อินสตาแกรมกับชีวิตอินฟลูเอนเซอร์ “ฉันไถหน้าจอวันละ 13 ชั่วโมง”

Home » อินสตาแกรมกับชีวิตอินฟลูเอนเซอร์ “ฉันไถหน้าจอวันละ 13 ชั่วโมง”



เมื่อบัญชีอินสตาแกรมของเธอมีผู้ติดตามเกิน 100,000 คน ลอเรน แบล็ก อินฟลูเอนเซอร์ ก็รับรู้ได้ถึงความกดดันที่เริ่มก่อตัว

เธอเกิดอาการวิตกกังวล “เพราะแต่ละวันฉันต้องคอยเอาใจผู้ติดตามที่เพิ่มขึ้นวันละหลายพัน”

“ฉันเล่นอินสตาแกรมตลอดเวลา และใช้เวลาหน้าจอโทรศัพท์วันละ 13 ชั่วโมง มันบ้ามาก”

นับตั้งแต่ลืมตาตื่นจนเข้านอน หญิงสาววัย 26 ปี จะไถหน้าจอโทรศัพท์และคอยกดไลก์รูปคนอื่นอยู่ตลอดเวลา

“ฉันเคยคิดว่าถ้าฉันเปลี่ยนตัวเอง จะมีคนมาติดตามฉันเพิ่มขึ้น และได้มาซึ่งโอกาสใหม่ ๆ” เธอเล่า

“ฉันสร้างมโนภาพขึ้นมาว่าถ้าฉันออกไปและทำอย่างนี้ ผลลัพธ์จะเป็นแบบนี้ และมันเป็นแค่เรื่องโกหก”

ผลวิจัยภายในของเฟซบุ๊กชี้ว่า อินสตาแกรมบั่นทอนทำลายสุขภาพจิตของบรรดาเด็กสาวได้

ที่มาของภาพ, Getty Images

สารคดี The Instagram Effect หรือ อาจแปลเป็นไทยว่า ผลกระทบของอินสตาแกรม จากบีบีซี ทรี ไปรับฟังเรื่องราวจากผู้คนแบบลอเรน รวมถึงอดีตพนักงานของอินสตาแกรมและเฟซบุ๊ก เพื่ออธิบายต่อสังคมว่าแอปพลิเคชันนี้ส่งผลกระทบต่อผู้ใช้งานอย่างไร

“เมื่อฉันย้อนไปดูรูปพวกนั้น มันชัดเจนว่าช่วงนั้นฉันป่วย”

ขณะที่ลอเรนใช้เวลามากขึ้นทางอินสตาแกรม อาการที่เกี่ยวกับพฤติกรรมการกินอาหารผิดปกติของเธอก็เลวร้ายลง

เมื่อเธอคอยติดตามและมีปฏิสัมพันธ์กับอินฟลูเอนเซอร์คนอื่นที่มีขนาดรูปร่างอยู่ที่ไซส์สี่ถึงหก เธอก็มักได้รับเนื้อหาทางอินสตาแกรมที่ส่งผลเสียต่อสุขภาพ

เธออธิบายว่ามันเป็นเรื่องง่ายมากสำหรับผู้ที่ความผิดปกติทางการทานอาหารที่จะตกลงไปในหลุมดำแห่งตัวกระตุ้น

“เมื่อฉันเจอเข้ากับเนื้อหาที่กระตุ้น (อาการกินอาหารผิดปกติ) มันเป็นเรื่องง่ายมากที่ฉันจะพาตัวเองไปเจอกับสิ่งกระตุ้นอื่น ๆ เนื่องจากสมองส่วนนั้นของคุณชอบสิ่งนี้”

ลอเรนอธิบายว่า การตกเข้าไปอยู่ในหลุมของสิ่งกระตุ้นเหล่านั้นเป็นเรื่องอันตรายมากเนื่องจาก “ฉันอาจไปเจออะไรเข้า แล้วเลือกไม่กินอาหารเย็น”

ณ จุดที่อาการกินอาหารผิดปกติกำเริบมาก ลอเรนไม่กินอะไรเลย หรือไม่ก็กินน้อยมาก

“ฉันแค่เลือกที่จะเมินเฉยต่อความหิวของตัวเอง” เธอเล่า “และเมื่อฉันเลือกที่จะกินอะไร ฉันก็จะกินแค่ในปริมาณที่น้อยมาก ฉันตื่นขึ้นมาและก็ยุ่งอยู่กับการทำงานมากจนเลื่อนการกินอาหารออกไปให้ได้นานที่สุด”

ลอเรนเล่าว่าเธอรู้สึกเหมือนทำร้ายตัวเองผ่านการปล่อยให้ตัวเองหิวไปเรื่อย ๆ “เมื่อฉันย้อนกลับไปดูรูปพวกนั้น มันชัดเจนว่าช่วงนั้นฉันป่วย”

ในที่สุดลอเรนก็เข้ารับการรักษาโรคกินอาหารผิดปกติเมื่อ มิ.ย. 2020

“เป็นเรื่องยากที่จะลดความรู้สึกกดดันบนอิสตาแกรม”

Facebook, Whatsapp and Instagram logos and stock graph are displayed through broken glass

ที่มาของภาพ, Reuters

อดีตพนักงานของเฟซบุ๊กและอินสตาแกรมยอมรับว่าแอปพลิเคชันทั้งสองเป็นปัจจัยหนึ่งที่สร้างความกดดันแก่ผู้ใช้งาน

เกร็ก ฮอชมุธ วิศวกรคอมพิวเตอร์คนแรก ๆ ที่ อินสตาแกรม อธิบายว่า “ความท้าทายของการทำให้อินสตาแกรมไม่ไปกดดันผู้ใช้งานเป็นเรื่องยากมาก หรืออาจจะเป็นไปไม่ได้ด้วยซ้ำ” เขายังเสริมว่าตัวเองรู้สึกถึงความเปลี่ยนแปลงหลังจากที่เฟซบุ๊กซื้ออินสตาแกรมในปี 2012

ฮานนา เรย์ อดีตผู้จัดการชุมชนของอินสตาแกรมเล่าว่าเธอเห็นคนธรรมดาจำนวนมากที่ประสบความสำเร็จบนแพลตฟอร์มนี้ แต่ก็มีคนอีกกลุ่มหนึ่งที่กังวลว่าจะตกงาน เพราะยอดคนติดตามน้อยเกินไป

เธออธิบายต่อไปว่ายอดผู้ติดตามบนอินสตาแกรมนับเป็นการแสดง “ความมีอิทธิพล” อย่างหนึ่ง และ “เราอาจไม่ตระหนักในตอนนั้นว่ากำลังส่งเสริมพฤติกรรมสร้างราชา”

คนวงในเหล่านี้ยังย้ำถึงประเด็นอัลกอริทึมของแอปพลิเคชันที่ถูกพัฒนาขึ้นมาผ่านการเขียนกฎเกณฑ์บางอย่างให้กับคอมพิวเตอร์ซึ่งอาจมีส่วนทำให้ปัญหาของผู้ใช้งานแต่ละคนเลวร้ายลง

ฟรานเซส ฮาวเกน อดีตพนักงานเฟซบุ๊กผู้ออกมาเปิดโปงงานวิจัยของอินสตาแกรมเองที่ระบุถึงผลกระทบทางลบของตัวแอปพลิเคชันต่อผู้ใช้งาน อธิบายว่า “คุณอาจจะมี … วันที่ไม่ค่อยดี และคุณอาจจะเข้าไปค้นหาบางอย่างบนอินสตาแกรมที่โดยปกติคุณจะไม่ค้นหา”

“ทันใดนั้น เสมือนว่าอัลกอริทึมมีเมล็ดพันธุ์ให้มันบ่มเพาะ และเพราะว่าเนื้อมีความรุนแรง … เมื่ออัลกอริทึมแสดงนื้อหาพวกนั้นมากขึ้น คุณก็จะยิ่งมีปฏิสัมพันธ์กับมันมากขึ้น”

Frances Haugen addressing a Senate hearing on internet safety, 5 October 2021

ที่มาของภาพ, Getty Images

มานิช รักคะวัน อดีตนักวิจัยด้านปัญญาประดิษฐ์ (เอไอ) ของเฟซบุ๊ก ระบุว่า “หากคุณต้องการเข้าใจว่าทำไมอินสตาแกรมถึงเป็นแบบที่มันเป็นในปัจจุบัน คุณต้องทำความเข้าใจอัลกอริทึมที่บงการให้มันเป็นแบบนี้ นี่คือผลลัพธ์จากการที่มนุษย์ช่วยเลือกให้”

ในปี 2016 อินสตาแกรมเปลี่ยนรูปแบบการแสดงเนื้อหาจากการเรียงตามเวลาเป็นแบบการใช้อัลกอริทึมแทน

“ฉันไม่เคยรู้ว่าการใช้ฟิลเตอร์จะทำร้ายกันได้ขนาดนี้”

การใช้ฟิลเตอร์เป็นอีกปัญหาหนึ่งที่ทั้งลอเรนและผู้ใช้งานรายอื่นต้องเผชิญ

ลอเรนเล่าว่ารูปภาพแทบทั้งหมดบนอินสตาแกรมล้วนถูกปรับแต่งด้วยทักษะขั้นสูงทั้งสิ้น “ตอนนั้นฉันเปรียบเทียบตัวเองกับคนที่ไม่มีอยู่จริง”

“ฉันใช้ฟิวเตอร์ตลอดเวลาบนอินสตาแกรม และฉันไม่เคยรู้เลยว่าการใช้ฟิวเตอร์จะทำร้ายกันได้ขนาดนี้”

โคล ไรซ์ นักออกแบบโลโก้แรกของอินสตาแกรมและฟิลเตอร์ดั้งเดิม 7 แบบอธิบายว่า อินสตาแกรมเริ่มให้บริการในช่วงเวลาเดียวกับไอโฟน 4 และตอนนั้นฟิลเตอร์ถูกออกแบบขึ้นมาชดเชยคุณภาพของกล้องที่ยังต่ำอยู่

“คุณจะรับรองได้ยังไงว่าเซลฟีจะออกมาสวย นั่นเป็นปัญหาที่เราพยายามแก้ไข และทำให้มั่นใจว่าเมื่อไหร่ก็ตามที่คุณถ่ายรูป ผิวของคุณจะดูดีเสมอ” เขาเสริม

แนวคิดของเขาเปลี่ยนไปตั้งแต่คุณภาพของกล้องพัฒนาขึ้น ตอนนี้เขาสนับสนุนให้มีการระบุว่ามีการใช้ฟิลเตอร์กับภาพบนอินสตาแกรม

“ถ้าคุณทำให้ผู้คนรับทราบว่ามีการใช้ฟิลเตอร์ นั่นจะเป็นเรื่องที่ดีเพราะพวกเขาจะได้รู้ว่าในมิติหนึ่งภาพเหล่านี้ผ่านการปรับแต่งมา” เขากล่าว “มันเป็นความรับผิดชอบของเราที่ต้องบอกสิ่งนี้กับผู้คน”

กฎหมายว่าด้วยคำเตือนว่าภาพถ่ายผ่านการปรับแต่งกำลังถูกผลักดันในรัฐสภาสหราชอาณาจักร และเริ่มมีการใช้จริงแล้วในนอร์เวย์และฝรั่งเศส

โคล ไรซ์ นักออกแบบโลโก้แรกของอินสตาแกรม

คำชี้แจงจากเมตา

เมตาซึ่งเป็นบริษัทแม่ของทั้งอินสตาแกรมและเฟซบุ๊กกล่าวว่านโยบายของบริษัทถูกออกแบบมาเพื่อลดความกดดันทางสังคมที่ผู้ใช้บางคนอาจรู้สึกได้

โฆษกหญิงของเมตาชี้ว่า “ผู้คนเข้ามายังอินสตาแกรมเพื่อแสดงออกถึงความเป็นตัวเอง เปิดโลก และเชื่อมต่อ” เธอเสริมว่า “ในปีที่แล้วเพียงปีเดียว เราทุ่มเงินราว 5,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ไปกับประเด็นความปลอดภัย (ของผู้ใช้งาน) และสิ่งนี้จะเป็นเรื่องสำคัญที่สุดของเราต่อไป”

เธออธิบายต่อว่าเมตาทำงานร่วมกับผู้เชี่ยวชาญจำนวนมากเพื่อพัฒนากฎและฟีเจอร์ที่ช่วยปกป้องผู้คนและมอบอิสระให้ผู้ใช้งานสามารถควบคุมประสบการณ์ของพวกเขาได้เอง “เราให้ความสำคัญอย่างมากกับสิ่งนี้และการทำให้ผู้คนรู้สึกดีระหว่างที่ใช้เวลาบนอินสตาแกรม”

ลอเรนเล่าว่าตอนนี้เธอใช้แพลตฟอร์มของตัวเองในการเผยแพร่เนื้อหาสนับสนุนให้ผู้คนหันมารักรูปร่างตัวเองและเลิกแต่งรูปไปแล้ว

“วันนั้นที่ฉันเริ่มงานนี้ ฉันไม่ได้นึกถึงเลยว่าการเปรียบเทียบตัวเองกับคนอื่นจะส่งผลกระทบต่อสุขภาพจิตของฉันมากขนาดนี้” เธอเสริมว่า “ถ้าฉันไถหน้าจอโทรศัพท์ 13 ชั่วโมงต่อวัน ก็ไม่ต้องสงสัยเลยว่ามันย่อมส่งผลลบ”

…………………………………………..

ข่าว BBCไทย ที่เผยแพร่ในเว็บไซต์ ข่าวสด เป็นความร่วมมือของสององค์กรข่าว

แท็กที่เกี่ยวข้อง

เรื่องอื่นที่น่าสนใจ