อาเรียล ออร์เตกา : อัจฉริยะผู้ถูกเรียกว่า "นิว มาราโดนา" และเคยตกสู่ด้านมืด

Home » อาเรียล ออร์เตกา : อัจฉริยะผู้ถูกเรียกว่า "นิว มาราโดนา" และเคยตกสู่ด้านมืด



อาเรียล ออร์เตกา : อัจฉริยะผู้ถูกเรียกว่า "นิว มาราโดนา" และเคยตกสู่ด้านมืด

“นิว มาราโดนา” คือฉายาที่สื่ออาร์เจนตินาพร้อมใจมอบให้นักเตะทุกคนในตำแหน่งตัวรุก ที่ใส่หมายเลข 10 และเริ่มฉายแววความเก่งขึ้นมา แม้ตอนนี้เราจะบอกได้ว่า คนที่เคยได้ฉายานี้และเก่งที่สุดคือ ลิโอเนล เมสซี่ ทว่าเขาไม่ใช่คนแรกที่ได้รับความกดดันและฉายานั้น

นี่คือเรื่องราวของ อาเรียล ออร์เตกา เพลย์เมคเกอร์หมายเลข 10 ทีมชาติอาร์เจนตินา ที่พยายามจะเข้าใกล้ มาราโดนา ให้ได้มากที่สุด … แต่สุดท้ายก็ปิดเส้นทางของตัวเองอย่างรวดเร็วเหลือเชื่อ

ติดตามเรื่องราวทั้งหมดได้ที่นี่

ผู้สัมผัสกับ มาราโดน่า โดยตรง 

ในฟุตบอลโลกที่สหรัฐอเมริกา เมื่อปี 1994 ดิเอโก มาราโดนา ในวัย 30 กว่า ๆ รับบทบาทหมายเลข 10 ของทีมชาติ อาร์เจนติน่า เพื่อล่าแชมป์โลกสมัยที่ 3 ทว่าในรายการนั้นไม่ใช่ช่วงเวลาที่ดีของเขาเท่าไรนัก 

“เสือเตี้ย” ยิงไป 1 ประตู ในเกมกับ กรีซ และนั่นคือประตูส่งท้ายในนามทีมชาติของเขา เนื่องจากมีการตรวจพบสารกระตุ้นในภายหลังจนโดนขับออกจากทีมชุดฟุตบอลโลก ทิ้งไว้เพียงตำนานผู้ได้ชูถ้วยแชมป์โลก นักเตะตัวรุกที่แพรวพราว และเต็มไปด้วยเล่ห์เหลี่ยมมากที่สุดในประวัติศาสตร์ฟุตบอลอาร์เจนตินา 

ทุกคนเริ่มมองหาคนมาแทนที่ และหลายคนสงสัยว่าใครจะก้าวขึ้นมารับตำแหน่งจอมทัพหมายเลข 10 และช่องว่างที่ มาราโดนา ทิ้งไว้ ณ เวลานั้น และคำตอบนั้นมีเพียงคำตอบเดียว คือชื่อ “เบอร์ริโต” หรือ อาเรียล ออร์เตกา เพลย์เมคเกอร์ของสโมสร ริเวอร์เพลท

 

มองจากรูปลักษณ์ภายนอก ออร์เตกา นั้นก็คล้าย มาราโดนา อยู่ไม่หยอก เขาสูง 170 เซนติเมตร (มาราโดนา สูง 165 เซนติเมตร) เป็นนักเตะตำแหน่งตัวรุกหมายเลข 10 มีลักษณะการเล่นทีมพริ้วไหว หลักแหลม และมีประสิทธิภาพ ตามแบบฉบับตัวรุกอเมริกาใต้ เพียงแต่ว่าเขานั้นถนัดเท้าขวา ต่างกับ มาราโดนา ที่ถนัดเท้าซ้ายเท่านั้นเอง

ในช่วงปลายยุคของ มาราโดนา นั้น ออร์เตกา มีโอกาสได้สัมผัสและสนิทสนมกับเสือเตี้ยโดยตรง ในฐานะนักเตะหน้าใหม่ในทีมชาติ มาราโดนา เองก็เอ็นดู ออร์เตกา ในช่วงวัยรุ่นเหมือนน้องชายคนหนึ่ง แม้ว่าทั้งคู่จะมีรากฐานจากความเป็นคู่แค้นก็ตาม (มาราโดนา เป็นตำนานของ โบคา จูเนียร์ส ส่วน ออร์เตกา คือนักเตะอันดับ 1 ของ ริเวอร์เพลท) 


Photo : www.rosario3.com

“ในวันที่เขาขึ้นมาใหม่ ๆ มีหลายคนบอกว่า เอล เบอร์ริโต คงยากจะเกิดเพราะเขาตัวเล็กเกินไป แต่ผมคิดว่าเขาฉลาดมากนะเท่าที่ได้เจอกัน เราสนิทกันพอสมควรในแคมป์ทีมชาติ ผมเป็นบัดดี้ร่วมห้องกับเขาอยู่พักหนึ่ง แต่หลังจากนั้นเขาก็ถูกจับแยกจากผมไป อาจจะเป็นเพราะผู้บริหารจากสโมสรของเขาคิดว่า ผมจะยัดอะไรไม่ดี ๆ ใส่หัวสมองของเขาก็เป็นได้นะ” มาราโดนา ผู้ล่วงลับว่าถึงรุ่นน้องคนสนิท 

นั่นอาจเป็นการตัดสินใจที่เกิดจากความเกลียดชัง และนำมาสู่การจับแยกที่น่าเสียดายที่สุด จริง ๆ แล้วเขาควรจะต้องอยู่กับ มาราโดนา ให้มาก ๆ เข้าไว้ เพราะทั้งคู่มีอะไรที่คล้ายกันมากจริง ๆ มาราโดนา ชอบปาร์ตี้, ดื่มเหล้า และเสพยาเสพติด ซึ่ง ออร์เตกา เองก็ไม่ต่างกันนัก ในฐานะชาวอาร์เจนตินาที่เกิดและโตใน คูคุย จังหวัดที่มีปัญหายาเสพติดและอาชญากรรมมากเป็นอันดับต้น ๆ ของประเทศ 

 

พวกเขาเลือดร้อน แต่ก็มีพรสวรรค์ และมีความศิลปินในตัว วันใดพวกเขาสามารถสะกดร่างมารไม่ให้เผยโฉมได้ พวกเขาจะลงสนามแบบไม่มีใครไล่ตามทัน แต่ถ้าวันไหนพวกเขาไม่สามารถเก็บทรงได้ ร่างมารก็จะเข้าแทรก และทำให้ผลงานออกทะเลไปไกลแสนไกล … ซึ่งจุดนี้แหละที่มีความแตกต่างกันอยู่พอสมควร 

มาราโดนา คือคนที่สะกดร่างมารได้เก่งกาจที่สุดในโลกคนหนึ่ง เมื่ออยู่นอกสนามเขาทำอะไรต่าง ๆ ที่นักฟุตบอลอาชีพไม่ควรทำมากมาย แต่เมื่อลงสนามแล้วน้อยครั้งที่นักเตะอย่าง มาราโดน่า จะเล่นไม่ดี … เรียกได้ว่าชีวิตของเขาแบ่งเป็น 2 พาร์ทได้อย่างมีประสิทธิภาพสุด ๆ แม้จะเละขนาดไหน แต่หน้าที่หลักนั้นเขาสามารถรับผิดชอบมันได้เสมอ … จุดนี้ของ “เสือเตี้ย” คือจุดที่ ออร์เตกา ควรจะได้ซึมซับมามากกว่านี้ ถ้าไม่โดนผู้ใหญ่ห้ามไว้เสียก่อน 


Photo : www.infobae.com

“ย้อนกลับไปสมัยเด็ก ๆ ผมอยู่กับ มาราโดนา ตลอด แทบจะตัวติดกันเลย ตอนแรกผมไม่กล้าที่จะคุยกับเขาด้วยซ้ำ แต่เมื่อมันเกิดขึ้น สิ่งที่น่าเหลือเชื่อก็ตามมา เขาได้บอกถึงการเป็นคนที่สามารถควบคุมอะไรก็ได้ตามที่ตัวเองต้องการ”

“ผมรักเขาในฐานะมนุษย์คนหนึ่ง ผมกับเขาคือคนโง่ที่โดนหลอกล่อและดึงดูดเข้ากับด้านมืด แต่ในช่วงเวลานั้น คุณต้องการคำแนะนำและอ้อมกอดจากคนอย่าง มาราโดนา นี่แหละ” ออร์เตกา เปิดเผยถึงความในใจ และความสัมพันธ์ของเขากับ มาราโดนา ในภายหลัง

พิสูจน์สิว่าคุณดีพอ 

ณ เวลานั้นหรือช่วงต้นยุค 90s ระยะห่างของทีมในลีกอเมริกาใต้และยุโรปเริ่มจะปรากฎชัดขึ้นเรื่อย ๆ ตามความนิยมและการบริหารที่นำเม็ดเงินเข้ามามากมาย นักเตะเก่ง ๆ ในอเมริกาใต้จะต้องออกมาพิสูจน์ตัวเองในลีกยุโรปเพื่อพิสูจน์ตัวเองว่าพวกเขาเก่งจริง และ ออร์เตกา ก็โดนตั้งคำถามดังกล่าวในช่วงที่เขารุ่งโรจน์กับ ริเวอร์เพลท ด้วย เขาต้องพิสูจน์ความจริง 2 ข้อพร้อม ๆ กัน นั่นคือการเป็นตัวแทนของ มาราโดนา และการไปเล่นในลีกยุโรปเพื่อเป็นนักเตะแนวหน้าของโลก

ออร์เตกา เองก็เป็นเช่นนั้น เขาไม่มีทางจะได้รับการยอมรับหากประสบความสำเร็จแต่ในบ้านเกิด เขาอาจจะพา ริเวอร์เพลท คว้าแชมป์ลีกถึง 4 สมัยภายในเวลา 5 ปี ได้รับรางวัลนักเตะยอดเยี่ยมประจำฤดูกาลอีก 3 ครั้ง และนักเตะที่ดีที่สุดแห่งทวีปอเมริกาใต้อีก 2 ครั้ง (1994 และ 1996) แต่มันจะดีกว่าหากเขาย้ายออกมาเล่นในยุโรป เพราะที่นี่คือที่เดียวที่จะทำให้เขาลบคำสบประมาททั้งหมด

ออร์เตกา ย้ายจาก ริเวอร์เพลท ไปที่ บาเลนเซีย แห่ง ลาลีกา สเปน ในปี 1996 เขาออกสตาร์ทได้ดีในฐานะผู้มาใหม่ 29 นัดยิง 9 ลูก และเป็นนักเตะคนสำคัญของทีมในทันที ตอนนั้นทุกคนคิดแล้วว่า แม้ไม่ใช่ก็ใกล้เคียงสำหรับตำแหน่งตัวแทนของ มาราโดนา เพราะฟอร์มที่ร้อนแรงของ ออร์เตกา นั้นประจวบเหมาะกับช่วงซัมเมอร์ปี 1998 ที่ฟุตบอลโลกจะแข่งขันพอดิบพอดี ซึ่ง ณ เวลานั้น ด้วยคุณภาพการเล่น เขาคือคนเดียวที่เหมาะสมสำหรับเสื้อหมายเลข 10 ในยุคที่ อาร์เจนตินา ไร้ซึ่ง มาราโดนา

 

ในฟุตบอลโลกครั้งนั้น ออร์เตก้า ได้รับการจับตาตั้งแต่ทัวร์นาเมนต์เริ่ม เขามีงานโฆษณาและปรากฏตัวผ่านสื่อมากมาย ซึ่งเมื่อลงสนามก็คงต้องบอกว่าเขาทำหน้าที่ได้ดีจนหลายคนยอมรับ แม้จะไม่มีใครวิเศษเท่า มาราโดนา แต่สิ่งที่ ออร์เตกา ทำก็สร้างความแตกต่างได้ เขาเป็นผู้ช่วยสนับสนุนที่ดีของ กาเบรียล บาติสตูตา เขาทำให้ บาติโกล ยิงได้ถึง 5 ลูก คว้ารางวัลรองดาวซัลโวของทัวร์นาเมนต์ ขณะที่ตัวของเขาเอง ยิงไป 2 ลูก และพาทีมผ่านไปถึงรอบ 8 ทีมสุดท้าย ก่อนจะแพ้ให้กับ เนเธอร์แลนด์ ซึ่งในเกมนั้นเป็นเกมที่ทำให้เขาโดนค่อนขอดว่า “ไม่เห็นเหมือน มาราโดนา เลยสักนิด” 

เหตุการณ์ดังกล่าวเกิดขึ้นในช่วงที่เกมเสมอกัน 1-1 อาร์เจนตินา ไล่บดบี้ เนเธอร์แลนด์ อยู่ฝั่งเดียวเพราะมีผู้เล่นมากกว่า 1 คน หลังจาก อาเธอร์ นูมัน โดนไล่ออกในนาทีที่ 76 …  

หลังจากนั้น ออร์เตกา ได้บอลและเลี้ยงตะลุยเข้ากรอบเขตโทษก่อนจะโดนชนล้มลงไป แม้จะบางเบาแต่นักเตะอเมริกาใต้รู้ดีว่าต้องทำอย่างไรเมื่อโดนสัมผัสตัวในกรอบเขตโทษ ออร์เตกา ทิ้งตัวล้มทันทีเพื่อหวังจุดโทษสำหรับประตูชัย ทว่าผู้ตัดสินไม่ให้

เขาโดน เอ็ดวิน ฟาน เดอร์ ซาร์ นายทวารของทัพอัศวินสีส้ม เข้ามาด่าที่พยายามตบตาผู้ตัดสิน และวินาทีนั้นสติของ ออร์เตกา ก็ขาดผึง เขาพุ่งศีรษะตัวเองเข้าใส่หมายจะทำท่าเฮดบัตต์ แต่ด้วยความสูงที่ต่างกัน 27 เซนติเมตร (ฟาน เดอ ซาร์ สูง 197 เซนติเมตร) จุดหมายที่หัวของ ออร์เตกา ไปกระแทกอีกฝ่ายจึงเป็นคางของ ฟาน เดอร์ ซาร์ … จะตำแหน่งไหนก็ช่าง เพราะสุดท้ายเขาเองนั่นแหละที่เป็นฝ่ายโดนใบแดง

 

“ผมแค่เห็น ออร์เตกา วิ่งชน ยาป สตัม และทิ้งตัวเอาจุดโทษ ผมเลยไปบอกเขาถึงการกระทำที่น่าอาย จากนั้นเขาก็หงุดหงิดทันที และลุกยืนอย่างรวดเร็ว เปรี้ยง ! แว้บเดียวเท่านั้นเอง” ฟาน เดอร์ ซาร์ เล่าหลังโดนหัวกระแทกคางไปเต็ม ๆ 

ฟุตบอลโลกครั้งนั้น แทนที่ ออร์เตกา จะได้เกิดในด้านดี แต่ความผิดพลาดนั้นทำให้เขาโดนวิจารณ์หนักกว่าเดิม และนั่นคือจุดแตกต่างระหว่างเขากับ มาราโดนา … กล่าวคือเขาอารมณ์ร้อนและเล่นตุกติก เพียงแต่ว่าเขาทำได้ไม่เนียนพอ และตัดสินใจได้ไม่ดีพอ แทนที่จะทำให้ทีมได้ประโยชน์ กลับกลายเป็นฝ่ายตัวเองต้องเสียเปรียบ เพราะ ณ เวลานั้นหากเขาไม่โดนใบแดง อาร์เจนตินา จะได้เล่นต่อเวลาโดยที่มีผู้เล่นมากกว่า และโอกาสที่จะเป็นฝ่ายเอาชนะย่อมมีมากกว่าอยู่แล้ว แต่เมื่อเขามาโดนไล่ออกไป กลายเป็นเหลือ 10 ต่อ 10 จากที่ ฮอลแลนด์ รับฝ่ายเดียว พวกเขาก็กล้าบุกและได้ประตูชัยในนาทีสุดท้ายของเกมจากการยิงของ เดนนิส เบิร์กแคมป์ ซึ่งประตูนั้นทำให้ อาร์เจนตินา ตกรอบแบบเจ็บปวด และ ออร์เตกา ก็เป็นฝ่ายต้องรับคำวิจารณ์ เป็นแพะรับบาปไปโดยปริยาย 

“ตอนที่ผมเห็นหัวของผมกระแทกกับคางของ ฟาน เดอร์ ซาร์ ผมแทบอยากจะฆ่าตัวตายตรงนั้น มันเป็นช่วงเวลาที่ยากลำบากที่สุดในชีวิตผมเลย มันยังเป็นแผลในใจไม่หายสักที ผมอยากให้ทุกคนรุมต่อว่าและทำร้ายผมด้วยซ้ำ เพราะผมรู้สึกจริง ๆ ว่าที่ทีมแพ้เป็นเพราะผมคนเดียว” ออร์เตกา กล่าว

ไปไม่เป็นเมื่อเล่นในยุโรป 

หลังจากจบฟุตบอลโลกปี 1998 ออร์เตกา ที่โชว์ฟอร์มชนิดที่ขึ้นอย่างหงส์ แต่ลงอย่างเสียหลักยังคงได้ไปต่อในเส้นทางฟุตบอลยุโรป  

ว่ากันว่า ณ ตอนนั้น ถ้านักเตะคนไหนจะแจ๋วจริงต้องไป อิตาลี ลีกที่รวมเอานักเตะดีที่ที่สุดในโลกเข้าไว้ด้วยกัน และทีมที่ยื่นซื้อเขาในเวลานั้นคือ ซามพ์โดเรีย เนื่องจากในเวลานั้น “ลา ซามพ์” เพิ่งจะขาย ฮวน เซบาสเตียน เวรอน ให้กับ ปาร์มา พวกเขาจึงต้องการใครสักคนมาแทนที่ ซึ่งสุดท้าย ซามพ์โดเรีย จ่ายเงินถึง 23 ล้านลีร์ หรือราว ๆ 8 ล้านปอนด์ คว้าตัว ออร์เตกา มาร่วมทีม ซึ่งย้อนกลับไปในปี 1998 เงินจำนวนนี้ถือว่าเยอะเอาเรื่องเลยทีเดียว 


Photo : www.hellosport.it

ปีแรกกับ ลา ซามพ์ เขายิงได้ 8 ลูก จากการลงเล่นเกมลีก 27 นัดแต่เขามีปัญหาเรื่องวินัยและทัศนคติ แม้จะเด่นในฐานะตัวคนเดียว แต่ในการเล่นเป็นทีมนั้นล้มเหลว ซามพ์โดเรีย ตกชั้นในปีนั้น จากนั้นพวกเขาก็ทำตามโมเดลเดิม นั่นคือการขายเขาต่อให้กับ ปาร์มา ด้วยราคา 28 ล้านลีร์ หรือ 9.5 ล้านปอนด์ และผลงานก็ยังไม่ดีขึ้น ยิงได้แค่ 3 ประตูเท่านั้น หากเทียบกับ เวรอน ที่พา ปาร์มา คว้าแชมป์ ยูฟ่า คัพ ก่อนย้ายไป ลาซิโอ นั้น ต้องบอกว่าผลงานของ ออร์เตกา ห่างชั้นกันพอสมควรเลยทีเดียว 

เขาไม่ประสบความสำเร็จอีกเลยในการค้าแข้งในยุโรปหลังจากนั้น ช่วงเวลาที่ดีที่สุดหลังยุค 2000s คือการย้ายกลับมาเล่นให้กับ ริเวอร์เพลท อีกครั้ง เพราะที่นี่คือที่ที่ให้อิสระกับเขาอย่างเต็มที่ ต่างจากในยุโรปที่ต้องใช้ความพยายามมากกว่าความเป็นศิลปินที่เขามี ทุกครั้งที่ ออร์เตกา ทำผลงานได้ดีในลีก อาร์เจนตินา สื่อในอิตาลีเสียดสีเขาในแง่ที่ว่า “เด็ดขาดเสมอเมื่อเล่นในอาร์เจนตินา แต่ไร้ประโยชน์ที่อิตาลี”

ความแตกต่างที่ชัดเจนของ ออร์เตกา กับ มาราโดนา ไม่ใช่แค่ความเด็ดขาดในสนาม แต่รวมถึงการวางตัวนอกสนามด้วย ในขณะที่ มาราโดนา สนุกสนานกับการปรับตัว เขาใช้เวลาไม่นานก้าวขึ้นมาเป็นพี่ใหญ่ที่ นาโปลี และเป็นทุกอย่างของสโมสร ไปไหนก็มีแต่คนรัก แต่ ออร์เตกา นั้นเก็บตัวเงียบ ไม่มีสังคมกับเพื่อนร่วมทีม หนำซ้ำเรื่องการติดเหล้าก็ยังเป็นอีกหนึ่งปัจจัยที่ทำให้เขาทำผลงานได้ไม่ดีนักในการเล่นในยุโรป เหมือนกับที่ มาราโดนา ทำได้ 

และมันตอกย้ำอีกครั้งเมื่อเขากลับมาเล่นในยุโรปช่วงสั้น ๆ กับ เฟเนร์บาห์เช ทีมในลีกตุรกี เพราะเขามีปัญหาเรื่องพฤติกรรม โดยเฉพาะการโดดแคมป์ ไม่กลับมาซ้อมกับทีมหลังภารกิจเกมทีมชาติเมื่อเดือนเมษายน 2003 จนโดนแบน 4 เดือน และถูกยกเลิกสัญญาก่อนกำหนด นอกจากนี้เขายังเริ่มติดเหล้าและกลายเป็นโรคพิษสุราเรื้อรังอีกด้วย 

เช่นเดียวกันกับฐานะนักเตะหมายเลข 10 ของ อาร์เจนตินา เสื้อเบอร์นี้ใหญ่เกินไปกว่าที่ ออร์เตกา จะรับผิดชอบ เขาได้ลงเล่นในฟุตบอลโลกปี 2002 อีกครั้ง นั่นคือปีที่แย่ที่สุดของทัพฟ้า-ขาว เพราะทีมตกรอบแรก และโดนมองว่าเป็นทีมชุดที่เลวร้ายที่สุดในรอบ 20 ปี เลยทีเดียว 

“ในฟุตบอลโลกปี 2002 หลังจากพ่ายแพ้ให้กับ สวีเดน ผมเป็นนักเตะคนแรกที่เดินเข้าไปในห้องล็อคเกอร์ สิ่งแรกที่ผมเห็นคือ มาร์เซโล บิเอลซา กำลังร้องไห้ ตอนนั้นใจผมตกไปอยู่ที่ตาตุ่มเลย ผมรู้สึกผิดที่ไม่สามารถช่วยเหลือทีมได้ดีกว่านี้ นั่นคือช่วงเวลาที่ผมเสียใจที่สุดในอาชีพค้าแข้งของผม” ออร์เตกา ว่าไว้ 

นาทีนั้นไม่มีใครเข้าใจ ออร์เตกา ได้มากกว่า มาราโดนา อีกแล้ว ทุกปัญหาที่เกิดขึ้นคล้าย ๆ กันในแง่ของพฤติกรรม แตกต่างก็เพียง ออร์เตกา ควบคุมมันไม่ได้ ขณะที่ มาราโดนา โดดเด่นจนวินาทีสุดท้ายที่ประกาศแขวนสตั๊ด 

ในปี 2006 ออร์เตกา กลับไปเล่นให้กับ ริเวอร์เพลท ในรอบที่ 3 แต่ผลงานรอบนี้ตกต่ำไปมาก เขาติดเหล้าหนักยิ่งกว่าเดิม และเริ่มขาดซ้อมจนแม้กระทั่งทีมที่เป็นเหมือนบ้านก็ไม่สามารถให้เขาอยู่ต่อไปได้ โดย ณ เวลานั้นคนที่คุมทีมคือ ดิเอโก ซิเมโอเน อดีตเพื่อนร่วมทีมของเขานั่นเอง … การบีบให้ย้ายทีมจึงเกิดขึ้น นั่นทำให้ มาราโดนา ถึงกับต้องออกตัวแทนรุ่นน้องเลยทีเดียว

“เขากำลังป่วย เอล เบอร์ริโต ออร์เตกา ต้องได้รับความช่วยเหลือ การปล่อยเขาออกจากทีมไม่ใช่วิธีแก้ปัญหาที่ถูกต้อง คุณต้องเริ่มมองเขาในฐานะมนุษย์คนหนึ่งได้แล้ว ถ้าไม่มีใครช่วยเขา เขาจะแย่กว่านี้อีกเยอะ เขาต้องได้รับการรักษา” มาราโดนา ที่เคยผ่านประสบการณ์ติดยาจนต้องเข้ารับการบำบัดกล่าวอย่างเห็นใจ 

ซึ่งท้ายที่สุดการออกตัวช่วยน้องของ มาราโดนา ทำให้ อินดิเพนเดียนเต ริวาดาเวีย ในลีกรอง ยื่นข้อเสนอให้กับ ออร์เตกา โดนยื่นคำขาดว่าเขาจะได้รับสัญญาก็ต่อเมื่อเขาเข้าบำบัดเลิกเหล้าอย่างจริงจัง ซึ่งนั่นคือโอกาสครั้งสุดท้ายที่ ออร์เตกา ได้รับ เขาเลิกมันได้จริง ๆ จากนั้นก็เล่นให้กับ อินดิเพนเดียนเต 1 ปี ด้วยสภาพร่างกายและจิตใจที่ดีขึ้น กระทั่งเขาได้กลับมาเล่นให้ ริเวอร์เพลท เป็นหนที่ 4 ในปี 2009 ซึ่งในปีนั้น เขาอายุ 36 ปี แต่กลับเล่นได้มากจนถึงขั้นถูกเรียกตัวติดทีมชาติชุดใหญ่ครั้งแรกในรอบ 7 ปีเลยด้วยซ้ำ 

น่าเสียดายว่าเป็นช่วงบั้นปลายแล้ว การได้รับความช่วยเหลือและเข้าใจถึงปัญหาของ ออร์เตกา มาช้าจนเกินไป เขาดีในตอนที่สาย และคิดได้ในตอนที่ไม่เหลือเวลา ในช่วงที่สภาพจิตใจพร้อม ร่างกายของเขาก็ไม่ไหวเสียแล้ว และนั่นทำให้เขาต้องประกาศแขวนสตั๊ดในปี 2012 ปิดตำนานหมายเลข 10 ของ ริเวอร์เพลท แบบไปได้ไม่สุดทาง

หากเขารู้จักความคิดของตัวเองและเข้าใจความเป็นไปของฟุตบอล รู้จักปรับตัวและมีความทะเยอทะยานมากกว่านี้ ออร์เตกา อาจจะเป็น “นิว มาราโดนา” คนแรกที่ไปถึงฝั่งฝัน และประสบความสำเร็จสูงสุดก่อน เมสซี่ ก็เป็นได้ …

แต่นี่ก็แค่เรื่องสมมติ เพราะที่สุดแล้วฝีเท้าของเขาไปไม่พร้อมกับทัศนคติ ทำให้ทุกอย่างโดนฉุดลงไปในเวลาอันรวดเร็ว ซึ่งนั่นเป็นปัญหาของนักเตะอเมริกาใต้หลายคน …  

สิ่งเดียวที่ได้เรียนรู้จากการได้รับฉายา “นิว มาราโดนา” นั้นคือ ทำให้โลกได้รู้ว่าสิ่งที่ มาราโดนา ทำไว้นั้นยากขนาดไหน ดาวรุ่งมากพรสวรรค์มากมายอีกเป็นสิบ ๆ คนได้ฉายานี้ และไปได้ไม่ถึงครึ่งทางที่ “เสือเตี้ย” ทำไว้ 

อาเรียล ออร์เตกา, ปาโบล ไอมาร์, ฮวน โรมัน ริเกลเม หรือแม้แต่ ฮาเวียร์ ซาวิโอลา ไม่ว่าตอนเด็กพวกเขาจะเก่งแค่ไหน แต่ก็ไม่มีใครทำได้สมฉายาเสียที … หากไม่ใช่นักเตะระดับนอกโลกอย่าง เมสซี่ ดีไม่ดีฉายา “นิว มาราโดนา” และอาถรรพ์ของฉายานี้ อาจจะคงอยู่ไปตลอดกาลก็เป็นได้ 

แท็กที่เกี่ยวข้อง

เรื่องอื่นที่น่าสนใจ