยตลอดแนวของจีน-อินเดีย รวมถึงข้อพิพาทจีน-ออสเตรเลียในประเด็นเรื่องโควิด-19

ปัญหาเหล่านี้ลุกลามกลายเป็นการกดดันกันทางเศรษฐกิจทำให้เกิดแนวทางในการสร้างความร่วมมือระหว่างพื้นที่ 2 มหาสมุทรคือมหาสมุทรอินเดียกับมหาสมุทรแปซิฟิก เพื่อหยุดยั้งการขยายอำนาจของจีนทางทะเล จนกลายเป็นที่มาสำคัญของแนวความคิดว่าด้วย “อินโด-แปซิฟิก” ที่ใช้กันอย่างแพร่หลายจนถึงทุกวันนี้

เรือดำน้ำพลังงานนิวเคลียร์ดีกว่าเรือดำน้ำดีเซลธรรมดาอย่างไร? 

เรือดำน้ำพลังงานนิวเคลียร์นั้นไม่ต้องเติมเชื้อเพลิงเลยตลอดอายุการทำงาน 25 ปี ของเตาปฏิกรณ์นิวเคลียร์ เรือดำน้ำพลังงานนิวเคลียร์สามารถดำน้ำอยู่ที่ระดับความลึกได้ยาวนานเป็นเดือนโดยไม่ต้องขึ้นสู่ผิวน้ำ

ภายในเรือยังมีอุปกรณ์การสร้างออกซิเจนจากน้ำทะเล และมีพื้นที่กว้างขวางสำหรับการเก็บเสบียงอาหาร และน้ำจืด ทำให้ลูกเรือสามารถดำรงชีวิตได้อย่างยาวนานใต้ทะเลลึกโดยสามารถอยู่ใต้น้ำได้นาน 90 วัน ก่อนที่จะต้องขึ้นสู่ผิวน้ำเพื่อเติมเสบียงซึ่งตรงกันข้ามกับเรือดำน้ำดีเซลที่ต้องบรรทุกถังน้ำมันเป็นจำนวนมากเพื่อเอาไว้เติมน้ำมันในการปฏิบัติภารกิจทำให้มีพื้นที่คับแคบสามารถบรรทุกอาวุธได้น้อยเพียงตอร์ปิโด หรือขีปนาวุธเพียง 12-20 ชุด

นอกจากนี้ เรือดำน้ำพลังงานนิวเคลียร์ยังทำให้ระบบเรือต่อต้านเรือดำน้ำต้องยากลำบากเป็นอย่างมาก เพราะเรือดำน้ำพลังงานนิวเคลียร์สามารถดำลงไปที่ระดับความลึก 600 เมตร และสามารถเคลื่อนที่ด้วยความเร็วสูงถึง 30-35 นอต (56-65 กิโลเมตรต่อชั่วโมง)เมื่ออยู่ใต้น้ำ ในขณะที่เรือดำน้ำดีเซลสามารถดำน้ำได้ลึก 150-300 เมตร และทำความเร็วสูงสุดได้ 15-20 นอต (28-37 กิโลเมตรต่อชั่วโมง)

ดังนั้น ประเทศใดที่มีเรือดำน้ำพลังงานนิวเคลียร์จึงเป็นการข่มขวัญกองทัพศัตรูได้เป็นอย่างดี แต่การที่จะมีเรือดำน้ำพลังงานนิวเคลียร์ได้นั้นเป็นเรื่องยาก เพราะเทคโนโลยีในการสร้างเตาปฏิกรณ์นิวเคลียร์ในเรือดำน้ำนั้นเป็นเทคโนโลยีที่ซับซ้อนมากต้องใช้งบประมาณในการสร้างขึ้นมาแต่ละลำเป็นเงินมหาศาล จึงมีเพียง 6 ประเทศในโลกเท่านั้นคือ สหรัฐอเมริกา รัสเซีย อังกฤษ ฝรั่งเศส สาธารณรัฐประชาชนจีน และอินเดีย ที่มีเรือดำน้ำพลังงานนิวเคลียร์ ในขณะที่ประเทศอื่นๆ ยังคงใช้เรือดำน้ำดีเซลอยู่

ที่น่าแปลกใจก็คืออินเดียเช่าเรือดำน้ำพลังงานนิวเคลียร์จากรัสเซียมาโดยตลอดโดยเริ่มเช่าเรือดำน้ำพลังงานนิวเคลียร์ลำแรกจากรัสเซียเมื่อครั้งยังคงเป็นสหภาพโซเวียตอยู่มีกำหนดเวลา 3 ปี คือ จากปี 2531-2335 สาเหตุที่ยืดยาวออกไปเนื่องจากสหภาพโซเวียตล่มสลายพอดีโดยเรือดำน้ำพลังงานนิวเคลียร์ลำแรกนี้ทางอินเดียตั้งชื่อว่า “จักรา”

เมื่อปี 2555 รัฐบาลอินเดียได้เช่าเรือดำน้ำพลังงานนิวเคลียร์ลำที่ 2 จากรัฐบาลรัสเซียคือเรือจักราที่ 2 เป็นเรือดำน้ำที่ผลิตโดยรัสเซีย และรัฐบาลรัสเซียให้กองทัพอินเดียเช่าเป็นระยะเวลา 10 ปี โดยอินเดียต้องจ่ายค่าเช่าเป็นจำนวนถึง 1,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือประมาณ 30,000 ล้านบาท

การครอบครองเรือดำน้ำนิวเคลียร์ดังกล่าว ทำให้อินเดียกลายเป็น 1 ใน 6 ชาติมหาอำนาจทางทหารที่มีเรือดำน้ำพลังนิวเคลียร์ปฏิบัติการในกองทัพ เช่นเดียวกับสหรัฐอเมริกา รัสเซีย อังกฤษ ฝรั่งเศส และจีน

อย่างไรก็ตาม รัฐบาลอินเดียยืนยันว่าเรือดำน้ำจักราที่ 2 ติดตั้งเพียงขีปนาวุธชนิดธรรมดา โดยไม่ได้มีศักยภาพในการยิงหรือบรรทุกขีปนาวุธหัวรบนิวเคลียร์แต่อย่างใด เพื่อให้เป็นไปตามข้อตกลงในสนธิสัญญาป้องกันการแพร่กระจายอาวุธนิวเคลียร์ที่รัฐบาลอินเดียเป็นภาคีอยู่ด้วย

เมื่อสัญญาเช่าเรือจักราที่ 2 ใกล้จะสิ้นสุดลง รัฐบาลอินเดียก็ลงนามข้อตกลงมูลค่า 3,000 ล้านดอลลาร์ (ราว 95,000 ล้านบาท) เพื่อเช่าเรือดำน้ำพลังงานนิวเคลียร์ของรัสเซียลำใหม่โดยให้ชื่อว่า จักราที่ 3 เป็นเวลา 10 ปี เมื่อปี 2562 ทำให้อินเดียยังคงดำรงสถานะเป็นประเทศที่ 6 ที่มีเรือดำน้ำพลังงานนิวเคลียร์ประจำการ โดยเรือดำน้ำพลังงานนิวเคลียร์ลำที่สามที่อินเดียเช่าจากรัสเซียจะถูกส่งมอบในปี 2568 

แท็กที่เกี่ยวข้อง

เรื่องอื่นที่น่าสนใจ