อัฟกานิสถาน : ฤดูหนาวและความหิวโหยกับ “วิกฤตทางมนุษยธรรมที่เลวร้ายที่สุดในโลก”

Home » อัฟกานิสถาน : ฤดูหนาวและความหิวโหยกับ “วิกฤตทางมนุษยธรรมที่เลวร้ายที่สุดในโลก”



ตอนนี้โครงการอาหารโลก (World Food Programme) ต้องพยายามจัดหาอาหารเพื่อช่วยเหลือผู้คนกว่า 22 ล้านชีวิต หากสภาพอากาศฤดูหนาวนี้เลวร้ายอย่างที่ผู้เชี่ยวชาญหลายคนคาดเดา ประเมินกันว่าผู้คนจำนวนมากจะต้องเผชิญกับวิกฤตขาดแคลนอาหารครั้งรุนแรง

ผมได้พูดคุยกับเดวิด บีสลีย์ ผู้อำนวยการโครงการอาหารโลกขณะเขาเดินทางไปที่กรุงคาบูล เขาบอกว่าสถานการณ์เลวร้ายมาก ๆ “ที่จริงแล้ว นี่เป็นวิกฤตทางมนุษยธรรมที่เลวร้ายที่สุดในโลก”

“ราว 95% ของประชากรมีอาหารไม่เพียงพอ ขณะที่ 23 ล้านคนกำลังจะเผชิญกับความอดอยาก” นายบีสลีย์ กล่าว “6 เดือนต่อจากนี้จะเป็นหายนะ มันจะเป็นนรกบนดิน”

ก่อนหน้าที่กลุ่มตาลีบันจะเข้ายึดครองประเทศในเดือน ส.ค. มีความมั่นใจกันว่าประธานาธิบดีอัชราฟ กานี จะรับมือกับฤดูหนาวอันโหดร้ายไว้เมื่อได้รับความช่วยเหลือจากนานาชาติด้วย เมื่อรัฐบาลของนายกานีล้มลง ความช่วยเหลือเหล่านั้นก็หายไปด้วย

ชาติตะวันตกเลิกให้การช่วยเหลือ เพราะพวกเขาไม่อยากถูกมองว่าให้การช่วยเหลือกลุ่มผู้ปกครองประเทศที่ห้ามไม่ให้เด็กผู้หญิงไปโรงเรียนและนำการลงโทษตามหลักการปกครองภายใต้หลักกฎหมายอิสลามหรือ “ชารีอะห์” กลับมาใช้

Afghan women receive food donations as part of the World Food Programme (WFP) for displaced people, during the Islamic holy month of Ramadan in Jalalabad on April 20, 2021

Getty Images
“คนร้อยละ 95 ไม่มีอาหารเพียงพอ และคน 23 ล้านคนกำลังจะเผชิญกับความอดอยาก”

แต่ชาติตะวันตกจะอยู่เฉย ๆ และปล่อยให้ประชาชนผู้บริสุทธิ์หลายล้านคนต้องหิวโหยอย่างรุนแรงหรือ

นายบีสลีย์กำลังเรียกร้องให้รัฐบาลประเทศเหล่านั้นและมหาเศรษฐีในประเทศพัฒนาแล้วหันมาช่วยจัดการกับสถานการณ์ฉุกเฉินนี้

“ถึงผู้นำโลกและมหาเศรษฐีทั้งหลาย ลองจินตนาการว่าคนพวกนี้คือ ลูกสาวหรือลูกชายตัวน้อย ๆ ของคุณ หรือหลานคุณที่กำลังจะหิวตาย” เขากล่าว “คุณจะทำทุกวิถีทางที่ทำได้ ในขณะที่โลกนี้มีความร่ำรวยกองอยู่ถึง 400 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ พวกเราควรละอายใจ”

“ถ้าเราปล่อยให้เด็กคนหนึ่งตายจากความหิวโหย พวกเราก็ควรละอายใจ ผมไม่สนใจหรอกว่าเด็กคนนั้นจะอยู่ที่ไหน”

  • ทำไมคนอัฟกันในชนบทจึงนิยมตาลีบัน
  • ชีวิตภายใต้การปกครองของตาลีบัน : “ความฝันทั้งหมดของฉันถูกทำลาย”
  • ครูอัฟกันเปิดโรงเรียนออนไลน์ สู้ตาลีบันกีดกันผู้หญิงจากการศึกษา
A Taliban fighter stands guard as women wait in line during a World Food Programme food distribution in Kabul

AFP
นักรบตาลีบันยืนคุมขณะผู้หญิงยีนต่อคิวรอรับการแจกจ่ายอาหารในกรุงคาบูล

ที่เมืองบามิยันในภาคกลางของประเทศ ซึ่งกลุ่มตาลีบันมาทำลายพระพุทธรูปโบราณอันสวยงามเมื่อปี 2001 ทีมบีบีซีเดินทางไปพบกับแม่ม่ายชื่อฟาติมา ซึ่งมีลูก 7 คน อายุ 3 ถึง 16 ปี

สามีเธอเสียชีวิตจากมะเร็งกระเพาะอาหารเมื่อไม่นานมานี้

ครอบครัวเธอยากจนมาก อาศัยอยู่ในถ้ำใกล้หน้าผาที่แกะสลักเป็นพระพุทธรูปซึ่งถูกกลุ่มตาลีบันทำลายไป

สมัยรัฐบาลที่แล้ว ครอบครัวฟาติมายังได้รับการแจกจ่ายแป้งและน้ำมันจากทางการอยู่ แต่ก็ชะงักไปหลังตาลีบันเข้ายึดประเทศ

ก่อนหน้านี้เธอเคยได้รายได้เล็ก ๆ น้อย ๆ จากการกำจัดวัชพืชจากที่ดินของชาวไร่บริเวณใกล้เคียง แต่ตอนนี้ภัยแล้งเท่ากับว่ามีพืชผลที่อยู่รอดมาน้อยลง งานเธอก็น้อยลงไปด้วย

“ฉันกลัว ฉันไม่มีอาหารให้ลูก อีกไม่นานฉันต้องออกไปขออาหารจากคนอื่น”

พ่อแม่บางคนต้องตัดสินใจขายลูกสาวให้ไปแต่งงานกับชายที่อายุมากกว่า ฟาติมาปฏิเสธที่จะทำเช่นนั้น แต่หากทางการไม่ช่วยแจกจ่ายอาหารให้เร็ว ๆ นี้ เธอและลูก ๆ จะต้องเผชิญกับความอดอยากจริง ๆ

ฤดูหนาวใกล้จะมาถึงแล้ว และอีกหลายครอบครัวที่ยากจนอย่างครอบครัวฟาติมากำลังจะเข้าสู่ภาวะวิกฤต

แท็กที่เกี่ยวข้อง

เรื่องอื่นที่น่าสนใจ