หากมีอาการไอ อาจสันนิษฐานเบื้องต้นว่าเป็นไข้หวัด ซึ่งอาการจะดีขึ้นเมื่ออาการหวัดดีขึ้น หรือหากมีอาการไอค่อนข้างหนักจนรบกวนการใช้ชีวิต อาจสามารถหายาแก้ไอมากินเองได้
แต่หากมีอาการไอที่ผิดปกติ ควรพบแพทย์เพื่อหาสาเหตุที่แท้จริง และเข้ารับการรักษาอย่างถูกวิธี
ประเภทของอาการไอ
อ. นพ.ธิติวัฒน์ ศรีประสารน์ โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย ระบุว่า อาการไอ แบ่งตามระยะเวลาได้เป็น 3 กลุ่ม คือ
- ไอเฉียบพลัน (Acute Cough) มีอาการไอน้อยกว่า 3 สัปดาห์
- ไอกึ่งเฉียบพลัน (Subacute Cough) มีอาการไอตั้งแต่ 3-8 สัปดาห์
- ไอเรื้อรัง (Chronic Cough) มีอาการไอต่อเนื่องมากกว่า 8 สัปดาห์
หากมีอาการไอเรื้อรังควรพบแพทย์ เมื่อมีอาการร่วมดังต่อไปนี้
- ไอเป็นเลือด หรือไอมีเสมหะปนเลือด
- เสียงแหบ
- มีใข้
- น้ำหนักลด
- มีอาการหอบเหนื่อยโดยเฉพาะขณะพัก
- มีประวัติป่วยเป็นโรคปอดอักเสบบ่อยๆ
- กลืนลำบากหรือกลืนแล้วรู้สึกเจ็บ
- มีอาการสำลัก
คำแนะนำจากแพทย์
ผู้ป่วยที่มีอาการไอต่อเนื่องตั้งแต่ 3 สัปดาห์ขึ้นไป ร่วมกับอาการร่วมอื่นๆ หรือมีอาการแทรกซ้อนควรพบแพทย์เพื่อรับการซักประวัติ ตรวจร่างกาย เอกซเรย์ปอดเพื่อการวินิจฉัยและรับการรักษาอย่างถูกต้อง