อาหารที่ควร-ไม่ควรกิน หากเสี่ยงเป็น "โรคเกาต์"

Home » อาหารที่ควร-ไม่ควรกิน หากเสี่ยงเป็น "โรคเกาต์"
อาหารที่ควร-ไม่ควรกิน หากเสี่ยงเป็น "โรคเกาต์"

กรดยูริกในเลือดที่สูง นอกจากจะเป็นปัจจัยเสี่ยงทำให้เกิดโรคเกาต์,โรคนิ่ว และโรคไตอักเสบแล้ว อาจมีผลต่อผู้ป่วยที่มีปัญหาหูอื้อ เสียงดังในหู และบ้านหมุนได้ โดยจะทำให้เส้นเลือดหดตัว เลือดไปเลี้ยงประสาทหูและอวัยวะทรงตัวได้น้อย จึงทำให้เกิดปัญหาเกี่ยวกับการได้ยินและการทรงตัวได้

กรดยูริกในร่างกาย เกิดจากการสร้างขึ้นในร่างกาย ประมาณร้อยละ 80 และมาจากอาหารที่รับประทานเข้าไป ร้อยละ 20 กรดยูริกนี้จะถูกขับออกจากร่างกายทางปัสสาวะ ประมาณร้อยละ 67 และทางอุจจาระประมาณร้อยละ 33 การที่มีกรดยูริกในเลือดสูง เกิดจากร่างกายมีการสร้างกรดยูริกมากกว่าปกติ หรือรับประทานอาหารที่มีสาร “พิวรีน”สูง ซึ่งสารนี้จะเปลี่ยนเป็นกรดยูริกในเลือด ทำให้มีระดับกรดยูริกในเลือดสูงผิดปกติ

“กรดยูริก” คืออะไร ?

กรดยูริก” เป็นสารที่เกิดขึ้นภายในร่างกายของเรา โดยสามารถสร้างขึ้นได้เองถึง 80% ส่วนอีก 20% นั้นจะนำเข้ามาจากการรับประทานอาหารที่ประกอบด้วยสารพิวรีน ซึ่งสารพิวรีนจะสามารถพบได้ในอาหารจำพวกสัตว์ปีก เครื่องในสัตว์ พืชผักบางชนิด และอาหารทะเลบางอย่าง

หากร่างกายมี “กรดยูริก” มากเกินไปจะส่งผลอย่างไร ?

โดยปกติแล้ว ในร่างกายของเราจะขับส่วนที่เกินของกรดยูริกออกผ่านทางปัสสาวะ แต่ภายในร่างกายของบางคนจะไม่สามารถขับกรดยูริกออกไปได้หมด ทำให้เกิดการสะสมภายในร่างกาย โดยเฉพาะบริเวณกระดูก ผนังหลอดเลือด และไต (ไต เป็นอวัยวะที่ทำหน้าที่ฟอกเลือด + ขับกรดยูริกออกทางปัสสาวะ) ฉะนั้น เมื่อร่างกายขับกรดยูริกออกมาได้ไม่หมดก็จะทำให้เกิดเป็นตะกอน เกิดการสะสม เมื่อนานเข้าอาจทำให้เกิดโรคเกาต์ได้

ดังนั้นผู้ที่มีกรดยูริกในเลือดสูงผิดปกติ ควรงดอาหารที่มีสารพิวรีนสูง (ข้อ 1) และลดปริมาณอาหารที่มีสารพิวรีนปานกลาง (ข้อ 2)

  1. อาหารที่ควรงด(มีพิวรีนสูง) ได้แก่

          – เครื่องในสัตว์ เช่น ตับ,ตับอ่อน,ไส้,ม้าม,หัวใจ,สมอง,กึ๋น,เซ่งจี๊

          – น้ำเกรวี, กะปิ, ยีสต์

          – ปลาดุก, กุ้ง, หอย, ปลาอินทรีย์, ปลาไส้ตัน

          – ปลาซาร์ดีน, ไข่ปลา

          – ชะอม, กระถิน, เห็ด

          – ถั่วแดง, ถั่วเขียว, ถั่วเหลือง, ถั่วดำ

          – สัตว์ปีก เช่น เป็ด, ไก่, ห่าน

          – น้ำสกัดเนื้อ, ซุปก้อน

  2. อาหารที่ควรลด (มีพิวรีนปานกลาง) ได้แก่

          – เนื้อสัตว์ เช่น หมู, วัว

          – ปลาทุกชนิด(ยกเว้น ปลาดุก, ปลาอินทรีย์, ปลาไส้ตัน, ปลาซาร์ดีน)และอาหาร

            ทะเล เช่น ปลาหมึก, ปู

          – ถั่วลิสง, ถั่วลันเตา

          – ผักบางชนิด เช่น หน่อไม้, หน่อไม้ฝรั่ง, ดอกกะหล่ำ, ผักโขม,สะตอ,ใบขี้เหล็ก

          – ข้าวโอ๊ต

          – เบียร์ เหล้าชนิดต่าง ๆ เหล้าองุ่น ไวน์(ทำให้การขับถ่ายกรดยูริกทางปัสสาวะลดลง ระดับกรดยูริกในเลือดสูงขึ้นอย่างรวดเร็ว)

  3. อาหารที่รับประทานได้ตามปกติ (มีพิวรีนน้อย) ได้แก่

          – ข้าวชนิดต่าง ๆ ยกเว้น ข้าวโอ๊ต

          – ถั่วงอก, คะน้า

          – ผลไม้ชนิดต่างๆ

          – ไข่

          – นมสด, เนย และเนยเทียม

          – ขนมปัง ขนมหวาน หรือน้ำตาล

          – ไขมันจากพืช และสัตว์ 

อ่านบทความเพิ่มเติม >>>>>  SIRIRAJ  E-PUBLIC  LIBRARY
ขอบคุณเนื้อหาจาก 
รศ.นพ.ปารยะ อาศนะเสน
ภาควิชาโสต นาสิก ลาริงซ์วิทยา
Faculty of Medicine Siriraj Hospital
คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล 
ภาพประกอบจาก istockphoto

แท็กที่เกี่ยวข้อง

เรื่องอื่นที่น่าสนใจ