อั๋น-คำผกา ชี้แต่ละพรรคควรทำนโยบายแข่ง ถ้าขึ้นค่าแรงไม่ได้ หรือจะเสนอลด

Home » อั๋น-คำผกา ชี้แต่ละพรรคควรทำนโยบายแข่ง ถ้าขึ้นค่าแรงไม่ได้ หรือจะเสนอลด


อั๋น-คำผกา ชี้แต่ละพรรคควรทำนโยบายแข่ง ถ้าขึ้นค่าแรงไม่ได้ หรือจะเสนอลด

อั๋น-คำผกา ชี้แต่ละพรรคควรทำนโยบายแข่ง ถ้าขึ้นค่าแรงไม่ได้ หรือจะเสนอลดแทน ลั่นเงินเฟ้อ ของทุกอย่างขึ้นราคา ค่าครองชีพขึ้น แต่ค่าแรงไม่ขึ้น

เมื่อเวลา 19.00 น. วันที่ 9 ธ.ค. 2565 ข่าวสดออนไลน์ จัดรายการ “ข่าวจบ คนไม่จบ” ดำเนินรายการโดย อั๋น ภูวนาท คุนผลิน และแขก ลักขณา ปันวิชัย หรือ คำ ผกา ในหัวข้อ “เสียงแตกค่าแรง 600 ทำได้จริงมั้ย? พปชร.ดาหน้าค้าน ผู้ใช้แรงงานหนุน”

อั๋น กล่าวว่า ตนไม่แปลกใจถ้าผู้ประกอบการส่วนใหญ่จะรู้สึกไม่เห็นด้วย เพราะไม่มีคนทำธุรกิจคนไหนมีความสุขที่ต้นทุนเพิ่ม โดยไม่แน่ใจว่าราคาจะเพิ่มได้ไหม และคนจะซื้อเพิ่มไหม หรือถ้าจะเพิ่มราคาเพราะต้นทุนเพิ่ม คนจะมีกำลังซื้อหรือไม่ ปฏิกิริยาส่วนใหญ่เป็นแบบนี้ไม่แปลก เพราะเราคิดถึงตัวเองก่อน แต่ต้องเข้าใจว่า บริบทของการทำนโยบาย เขาต้องคิดถึงผลประโยชน์ส่วนรวมก่อน

อั๋น กล่าวต่อว่า ขณะที่เอกชนทั้งหมดตั้งเป้าว่าต้องทำกำไรสูงสุด นั่นเป็นหลักการของทุนนิยม คือต้องหาวิธีการเพิ่มกำไร ลดต้นทุน ซึ่งเป็นทฤษฎีที่ทำกันมาปกติ แต่ถ้าคุณเรียนการบริหารภาครัฐ ปลายทางสูงสุดจะไม่ใช่การหากำไรสูงสุด แต่จะมีเป้าหมายคือผลประโยชน์สาธารณะเป็นที่ตั้งสูงสุด เมื่อมันเป็นคนละเป้าหมาย แน่นอนต้องตีกัน

อั๋น กล่าวอีกว่า นโยบายทั้งปวงมีข้อดีข้อเสียเสมอ ไม่มีนโยบายใดในโลกที่มีแต่ผู้ได้ประโยชน์ แต่ต้องช่วยกันสื่อสารให้เข้าใจ และต้องเสียสละเพื่อส่วนรวมในบางส่วน แล้วเดินหน้ากันไป ซึ่งนโยบายนี้พรรคพลังประชารัฐเคยหาเสียงไว้เหมือนกันว่าจะขึ้นค่าแรง 425 บาท จนถึงวันนี้ชัดเจนแล้วว่าทำไม่ได้ แต่พรรคออกมาบอกว่าเป็นการโฆษณาเฉยๆ ไม่ได้เป็นนโยบาย แล้วลบโพสต์ในเพจด้วย

คำ ผกา กล่าวว่า เวลาที่ทำพรรคการเมือง สิ่งที่คุณต้องการคือชนะการเลือกตั้ง ความไว้วางใจจะส่งคุณไปได้อำนาจรัฐ คุณจะได้อำนาจบริหารประเทศ และบริหารงบประมาณของประเทศ ทุกคนที่ทำพรรคการเมืองต้องการชนะการเลือกตั้งเพื่อเป็นรัฐบาล และเป็นเจ้าของอำนาจรัฐชั่วคราวที่ประชาชนอนุญาตให้ครอบครองเป็นเวลา 4 ปี ถ้าเราอยากมีอำนาจรัฐต่อ ใน 4 ปีที่เราได้โอกาสนั้น เราจะต้องทำผลงานให้ประชาชนไว้ใจและรู้สึกว่าทำงานผลงานได้ดี ประชาชนก็มอบความไว้วางใจให้บริหารงานต่อไปอีก 4 ปี

คำ ผกา กล่าวต่อว่า ภายในเดือน พ.ค. 2566 เราจะมีการเลือกตั้ง เวลานี้ทุกพรรคการเมืองจะต้องหาเสียงแล้ว พรรคไหนที่ทำนโยบายเสร็จก่อนก็จะได้เปรียบในการที่จะออกสื่อสารกับประชาชนทั่วประเทศ เราก็เห็นแล้วว่าพรรคเพื่อไทยดูมีความพร้อมมาก แปลว่าตลอดเวลาในระหว่างที่เป็นฝ่ายค้านก็ทำการบ้านด้วย เมื่อใกล้เลือกตั้งก็มีนโยบายออกมาขายให้กับประชาชน เราจะคิดว่าขายฝันก็ได้ เพราะยังเป็นความฝัน เนื่องจากเขายังไม่ได้เป็นรัฐบาล

คำ ผกา กล่าวอีกว่า ถ้าตนเป็นพรรคการเมืองอื่นๆ ซึ่งมีเป้าหมายเดียวกันคือต้องการชนะใจประชาชน ต้องการชนะการเลือกตั้ง พอเห็นว่าพรรคเพื่อไทยหาเสียงออกมา 10 นโยบาย เราต้องรีบกลับไปดูการบ้านของเรา แล้วดูจุดอ่อนจุดแข็งของเรา คนพูดก่อนได้เปรียบก็จริง แต่ก็เสียเปรียบเพราะคนอื่นสามารถดูการบ้านเรา แล้วไปแก้การบ้านตัวเอง และทำให้ดีกว่า

คำ ผกา กล่าวต่อว่า ข้อที่ 1 ตนอยากจะบอกทุกพรรค แทนที่คุณจะมาโจมตีพรรคเพื่อไทย คุณควรจะเอา 10 ข้อของเขาไปดู แล้วอย่าเพิ่งตีโพยตีพาย จากนั้นก็บอกประชาชนว่าเราจะมีนโยบายที่ปังกว่ามานำเสนอ และปิดรูรั่วหลายจุดที่เราเห็นจากพรรคเพื่อไทย พร้อมชื่นชมทุกพรรคการเมืองที่ทำงานหนัก เอาเวลามาแก้ไขนโยบายตัวเอง ตรงไหนที่เป็นจุดอ่อนที่เราเห็นของพรรคเพื่อไทยก็รีบเอามาแก้ของตัวเอง แล้วทำให้ดีกว่าเดิม

คำผกา กล่าวอีกว่า ข้อที่ 2 เราจะเห็นว่าค่าแรง 600 คือเดือนละ 18,000 บาท สมมติว่าทำงานอาทิตย์ละ 6 วัน หรือเฉลี่ยเดือนละ 21-24 วัน เฉลี่ยต่อเดือนไม่เกิน 15,000 บาท ผู้ประกอบการต้องหันไปดูว่าที่คุณจ่ายพนักงานทุกวันตอนนี้มีจ่ายต่ำกว่า 15,000 บาทก็แทบจะไม่มีแล้ว แล้วอีกตั้งปี 2570 กว่าที่ค่าแรงจะไปแตะ 600 บาท

คำ ผกา กล่าวต่อว่า คนที่จะได้เงินวันละ 600 บาท คือแรงงานหน้าใหม่และแรงงานไร้ฝีมือ โดยสัดส่วนแล้วมีไม่เยอะเมื่อเทียบกับแรงงานในตลาดแรงงานทั้งหมด และที่นายจ้างจ่ายค่าจ้างให้ปัจจุบัน สัดส่วนของต้นทุนแรงงานของผู้ประกอบการไม่ได้สูงขึ้นขนาดนั้น

คำ ผกา กล่าวอีกว่า ข้อ 3 จะมีอุตสาหกรรมหลายอย่างของ 4 ทศวรรษที่แล้วที่จะต้องชะงัก เช่น โรงงานน้ำแข็งที่ถูกแทนที่ด้วยรถขนส่งที่เป็นห้องเย็น เพราะฉะนั้นคุณจะไม่สามารถทำกำไรจากการใช้แรงงานราคาถูกผลิตน้ำแข็งโม่ใส่กระสอบ ซึ่งไม่ได้เอาไปรับประทาน แต่เอาไปแช่เนื้อสัตว์

คำ ผกา กล่าวต่อว่า ตอนนี้น้ำแข็งสำหรับการบริโภคจะเป็นน้ำแข็งที่ค่อนข้างจะมีลักษณะการใช้ที่เฉพาะเจาะจง เช่น น้ำแข็งสำหรับดื่มเหล้าออนเดอะร็อก แล้วทุกบ้านมีตู้เย็นสมัยใหม่มีฟังก์ชั่นสำหรับการทำน้ำแข็ง ซึ่งเพียงพอสำหรับบริโภคในครัวเรือน การซื้อน้ำแข็งที่ไม่ใช่งานปาร์ตี้ก็จะน้อยลง ซึ่งจะมีการปรับปรุงอุตสาหกรรมของ 4 ทศวรรษที่แล้วให้เป็น SME ที่ร่วมสมัยมากขึ้น การอัพสกิล รีสกิล การปรับอุตสาหกรรมเกษตร ให้เป็นสมาร์ท ฟาร์มมิ่ง เป็นต้น

คำ ผกา กล่าวอีกว่า ตัวเลข 600 บาท เขาไม่ได้นั่งเทียนแล้วคิดออกมา เขาดูจากการเจริญเติบโตของจีดีพี ค่าครองชีพ และเงินเฟ้อ แล้วพบว่าค่าแรงของเราไล่ไม่ทันการเจริญเติบโตของจีดีพี ค่าครองชีพ และอัตราเงินเฟ้อ ดังนั้น ตัวเลข 600 คำนวณแล้วว่ามนุษย์หนึ่งคนจะดำรงชีพได้อย่างสมฐานานุรูป

คำ ผกา กล่าวต่อว่า ถ้าพรรคการเมืองไหนรู้สึกว่าเขาทำไม่ได้ บอกเลยว่าเราจะเสนอ 600 บาทเหมือนกัน แต่เรามีแผนแบบนี้ และเป็นไปได้มากกว่าของพรรคเพื่อไทย หรือถ้าคุณอยากจะเอาใจนายทุน คุณก็บอกเลยว่า เราเสนอค่าแรงที่ 390 บาท แล้วก็ให้เหตุผลว่าทำไมค่าแรงต้อง 390 บาท ตนรู้สึกว่าบทสนทนาของสังคมควรจะเป็นแบบนี้ มากกว่าการแพนิค กรีดร้อง โวยวาย

อั๋น กล่าวว่า ค่าแรงในความเป็นจริงทางเศรษฐศาสตร์แต่ละธุรกิจไม่เหมือนกัน บางธุรกิจอาจใช้เทคโนโลยีและเครื่องจักรเยอะ แต่แรงงานน้อย ส่วนธุรกิจที่ใช้แรงงานเยอะก็จะมีต้นทุนมาก จะต้องได้รับผลกระทบมาก แต่ต้องตั้งคำถามว่า ธุรกิจของคุณทุกวันนี้สามารถสร้างคุณภาพชีวิตที่ดีให้กับคนที่เป็นลูกจ้างของคุณในการมีชีวิตอยู่ในสังคมแบบมนุษย์ปุถุชนคนนึงพึงจะมีได้หรือไม่ หรือทุกปลายเดือนเขาต้องพึ่งบะหมี่กึ่งสำเร็จรูป และความอร่อยและความสุขในชีวิตต้องมาจากผงชูรสเท่านั้น

อั๋น กล่าวอีกว่า เราควรดูว่า เงินทุกวันนี้พอสำหรับมาตรฐานการครองชีพหรือไม่ เอาแค่ตามมาตรฐาน ไม่ต้องหวังให้เขากินสตาร์บัคส์ก็ได้ แค่คิดว่าเขามีปัญญาใช้ชีวิตตามสมควรหรือยัง ถ้าเขาต้องเสียค่าเดินทาง ถ้าคนที่ยังได้ค่าแรงขั้นต่ำ ยังขึ้นไม่ได้แม้แต่รถเมล์ติดแอร์ ต่อให้มีรถไฟฟ้าอยู่หน้าบ้านเขา นั่งปุ๊บมาลงถึงหน้าโรงงานได้เลย เขาก็ขึ้นไม่ได้ เพราะเขาไม่มีปัญญา

อั๋น กล่าวต่อว่า มีคนแสดงความคิดเห็นว่าการขึ้นค่าแรง 600 บาท นักธุรกิจจะหนีไปลงทุนต่างประเทศกันหมด คุณลองคิดก่อนว่าถ้าการขึ้นค่าแรงเป็นปัญหา แล้วการลดค่าแรงจะเป็นเรื่องดีหรือไม่ ถ้าลดค่าแรงให้เป็นจุดขายของประเทศ แล้วดึงการลงทุนมาเยอะๆ งั้นจะลดค่าแรงแข่งกับลาวหรือไม่ ถ้าคุณลดค่าแรง คุณก็ถอยหลังความเจริญของประเทศกลับไปด้วย

คำ ผกา กล่าวเสริมว่า ถ้าคุณค้าขาย แล้วคนมีเงินในกระเป๋าน้อยลง เขาก็ซื้อของคุณน้อยลง คุณขายมาม่า แล้วค่าแรงไม่ขึ้น คนเคยกินมาม่าวันละซองก็จะเหลือวันละครึ่งซอง คุณก็ขายของได้น้อยลง เมื่อวานผู้นำสหภาพแรงงานโตโยต้าก็ออกมาพูดว่า ถ้ามองเศรษฐกิจระดับมหภาคมันจะกระตุ้นการบริโภคภายใน เศรษฐกิจเราก็จะเติบโตมากขึ้น ทุกธุรกิจก็จะเบิกบาน ทำอะไรออกมาก็จะขายได้

อั๋น กล่าวต่อว่า ตนเข้าใจเรื่องการพยายามลดตุ้นทุน แต่คุณต้องลดต้นทุนด้วยวิธีอื่นได้ ไม่ใช่ลดต้นทุนด้วยการลดคุณภาพชีวิตของคนในองค์กร หรือจำกัดคุณภาพชีวิตของคนในองค์กรไว้ ไม่ให้เขามีโอกาสได้มีชีวิตที่ดีกว่านี้ SME ใดไม่มีปัญญาจ้างพนักงานที่คุณสามารถดูแลเขาให้มีชีวิตที่ดีได้ตามความเหมาะสม ควรกลับไปเป็นลูกจ้างและใช้ชีวิตของตัวเองให้ได้มาตรฐานก็พอ อาจจะฟังดูแรง แต่มันคือข้อเท็จจริง

อั๋น กล่าวอีกว่า การเลือกประเทศลงทุน ค่าแรงเป็นเพียงหนึ่งในหลายปัจจัย เช่น ระบบการทำงานของภาครัฐเอื้อหรือไม่ ทรัพยากร การขนส่งในประเทศ อัตราภาษีนำเข้าส่งออก เขตการค้าเสรีได้รับสิทธิพิเศษทางภาษี เพื่อดึงดูดนักลงทุน สิ่งเหล่านี้สำคัญกว่าเรื่องค่าแรง โดยเฉพาะถ้าเขาเข้ามาแล้วได้แรงงานที่มีคุณภาพ ไม่เช่นนั้นเขาคงไปจ้างประเทศที่ใช้แรงงานเด็กหรือแรงงานทาสกันหมดแล้ว ถ้าเขานึกถึงแต่ต้นทุนแรงงาน ควรใส่ศีลธรรมลงไปในสมการการทำธุรกิจเพิ่มขึ้นด้วย เพราะนั่นคือสิ่งที่จำเป็นมาก เราพูดเรื่องนี้ยากกับเอกชนในบางกลุ่ม แต่เรื่องนี้เป็นหน้าที่ของคนที่จะมาเป็นรัฐบาลโดยตรงที่จะต้องคิด

อั๋น กล่าวต่อว่า คนที่อ้างว่าเดี๋ยวเงินเฟ้อ เงินเฟ้อไม่ได้ขึ้นเพราะการขึ้นค่าแรงเท่านั้น ทุกวันนี้ไม่ได้ขึ้นค่าแรง แต่เงินเฟ้ออยู่แล้ว ทุกวันนี้ทุกอย่างขึ้นราคา แล้วค่าแรงทำไมไม่ขึ้น ในเมื่อทุกอย่างมันขึ้นแซงไปก่อนแล้ว เรามาขึ้นค่าแรงตามหลังค่าครองชีพที่ขึ้นไปก่อนแล้ว เพราะฉะนั้นค่าครองชีพไม่ได้ขึ้นเพราะขึ้นค่าแรง แต่เราพูดเรื่องขึ้นค่าแรง เพราะค่าครองชีพสูงขึ้น

แท็กที่เกี่ยวข้อง

เรื่องอื่นที่น่าสนใจ