อัปเดต "วัคซีนโควิด-19" มีกี่ชนิด ตัวไหนเข้าไทยบ้าง

Home » อัปเดต "วัคซีนโควิด-19" มีกี่ชนิด ตัวไหนเข้าไทยบ้าง
อัปเดต "วัคซีนโควิด-19" มีกี่ชนิด ตัวไหนเข้าไทยบ้าง

วัคซีนโควิด-19 ในโลกตอนนี้มีอยู่หลากหลายประเภทและหลายยี่ห้อ ขึ้นอยู่กับว่าผลิตด้วยวิธีไหน ประเทศไหนผลิตตัวไหนออกมาได้ ก็จะใช้ตัวนั้นฉีดให้กับประชากรในประเทศนั้น เสริมด้วยวัคซีนที่รับเพิ่มจากต่างประเทศเพื่อให้ครอบครัวต่อจำนวนประชากรของประเทศนั้นๆ

ล่าสุด ประเทศไทยรับวัคซีนโควิด-19 มาแล้วจำนวนหนึ่ง และทยอยสั่งซื้อนำเข้ามาจากต่างประเทศเรื่อยๆ รวมถึงยังมีวัคซีนที่ผลิตในประเทศไทยของเราเองที่อยู่ในระหว่างการผลิตเพื่อให้คนไทยได้ใช้กันเองประเทศในราคาที่ถูกลงอีกด้วย

วัคซีนโควิด-19 มีกี่ชนิด

นายแพทย์สมชัย ลีลาศิริวงศ์ ที่ปรึกษาผู้จัดการความเสี่ยง โรงพยาบาลพระรามเก้า ระบุว่า วัคซีนที่ใช้ป้องกันโรคโควิด-19 ทั้งหมดในปัจจุบัน มีอยู่ 4 ชนิดหลักๆ โดยแบ่งจากเทคนิคที่ใช้ในการผลิตวัคซีนโควิด-19 ได้แก่

mRNA vaccines หรือวัคซีนชนิดสารพันธุกรรม เป็นเทคโนโลยีใหม่ที่เคยใช้กับการพัฒนาวัคซีนป้องกันโรคอีโบล่า วัคซีนชนิดนี้จะใช้สารพันธุกรรมของโควิด-19 หรือเชื้อไวรัสซาร์ส-โควี-2 (SARS-CoV-2) เข้าไปกำกับการสร้างโปรตีนส่วนหนาม (spike protein) และทำให้ร่างกายสร้างภูมิคุ้มกันต่อเชื้อโควิด-19 ออกมา

วัคซีนชนิด mRNA: BioNTech/Pfizer และ Moderna

Viral vector vaccines หรือวัคซีนชนิดใช้ไวรัสเป็นพาหะ พัฒนาโดยการนำไวรัสที่ถูกทำให้อ่อนฤทธิ์ลงแล้ว หรือไม่สามารถแบ่งตัวได้อีก มาตัดแต่งพันธุกรรมเพื่อใช้เป็นพาหะ แล้วฝากสารพันธุกรรมของโควิด-19 เข้าไป ทำให้ร่างกายสร้างภูมิคุ้มกันขึ้นมา ซึ่งเทคนิคนี้เป็นวิธีที่สามารถกระตุ้นภูมิคุ้มกันได้ดี เนื่องจากเลียนแบบการติดเชื้อที่ใกล้เคียงธรรมชาติ

วัคซีนชนิด Viral vector: Johnson & Johnson, Sputnik V และ Oxford – AstraZeneca

Protein-based vaccines หรือวัคซีนที่ทำจากโปรตีนส่วนหนึ่งของเชื้อ ไวรัสซาร์ส-โควี-2 (SARS-CoV-2)  โดยการนำเอาโปรตีนบางส่วนของโควิด-19 เช่น โปรตีนส่วนหนาม มาผสมกับสารกระตุ้นภูมิ ก่อนฉีดเข้าร่างกาย แล้วนำมาผสมกับสารกระตุ้นภูมิ เมื่อฉีดเข้าไปแล้วจะกระตุ้นให้ร่างกายสร้างภูมิคุ้มกันต่อเชื้อไวรัส ใช้กันมานานแล้ว เพราะเป็นเทคนิคที่ใช้ผลิตวัคซีนไข้หวัดใหญ่ และวัคซีนตับอักเสบชนิดบี

วัคซีนชนิด Protein-based: Novavax

Inactivated vaccines หรือวัคซีนชนิดเชื้อตาย เป็นการผลิตขึ้นจากการนำเชื้อโควิด-19 มาทำให้ตายด้วยสารเคมีหรือความร้อน ก่อนฉีดเข้าร่างกายเพื่อกระตุ้นให้เกิดการสร้างภูมิคุ้มกันต่อเชื้อไวรัส เทคนิคนี้ผลิตได้ค่อนข้างช้า และต้นทุนสูง เนื่องจากต้องผลิตในห้องปฏิบัติการนิรภัยระดับ 3

วัคซีนชนิด Inactivated (เชื้อตาย): Sinopharm และ Sinovac

ในไทยมีวัคซีนชนิดใดบ้าง?

  1. โคโรนาแวค ของบริษัทซิโนแวค
  2. AZD 1222 ของบริษัทแอสตร้าเซนเนก้า – ออกซ์ฟอร์ด 
  3. AZD 1222 ของบริษัท SK Bioscience (Korea) ของแอสตร้าเซนเนก้า – ออกซ์ฟอร์ด (อย. ให้การรับรอง)
  4. Ad26.COV2.S ของบริษัท Johnson & Johnson 
  5. โทซินาเมแรน ของบริษัทไฟเซอร์-ไบออนเทค 
  6. โควิชิลด์ ของสถาบันเซรุ่มแห่งอินเดีย
  7. mRNA-1273 ของบริษัทโมเดอร์นา
  8. ซิโนฟาร์ม ของสถาบันยาชีววัตถุปักกิ่ง

7 ข้อปฏิบัติ ก่อนฉีดวัคซีนโควิด-19

นายแพทย์สุวรรณชัย กล่าวต่อไปว่า สำหรับการเตรียมตัวไปฉีดวัคซีนนั้น กระทรวงสาธารณสุขได้มี 7 ข้อแนะนำดังนี้

  1. สองวันก่อนและหลังการฉีดวัคซีนให้งดออกกำลังกายหนัก หรือยกน้ำหนัก และนอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอ
  2. วันที่ฉีดควรกินน้ำอย่างน้อย 500-1,000 ซีซี งดชา กาแฟ หรือของที่มีคาเฟอีน รวมถึงเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์
  3. ฉีดแขนข้างที่ไม่ค่อยถนัด และหลังฉีดสองวันอย่าใช้แขนนั้น อย่าเกร็งยกของหนัก
  4. หลังฉีดแล้วเจ้าหน้าที่จะให้รอดูอาการในบริเวณที่ฉีด 30 นาที
  5. ถ้ามีไข้ หรือปวดเมื่อยมากทนไม่ไหว สามารถกินยาพาราเซตามอลขนาด 500 มิลลิกรัม ครั้งละหนึ่งเม็ดซ้ำได้ถ้าจำเป็นแต่ให้ห่าง 6 ชั่วโมง ห้ามกินยาพวก Brufen, Arcoxia, Celebrex เด็ดขาด
  6. การฉีดวัคซีนโควิดควรห่างกับวัคซีนป้องกันโรคไข้หวัดใหญ่อย่างน้อย 1 เดือนและ
  7. ถ้ากินยาละลายลิ่มเลือดอยู่ ก็ให้กินยาตามปกติ แต่เมื่อฉีดยาแล้วให้กดนิ่งตรงตำแหน่งที่ฉีดต่ออีก 1 นาที

แท็กที่เกี่ยวข้อง

เรื่องอื่นที่น่าสนใจ