เคยสังเกตกันบ้างหรือเปล่าว่าทำไมเวลาอากาศร้อนๆ ถึงได้รู้สึกปวดศีรษะหรือปวดหัว อาการเหล่านี้มีชื่อเรียกในภาษาอังกฤษว่า Heat Headache หรืออาการปวดศีรษะจากความร้อนนั่นเอง และเหตุใดถึงมีความสัมพันธ์กัน Tonkit360 มีคำตอบมาฝากกัน
ปัจจัยที่ทำให้เกิดอาการ Heat Headache
อาการปวดหัวจากความร้อนอาจเกิดจากหลายปัจจัย ทั้งอุณหภูมิจากภายนอกตัวอาคาร หรือจากสภาพแวดล้อมที่ต้องทำงานในสภาพอากาศที่ร้อนจัด หรือเป็นผลข้างเคียงของอาการเจ็บป่วยที่เกี่ยวข้องกับความร้อน
ทั้งนี้ สภาพอากาศร้อนเป็นตัวกระตุ้นที่ทำให้ปวดศีรษะได้ เพราะเมื่ออากาศร้อนขึ้น ความชื้นและความดันบรรยากาศจะเปลี่ยนแปลงไป ทำให้กระบวนการสร้างสารเคมีในสมองเปลี่ยนแปลงไปด้วย จึงเป็นตัวกระตุ้นที่ทำให้เกิดอาการปวดศีรษะขึ้นได้
นอกจากนี้ อากาศร้อนยังส่งผลต่อการเพิ่มปริมาณของสาร “เซโรโทนิน” ในสมอง ซึ่งเป็นฮอร์โมนที่ทำให้เกิดความเครียดได้ เมื่อมีความเครียดเพิ่มขึ้น จึงมีความเป็นไปที่จะทำให้เกิดอาการปวดศีรษะได้เช่นกัน อีกทั้งยังมีปัจจัยอื่นๆ ร่วมด้วย อาทิ แสงจ้าของดวงอาทิตย์ อาการอ่อนเพลียจากความร้อน และโรคลมแดด (Heat Stroke)
อย่าละเลยภาวะขาดน้ำ!
เมื่ออุณหภูมิภายนอกสูงขึ้น ร่างกายจึงต้องการของเหลวมากขึ้น เพื่อให้อวัยวะต่าง ๆ ทำงานได้อย่างสมดุล หลังจากขับเหงื่อออกมาเพื่อทำให้ร่างกายเย็นลง ซึ่งทำให้ร่างกายสูญเสียโซเดียมและน้ำไป
หากดื่มน้ำไม่เพียงพอในสภาพอากาศที่ร้อนจัด อาจทำให้เกิดภาวะขาดน้ำขึ้นได้ ซึ่งจะส่งผลให้หลอดเลือดในสมองเกิดการหดตัว และทำให้เกิดอาการปวดศีรษะตามมา ดังนั้น จึงควรหมั่นจิบน้ำตลอดทั้งวัน และควรหลีกเลี่ยงการดื่มน้ำเย็นจัด เพราะจะทำให้ร่างกายปรับอุณหภูมิไม่ทัน
ส่วนโรคลมแดดก็เป็นภาวะอันตรายที่ไม่ควรมองข้าม ซึ่งสัญญาณเตือนอย่างแรกที่สังเกตได้คือ อาการปวดศีรษะ เวียนหัว อุณหภูมิในร่างกายสูงขึ้น รวมถึงอาจเกิดอาการผิดปกติอื่นๆ อาทิ สับสน พูดไม่ชัด และอาจรุนแรงถึงขั้นเกิดอาการชักเกร็งได้
ถ้าไม่เกี่ยวกับอากาศร้อน ตำแหน่งที่ปวดหัวอาจบอกโรคได้!
หากอาการปวดศีรษะไม่ได้เกิดขึ้นเฉพาะตอนที่อากาศร้อน อาจต้องสังเกตตัวเองด้วยว่าตำแหน่งที่ปวดน้้นอยู่บริเวณใด ซึ่ง ผศ.พญ.แสงศุลี ธรรมไกรสร
ภาควิชาเวชศาสตร์ครอบครัว คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล ระบุไว้ว่าตำแหน่งต่างๆ ที่เกิดอาการปวดศีรษะสามารถบอกโรคคร่าวๆ ได้ ดังนี้
ปวดบริเวณหน้าผากและขมับทั้งสองข้าง
ส่วนใหญ่อาการปวดหัวที่พบได้บ่อยที่สุด มักเกิดจากการเกร็งของกล้ามเนื้อบริเวณรอบศีรษะ ตำแหน่งที่พบบ่อยคือบริเวณหน้าผากและขมับทั้งสองข้าง บางครั้งร้าวมาที่ด้านหลังของศีรษะและต้นคอ รวมถึงบ่าไหล่ร่วมด้วย ซึ่งเป็นภาวะที่สัมพันธ์กับความเครียด
ปวดบริเวณขมับด้านใดด้านหนึ่ง
หากมีอาการปวดบริเวณขมับด้านใดด้านหนึ่งโดยเฉพาะ หรือปวดสลับกันระหว่างข้างซ้ายหรือข้างขวา และเวลาปวดบางครั้งอาจจะมีปวดร้าวเข้ามาที่กระบอกตาร่วมด้วย อาจเป็นอาการปวดจากโรคไมเกรน ซึ่งจะมีอาการคลื่นไส้อาเจียน เวียนศีรษะ ร่วมด้วย และถ้าอยู่ในที่แสงสว่างจ้า เสียงดัง หรือว่ามีกลิ่นฉุนอาการจะแย่ลงได้
ปวดบริเวณโหนกแก้มทั้งสองข้าง
อีกหนึ่งอาการที่พบบ่อยคือปวดบริเวณโหนกแก้มทั้งสองข้างลงมาจนถึงบริเวณหน้าผากด้วย หรือว่าปวดตรงบริเวณดั้งจมูก ซึ่งเป็นตำแหน่งของไซนัส ดังนั้น หากเกิดมีการอักเสบของไซนัส ก็จะมีอาการปวดที่ตรงบริเวณนี้ด้วย
ปวดบริเวณหน้าใบหู
เมื่อใดที่มีอาการปวดบริเวณหน้าใบหู โดยเฉพาะในระหว่างที่กำลังเคี้ยวอาหาร อาจจะเป็นอาการปวดที่เกิดจากการอักเสบของกราม ซึ่งบางคนอาจไม่รู้ตัวว่ากัดฟันตอนเวลานอน ทำให้รู้สึกว่าเมื่อตื่นขึ้นมา เวลาขยับปากหรือเวลาเคี้ยวอาหารจะรู้สึกปวดบริเวณดังกล่าว
ปวดรุนแรงแบบทนไม่ได้
หากมีอาการปวดแบบรุนแรงมาก และมีการมองเห็นที่ผิดปกติ เช่น เห็นภาพซ้อน มองไม่ชัด รวมถึงมีอาการกล้ามเนื้ออ่อนแรงร่วมด้วย อาจเป็นอาการปวดที่มาจากโรคร้ายแรงได้ อาทิ โรคหลอดเลือดสมอง หรือโรคเนื้องอกสมอง จึงไม่ควรนิ่งนอนใจเป็นอันขาด ให้รีบพบแพทย์เพื่อวินิจฉัยอาการอย่างละเอียด