"อัน ซาน" : นักยิงธนู 3 เหรียญทอง ผู้ถูกเนติเซนบ้านเกิดจับจ้องว่าเป็น "เฟมินิสต์"

Home » "อัน ซาน" : นักยิงธนู 3 เหรียญทอง ผู้ถูกเนติเซนบ้านเกิดจับจ้องว่าเป็น "เฟมินิสต์"

หากพูดถึงนักกีฬาชาวเอเชียที่สร้างชื่อในโอลิมปิก เกมส์ 2020 “อัน ซาน” นักกีฬายิงธนูจากเกาหลีใต้ ย่อมเป็นหนึ่งในนั้น เพราะนอกจากจะทำลายสถิติโอลิมปิกแล้ว เธอยังกวาด 3 เหรียญทองจากทุกรายการที่ลงแข่งขัน ทั้งที่อายุ 20 ปี

อัน ซาน ควรจะได้รับการต้อนรับไม่ต่างจาก “เทนนิส” พาณิภัค วงศ์พัฒนกิจ เจ้าของเหรียญทองแรกของไทยในกีฬาเทควันโด แต่เธอกลับได้รับความเกลียดชังจากคนกลุ่มหนึ่งในเกาหลีใต้ ที่ไม่ชอบใจทรงผมของเธอ และกล่าวหาว่าเธอเป็น “เฟมินิสต์” หรือผู้นิยมแนวคิดสตรีนิยม ที่กำลังทำลายวัฒนธรรมอันดีงามของเกาหลีใต้

เรื่องราวที่เกิดขึ้นกับ อัน ซาน กลายเป็นเรื่องใหญ่ในสังคมเกาหลีใต้ ที่สะท้อนให้เห็นถึงการต่อต้านความเท่าเทียมทางเพศที่มีอยู่จริง จนนักการเมืองสองฝ่ายออกมาโจมตีกันออกสื่อ กับคำถามว่าแท้จริงแล้ว อัน ซาน ถูกเกลียดชังเพราะอะไรกันแน่ ?

นักธนูหญิงคนแรกของโรงเรียน 

สำหรับใครที่เคยเห็นหน้าค่าตาของ อัน ซาน มาบ้างแล้ว คงพอจะรู้กันว่า เธอเป็นนักกีฬารุ่นใหม่ที่ได้รับอิทธิพลจากแนวคิดของเจเนอเรชั่น Z หรือกลุ่มคนที่เกิดในช่วงปลายยุค 1990s จนถึงต้นยุค 2010s ซึ่งสิ่งหนึ่งที่พวกเขาให้ความสำคัญ คือการก้าวข้ามข้อจำกัดทางเพศ

1อัน ซาน ซึ่งเกิดปี 2001 มองเห็นกำแพงที่แบ่งกั้นเพศหญิงออกจากเพศชายมาตั้งแต่ยังเด็ก ขณะที่เธอกำลังศึกษาอยู่ในชั้นประถมศึกษาปีที่ 3 อัน ซาน กำลังให้ความสนใจและเริ่มอยากฝึกฝนการยิงธนู แต่ปัญหาอยู่ที่ว่า ชมรมยิงธนูประจำโรงเรียนประถมมุนซานแห่งเมืองกวางจู กลับมีแต่ทีมนักธนูชายเท่านั้น

เพราะความกล้าที่จะแสดงออกตามแบบฉบับคนรุ่นใหม่ อัน ซาน จึงเดินไปหาครูประจำชมรม และประกาศว่า “ฉันก็อยากยิงธนูด้วยเหมือนกัน” เธอแสดงให้เห็นถึงความตั้งใจจริงในการฝึกฝน โดยการฝึกซ้อมท่ายิงธนูอย่างถูกต้องเพียงอย่างเดียว เป็นเวลาถึงหนึ่งปีเต็ม กว่าจะได้เริ่มยิงธนูเหมือนเพื่อนผู้ชายคนอื่น อัน ซาน ต้องรอจนเธอเข้าเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 4

แม้จะเริ่มต้นด้วยความลำบาก แต่พรสวรรค์บนเส้นทางนักกีฬาของ อัน ซาน ค่อย ๆ ฉายแววออกมาอย่างช้า ๆ เธอไม่รีบร้อนหรือให้ความสนใจไปกับความสำเร็จรวมถึงความล้มเหลวในช่วงเริ่มต้น เพราะ อัน ซาน รู้ดีว่า สิ่งสำคัญที่สุดในการเล่นกีฬาคือ พื้นฐานที่ถูกต้อง

อัน ซาน จึงฝึกหนักในแต่ละวันจนกว่าเบสิกจะแน่นปึก และเมื่อถึงวินาทีสำคัญที่ต้องเลือกทางเดินของชีวิต เธอก็สอบติดโรงเรียนกีฬาเมืองกวางจู และเริ่มคว้าเหรียญรางวัลมาครองได้ตั้งแต่เรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่สอง ก่อนที่ในปีถัดมา เธอจะชนะการแข่งขันยิงธนูทั้งหกรายการ ในทัวร์นาเมนต์ที่ถูกจัดขึ้นโดยกระทรวงวัฒนธรรม กีฬา และการท่องเที่ยว เมื่อปี 2016

นับแต่นั้น ผลงานของ อัน ซาน พัฒนาขึ้นเป็นลำดับ เริ่มจากปี 2017 ที่เธอคว้าเหรียญเงินจากการแข่งขันยิงธนูเยาวชนโลก ถัดมาในปี 2018 อัน ซาน คว้า 2 เหรียญเงินจากการแข่งขันยิงธนูชิงแชมป์เอเชีย ส่วนปี 2019 เธอคว้า 3 เหรียญทองจากการแข่งขันยิงธนูชิงแชมป์โลก รวมถึงรายการปรีโอลิมปิกด้วยเช่นกัน

2มองจากความสำเร็จที่ผ่านมา หลายคนคงคิดว่า อัน ซาน คงเป็นนักธนูตัวความหวังของทีมชาติเกาหลีใต้ แต่เส้นทางของเธอกว่าจะมาถึงโอลิมปิก เกมส์ 2020 ไม่ง่ายเลย เพราะการแข่งขันของนักกีฬายิงธนูในประเทศเกาหลีใต้มีสูงมาก ความผิดพลาดเพียงครั้งเดียว อาจทำให้คุณหลุดจากหัวตาราง และอดไปแข่งขันมหกรรมกีฬานานาชาติในทันที

อัน ซาน เคยพบเจอประสบการณ์นี้มาด้วยตัวเอง เมื่อปี 2018 ในการคัดเลือกหานักยิงธนูเกาหลีใต้ไปแข่งขันมหกรรมกีฬาเอเชียนเกมส์ 2018 เธอจบการคัดตัวครั้งแรกด้วยคะแนนอันดับหนึ่ง แต่หลังจากนั้น อัน ซาน ไม่สามารถรักษาตำแหน่งของตัวเองเอาไว้ได้ จนหล่นจากพื้นที่ 4 คนแรก และถูกตัดชื่อออกจากทีมชาติเกาหลีใต้อย่างน่าเจ็บปวด

สร้างประวัติศาสตร์ในโอลิมปิก

เมื่อโอกาสในการก้าวเป็นตัวแทนทีมชาติเกาหลีใต้ในโตเกียวเกมส์มาถึง อันซานไม่ยอมพลาดอีกครั้งเหมือนปี 2018 และสามารถคว้าตั๋วโอลิมปิกมาครองได้สำเร็จ ด้วยวัยเพียง 20 ปี

3ก่อนจะเดินทางไปแข่งขันโอลิมปิก เกมส์ 2020 ที่กรุงโตเกียว อัน ซาน ทำผลงานได้อย่างน่าประทับใจอีกครั้ง ด้วยการคว้า 2 เหรียญทอง และ 1 เหรียญเงิน ในการแข่งขันชิงแชมป์เอเชียที่เมืองกวางจู บ้านเกิดของเธอ ผลงานนี้เองที่ทำให้ อัน ซาน ถูกจับตาในฐานะความหวังเหรียญทองกีฬายิงธนูของชาวเกาหลีใต้

อัน ซาน ไม่ทำให้แฟนกีฬาในบ้านเกิดผิดหวัง ตั้งแต่การแข่งขันรอบจัดอันดับ หลังกด 680 แต้ม ในการแข่งขันประเภทหญิงเดี่ยวรอบแรกในโตเกียวเกมส์ ส่งผลให้สถิติโอลิมปิกที่คงอยู่ยาวนาน 25 ปี นับตั้งแต่ ลิน่า เฮราซิเมนโก้ นักกีฬาชาวยูเครนที่ทำ 673 แต้ม ในแอตแลนตาเกมส์ 1996 ถูกทำลาย พร้อมกับคว้าอันดับหนึ่งของการแข่งขันรอบดังกล่าว

ผลงานของ อัน ซาน ในรอบแรก พลิกชะตาของเธอในโอลิมปิกทันที เพราะสมาคมยิงธนูเกาหลีใต้ จะเลือกมือหนึ่งในการแข่งขันประเภททีมผสมจากผลงานในรอบดังกล่าว ส่งผลให้ อัน ซาน ที่เป็นน้องเล็กของทีม ก้าวขึ้นเป็นมือหนึ่งในการแข่งขัน ซึ่งเธอก็ทำไม่พลาด คว้าเหรียญทองโอลิมปิกแรกในชีวิตมาครองได้สำเร็จ

อัน ซาน สานต่อความสำเร็จของเธอในการแข่งขันประเภททีมหญิง ท่ามการความคาดหวังของแฟนกีฬาเกาหลีใต้ มีการนำผลงานของเธอ และนักกีฬาหญิงจากชาติอื่นที่ลงแข่งขันในประเภทคู่ผสมมาวิเคราะห์ จนได้ข้อสรุปว่า อัน ซาน มีโอกาสพาเกาหลีใต้คว้าเหรียญทอง 100 เปอร์เซ็นต์

4ไม่ว่าชาวเน็ตเกาหลีจะอวยเกินจริงหรือไม่ ผลงานที่ออกมาแสดงให้เห็นถึงความยอดเยี่ยมของอัน ซาน อีกครั้ง ด้วยการคว้าเหรียญทองในประเภททีมหญิงมาครอง บททดสอบสุดท้ายของเธอ จึงเป็นประเภทหญิงเดี่ยว ซึ่งท้าทายความสามารถของเธอไม่น้อย เพราะการแข่งขันชิงแชมป์เอเชียเมื่อต้นปีที่ผ่านมา เธอคว้าได้เพียงเหรียญเงินเท่านั้น

อัน ซาน ฝ่าฟันผู้เข้าแข่งขันจากชาติต่าง ๆ จนก้าวเข้าถึงรอบชิงชนะเลิศ โดยเธอต้องพบกับ เอเลนา โอซีโปวา นักกีฬาชาวรัสเซีย เจ้าของตำแหน่งมือวางอันดับหนึ่งของโลก ซึ่งชื่อชั้นเหนือกว่า อัน ซาน มาก เพราะหญิงสาวจากเกาหลีใต้เป็นเพียงมือวางอันดับ 9 ของโลกในขณะนั้น

แต่อันดับโลกไม่ได้บ่งบอกความสามารถของนักกีฬาเสมอไป อัน ซาน แข่งขันกับโอซีโปวาอย่างสูสี ก่อนเอาชนะด้วยสกอร์ 6-5 คว้าเหรียญทองโอลิมปิกที่สามมาครองได้สำเร็จ ความสำเร็จครั้งนี้ส่งผลให้เธอกลายเป็นนักกีฬาเกาหลีใต้คนแรก ที่คว้าเหรียญทองจากกีฬาประเภทเดี่ยวในโตเกียวเกมส์ และยังเป็นนักกีฬาเกาหลีใต้คนแรกที่คว้า 3 เหรียญทอง จากการแข่งมหกรรมกีฬาโอลิมปิกเพียงครั้งเดียว

5ผลงานของ อัน ซาน ในโอลิมปิก เกมส์ 2020 ถูกมองว่า เป็นผลงานสูงสุดเท่าที่นักกีฬายิงธนูคนหนึ่งจะทำได้ และถูกยกย่องเป็นหนึ่งในนักกีฬายิงธนูที่เก่งที่สุดในประวัติศาสตร์เกาหลีใต้ และเก่งที่สุดในประวัติศาสตร์โลก เมื่อบวกกับอายุเพียง 20 ปี เธอได้รับการคาดการณ์ว่าจะสามารถทำลายผลงาน 4 เหรียญทองโอลิมปิกของ คิม ซูนยอง ในเวลาอันใกล้

พิจารณาจากความสำเร็จทั้งหมดของเธอ อัน ซาน ควรได้รับการต้อนรับอย่างดีจากเพื่อนร่วมชาติ ยิ่งกว่า “เทนนิส” พาณิภัค วงศ์พัฒนกิจ ฮีโร่เหรียญทองโอลิมปิกแรกของไทยในกีฬาเทควันโด แต่ที่ไหนได้ เธอกลับถูกโจมตีโดยชาวเน็ตเกาหลี ด้วยข้อหา “เฟมินิสต์” หรือผู้มีแนวคิดสตรีนิยม เพียงเพราะเธอตัดผมสั้นในโอลิมปิก

ถูกเกลียดชังเพราะตัดผมสั้น

หลายคนคงทราบกันดีว่า เกาหลีใต้ เป็นประเทศที่ได้รับอิทธิพลจากแนวคิดอนุรักษ์นิยม ส่งผลให้เกาหลีใต้มีลักษณะสังคมปิตาธิปไตย หรือระบบสังคมที่เพศชายเป็นผู้กุมอำนาจหลัก รวมถึงครอบงำบทบาทด้านผู้นำการเมือง อำนาจหน้าที่ทางศีลธรรม และเอกสิทธิ์ทางสังคม

6เมื่อเกาหลีใต้เป็นสังคมปิตาธิปไตย เพศหญิงจึงสภาวะที่เป็นรองเพศชายอย่างมาก พวกเธอได้รับการคาดหวังจากสังคมว่า เมื่อถึงจุดหนึ่งผู้หญิงเกาหลีใต้ต้องแต่งงาน มีลูก หรือออกเดทกับผู้ชาย และเมื่อแต่งงานไปแล้ว พวกเธอต้องทำหน้าที่เป็นภรรยาที่ดีของสามี รวมถึงแม่ที่ดีของลูก

ไม่เพียงเท่านั้น ผู้หญิงในเกาหลีใต้ยังถูกปฏิบัติต่างจากผู้ชายแทบทุกมิติ ยกตัวอย่างเช่น หากครอบครัวหนึ่งมีธุรกิจของตัวเอง พวกเขาจะส่งต่อให้แก่ลูกชายคนรอง ไม่ใช่ลูกสาวคนโต นี่คือแนวคิดที่ฝังรากลึกในสังคมเกาหลีใต้มาอย่างยาวนาน ว่าเพศชายมีความสามารถมากกว่าเพศหญิง

เมื่อกระแสสตรีนิยม หรือ เฟมินิสต์ เริ่มเคลื่อนไหวในเกาหลีใต้ จึงไม่ใช่เรื่องแปลกที่จะเกิดกระแสโต้กลับอย่างหนัก เพราะหลายคนในสังคมกำลังฉวยความได้เปรียบจากผู้หญิงในสังคมปิตาธิปไตย สำหรับผู้ชายชาวเกาหลีใต้ (บางคน) ผู้หญิงที่ตัดผมสั้นแบบ อัน ซาน ไม่ต่างจากสัตว์ประหลาด หรือ เอเลียนที่พวกเขาไม่เคยพบเห็น

ริว ฮยองริม นักกิจกรรมด้านความเท่าเทียมทางเพศ กล่าวว่า ผมยาวเป็นสัญลักษณ์ของผู้หญิงตามธรรมเนียมเกาหลีใต้ ผู้หญิงที่ไว้ผมสั้นแบบ อัน ซาน จึงถูกมองว่าละเมิดมโนคติของสังคมที่ผู้หญิงควรจะเป็น นี่เป็นข้ออ้างชั้นดีที่ทำให้ผู้หญิงที่ตัดผมสั้น ถูกเหมารวมเข้ากับกระแสเฟมินิสต์ และได้รับความเกลียดชังจากผู้คนที่มีภาวะความเป็นชายเป็นพิษ

7สำหรับ อัน ซาน เธอเริ่มถูกตั้งคำถามว่าเป็นเฟมินิสต์หรือไม่ เนื่องจากทรงผมของเธอ พร้อมกับให้ข้อสังเกตว่า “อัน ซาน เรียนในมหาวิทยาลัยสตรี และตัดผมสั้น เธอต้องเป็นเฟมินิสต์แน่ ๆ” ในขณะที่คอมเมนต์ตอบกลับได้ชี้ชัดว่า “90 เปอร์เซ็นต์ของผู้หญิงที่ตัดผมสั้นเป็นเฟมินิสต์ และนี่คือเหตุผลที่ฉันไม่สนับสนุน อัน ซาน เพราะฉันเกลียดเฟมินิสต์”

หากมีคนคิดแบบนี้ไม่กี่คนก็คงไม่เป็นไร แต่โชคร้ายที่มีคนจำนวนไม่น้อยในเกาหลีใต้ที่ยังมีความคิดล้าหลังทำนองว่า “ตัดผมสั้น = เฟมินิสต์” ส่งผลให้อินสตาแกรมของ อัน ซาน ถูกถล่มโดยชาวเน็ตไร้คุณภาพ ทั้งที่เธอเพิ่งคว้าเหรียญทองโอลิมปิก ในนามนักกีฬาทีมชาติเกาหลีใต้มาหมาด ๆ

เมื่อถูกกล่าวหาแบบนี้ อัน ซาน จึงตอบโต้ด้วยการโพสต์ประชดประชันในอินสตาแกรมไปหนึ่งดอก ก่อนลบทิ้งในเวลาไม่นาน หลังจากนั้น โค้ชนักกีฬายิงธนูทีมชาติเกาหลีใต้จึงแจ้งกับนักข่าวชัดเจนว่า อัน ซาน จะให้สัมภาษณ์เกี่ยวกับผลงานของเธอในโอลิมปิก เกมส์ เท่านั้น และจะไม่ตอบคำถามใดที่ไม่เกี่ยวข้องกับการแข่งขัน

แล้ว อัน ซาน เป็นเฟมินิสต์จริงไหม?

สำหรับการตัดผมสั้นของ อัน ซาน มีชาวเน็ตเกาหลีรายหนึ่งเคยถามเธอเกี่ยวกับเรื่องทรงผมในอินสตาแกรม อัน ซาน ตอบกลับไปเพียงว่า “เพราะว่ามันสะดวกดี” ซึ่งก็ดูจะเป็นคำตอบที่ค่อนข้างชัดเจนเกี่ยวกับการตัดผมของเธอ ว่าไม่มีความเกี่ยวข้องกับการแสดงออกในฐานะนักเฟมินิสต์แบบที่ชาวเน็ตโจมตี

8แต่อย่างที่บอกไปตั้งแต่ต้นบทความว่า อัน ซาน เป็นนักกีฬาที่เติบโตในยุคเจเนอเรชั่น Z เธอจึงมีความกล้าแสดงออก และเปิดเผยให้เห็นตัวตนอย่างตรงไปตรงมา เอกลักษณ์หนึ่งที่เธอแสดงออกทุกครั้งเมื่อลงแข่งขันกีฬายิงธนู คือการติดเข็มกลัดรูปต่าง ๆ ที่เธอชื่นชอบ ไม่ว่าจะเป็น แมว, ตัวการ์ตูนสติทช์ หรือ สายรุ้ง

นอกจากนี้ อัน ซาน ยังเป็นแฟนเพลง K-Pop ตัวยง แต่เธอไม่ได้กรี๊ดวงบอยแบนด์เหมือนกับผู้หญิงส่วนใหญ่ เพราะกลุ่มไอดอลขวัญใจเธอล้วนเป็นวงเกิร์ลกรุ๊ปทั้งหมด ไล่ตั้งแต่ Mamamoo (มามามู), WJSN (อูจูโซนยอ) จนถึง LOOΠΔ (ลูน่า) ซึ่งการที่ผู้หญิงจะชอบวงเกิร์ลกรุ๊ป ถือเป็นเรื่องปกติในสังคมทุกวันนี้

อัน ซาน จึงดูเหมือนจะเป็นคนรุ่นใหม่ที่กล้าคิดกล้าทำ และเป็นตัวของตัวเองอย่างชัดเจน มากกว่าจะเป็นนักกิจกรรมเฟมินิสต์แบบที่ชาวเน็ตโจมตี แต่บางครั้ง แค่ความมั่นใจที่มากเกินไปก็สามารถทำให้คนในสังคมไม่ชอบขี้หน้ากันได้ง่าย ๆ โดยเฉพาะ ในเกาหลีใต้ ที่มีเส้นแบ่งทางเพศเป็นข้ออ้างในการโจมตีผู้หญิงมากความสามารถ

9สิ่งที่เกิดขึ้นกับ อัน ซาน จึงเป็นการปลุกสังคมเกาหลีใต้ให้กลับมามองปัญหาความเหลื่อมล้ำทางเพศอีกครั้ง เริ่มต้นจากการตั้งแฮชแท็ก “Women_Shortcut_Campaign” ในทวิตเตอร์ ซึ่งมีผู้รีทวิตมากกว่า 6 พันครั้ง ภายในเวลาไม่กี่ชั่วโมง เพื่อสนับสนุนนักกีฬาหญิงที่ตัดผมสั้น และถูกกล่าวหาว่าเป็นเฟมินิสต์

ขณะเดียวกัน ข้อกล่าวหาเรื่องเฟมินิสต์ของ อัน ซาน นำมามาสู่การถกเถียงกันของสองขั้วการเมืองในเกาหลีใต้ เริ่มจาก ยาง จุนอู โฆษกจากพรรคพลังประชาชน พรรคฝ่ายอนุรักษ์นิยมของเกาหลีใต้ ที่ชี้ชัดว่าการกล่าวหา อัน ซาน ว่าเป็นเฟมินิสต์ ไม่ได้มีจุดเริ่มต้นมาจากทรงผมของเธอ แต่เป็นการวิพากษ์แนวคิดสตรีนิยมหัวรุนแรง ที่กำลังได้รับความนิยมในเกาหลีใต้

คำกล่าวของ ยาง จุนอู (Yang Jun-woo) ถือเป็นการตอบโต้ จาง ฮเยยอง (Jang Hye-young) นักกฎหมายจากพรรคยุติธรรม พรรคการเมืองฝ่ายซ้ายในเกาหลีใต้ ที่ออกมาโจมตีผู้สนับสนุน อัน ซาน อย่างชัดเจนว่า

10“ไม่ว่าคุณจะได้เหรียญทองกี่เหรียญทองจากทักษะและความสามารถของตัวเอง ตราบใดที่การเลือกปฏิบัติต่อผู้หญิงยังแพร่หลายในสังคมเกาหลีใต้ คุณจะถูกดูหมิ่น และถูกมองข้ามการคว้าเหรียญรางวัลจากทักษะของคุณ เพราะเหตุผลที่คุณตัดผมสั้น”

ยาง จุนอู จากพรรคฝ่ายขวา ชี้ชัดว่า การโจมตี อัน ซาน เป็นเฟมินิสต์ในช่วงเริ่มต้นเป็นเพียง “นิยายในอินเทอร์เน็ต” เท่านั้น แต่เนื่องจากกลุ่มสตรีนิยมหัวรุนแรงไม่เข้าใจการใช้ภาษาของเพศชาย จึงทำให้เรื่องบานปลายกลายเป็นความแตกแยกในสังคม โดย ยาง จุนอู ได้ทิ้งท้ายเอาไว้ว่า เขาต่อต้านการโจมตี อัน ซาน ทุกรูปแบบ ด้วยประโยคสุดคมคาย “น่าเสียดายที่สังคมเปลี่ยนไป จนแม้แต่ฮีโร่โอลิมปิกก็ไม่สามารถหลุดพ้นจากความขัดแย้งนี้ได้”

ความคิดเห็นของ ยาง จุนอู ถูกโต้ตอบโดยอดีตอาจารย์จากมหาวิทยาลัยดงยาง จิน จุงควอน (Jin Joong-kwon) โดยกล่าวว่า สิ่งที่เกิดขึ้นกับ อัน ซาน คือภาพที่ชัดเจนของผู้หญิงในสังคมเกาหลีใต้ ที่ถูกโจมตีและกดทับโดยผู้ชาย ทั้งนี้ จิน จุงควอน ยังแสดงความอับอายที่ตัวแทนพรรคการเมืองใหญ่กำลังปกป้องความอัปยศที่กำลังเกิดขึ้นในเกาหลีใต้

สิ่งที่เกิดขึ้นกับ อัน ซาน ฮีโร่เหรียญทองเจ้าโอลิมปิก ซึ่งถูกเกลียดชังจากหลายคนในสังคมเพราะตัดผมสั้น คือหลักฐานชั้นดีที่ชี้ให้เห็นถึงความเหลื่อมล้ำทางเพศที่ยังคงมีอยู่ในเกาหลีใต้ และการต่อต้านกระแสสตรีนิยมที่ได้รับการสนับสนุนจากพรรคการเมืองใหญ่ในประเทศ

11อัน ซาน ยังโชคดีที่มีคนคอยให้กำลังใจจำนวนมาก เพราะเธอคือนักกีฬาโอลิมปิกของประเทศ แต่จะมีผู้หญิงอีกมากแค่ไหนในเกาหลีใต้ ที่ถูกกดทับจากสังคมโดยไม่มีคนคอยช่วยเหลือ… 

จากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นนี้ ดูเหมือนว่าหนึ่งในปัญหาความเหลื่อมล้ำที่ฝังรากลึกในเกาหลีใต้จะยังคงอยู่ต่อไป และต้องมองหาการแก้ไขอย่างจริงจังในอนาคตข้างหน้า

แท็กที่เกี่ยวข้อง

เรื่องอื่นที่น่าสนใจ