อังกฤษยัน “ไม่ส่งพระศพ” เจ้าชายเอธิโอเปียกลับบ้านเกิด-สุดเศร้าชะตาพลัดถิ่น

Home » อังกฤษยัน “ไม่ส่งพระศพ” เจ้าชายเอธิโอเปียกลับบ้านเกิด-สุดเศร้าชะตาพลัดถิ่น



อังกฤษยัน “ไม่ส่งพระศพ” – บีบีซี รายงานว่า สำนักพระราชวังบักกิงแฮมของอังกฤษปฏิเสธคำร้องของทางการเอธิโอเปียที่ขอให้ส่งพระศพ “เจ้าชายอาเลมาเยฮู” แห่งเอธิโอเปียที่ถูกฝังภายในพระราชวังวินเซอร์ในช่วงศตวรรษที่ 19

รายงานระบุว่าเจ้าชายอาเลมาเยฮูเสด็จมายังสหราชอาณาจักร เมื่อครั้งมีพระชันษาเพียง 7 ปี และเพราะพระมารดาของเจ้าชายสิ้นพระชนม์ระหว่างทาง สมเด็จพระราชินีนาถวิกตอเรียทรงตัดสินพระทัยอุปการะและให้เจ้าชายน้อยได้รับการศึกษาที่สมควร ต่อมาเจ้าชายอาเลมาเยฮูพระชันษา 18 ปีสิ้นพระชนม์ลงอย่างกะทันหัน พระศพจึงถูกฝังไว้ที่อังกฤษ

นายฟาซิล ไมนัส ผู้สืบเชื้อพระวงศ์ กล่าวว่าอยากให้อังกฤษส่งพระศพเจ้าชายหนุ่มกลับมาเพราะเป็นประเทศบ้านเกิดของพระองค์และเป็นสิ่งที่ไม่ถูกต้องที่พระศพถูกฝังในอังกฤษ

ด้านโฆษกสำนักพระราชวังบักกิงแฮมระบุในแถลงการณ์ว่า การย้ายพระศพของเจ้าชายจะส่งผลกระทบต่อศพอื่นๆ ที่ฝังในโบสถ์น้อยเซนต์จอร์จ ภายในพระราชวังวินด์เซอร์ และที่ผ่านมาสำนักพระราชวังเคยรับรองคำขอจากผู้แทนเอธิโอเปียให้มาเยือนโบสถ์เซนต์จอร์จ

กรณีสิ้นพระชนม์ของเจ้าชายอาเลมาเยฮูในอังกฤษนั้นถือเป็นผลจากระบบจักรวรรดิและความล้มเหลวทางการทูต ในปี 2405 สมเด็จพระจักรพรรดิทีโอดรอสที่ 2 พระราชบิดาของเจ้าชายอาเลมาเยฮู ทรงสานสัมพันธ์กับอังกฤษ แต่พระราชสาส์นไม่เคยได้รับการตอบกลับจากสมเด็จพระราชินีนาถวิกตอเรีย

อังกฤษยัน “ไม่ส่งพระศพ”

อังกฤษยัน “ไม่ส่งพระศพ” – Buckingham Palace has declined a request to return the remains of an Ethiopian prince who came to be buried at Windsor Castle in the 19th Century. Prince Alemayehu was taken to the UK aged just seven and arrived an orphan after his mother died on the journey. /Royal Collection Trust/

ความพิโรธสะสมขึ้นอย่างเงียบๆ กระทั่งสมเด็จพระจักรพรรดิทรงมีพระบรมราชโองการให้จับชาวยุโรปบางคน รวมทั้งกงสุลชาวอังกฤษ เป็นตัวประกันซึ่งเป็นชนวนสงครามและชักศึกเข้าบ้านเพราะอังกฤษระดมกำลังพลจากอังกฤษและอินเดียรวมกันราว 13,000 คนรุดช่วยตัวประกัน

เดือนเมษายน พ.ศ.2411 กองทัพอังกฤษล้อมป้อมปราการบนภูเขาทางตอนเหนือของเอธิโอเปียและทลายแนวกั้นเข้าไปได้ภายในเวลาไม่กี่ชั่วโมง สมเด็จพระจักรพรรดิทรงตัดสินพระทัยปลิดพระชนม์พระองค์เองดีกว่าตกเป็นนักโทษของอังกฤษ และนั่นทำให้ชาวเอธิโอเปียยกย่องพระองค์เป็นวีรบุรุษ

หลังเสร็จสิ้นสงครามอังกฤษปล้นสะดมสิ่งของล้ำค่าทางวัฒนธรรมและศาสนาไปหลายพันชิ้น รวมถึง มงกุฎทองคำ เอกสารที่เขียนด้วยลายมือ สร้อยคอ และชุดเสื้อผ้าต่างๆ นักประวัติศาสตร์กล่าวว่าต้องใช้ช้างหลายสิบตัวและล่อหลายร้อยตัวขนทรัพย์สมบัติซึ่งปัจจุบันกระจัดกระจายอยู่ตามพิพิธภัณฑ์และห้องสมุดในยุโรป รวมถึงเอกชน

อังกฤษทูลเกล้าเชิญเจ้าชายและ สมเด็จพระจักรพรรดินีทิรูเวิร์ค วูเบ พระราชมารดาเสด็จออกจากเอธิโอเปียเพื่อความปลอดภัยและป้องกันไม่ให้ทั้ง 2 พระองค์ถูกศัตรูของจักรพรรดิสังหาร

หลังจากเจ้าชายเสด็จถึงอังกฤษในเดือนมิ.ย. 2411 พระมารดาของพระองค์สิ้นพระชนม์ระหว่างการเดินทาง เจ้าชายทรงกลายเป็นราชนิกุลผู้กำพร้า ทำให้สมเด็จพระราชินีนาถวิกตอเรียทรงเห็นใจตั้งแต่พบพระพักตร์ที่ตำหนักตากอากาศบนเกาะไอล์ออฟไวต์ ทางตอนใต้ของอังกฤษ

สมเด็จพระราชินีนาถวิกตอเรียทรงอุปถัมป์ทางการเงินและมีพระราชเสาวนีย์ให้ ร้อยเอกทริสแทรม ชาร์ลส์ ซอว์เยอร์ สปีดี ผู้ติดตามเจ้าชายมาจากเอธิโอเปีย เป็นองครักษ์คอยดูแลและอารักขาเจ้าชายน้อย

อังกฤษยัน “ไม่ส่งพระศพ”

อังกฤษยัน “ไม่ส่งพระศพ” – Queen Victoria then took an interest in him and arranged for his education – and ultimately his burial when he died aged just 18. But his family wants his remains to be sent back to Ethiopia. /Royal Collection Trust/

เจ้าชายอาเลมาเยฮูและร้อยเอกสปีดีอาศัยอยู่ที่ไอล์ออฟไวต์ ก่อนออกเดินทางไปประเทศต่างๆ ทั่วโลก รวมทั้งอินเดีย กระทั่งถึงเวลาที่เจ้าชายทรงต้องเข้ารับการศึกษาอย่างเป็นทางการ จึงเสด็จกลับอังกฤษเพื่อทรงศึกษาที่โรงเรียนรักบี้ จากนั้นทรงย้ายมาศึกษาที่โรงเรียนนายร้อยทหารบกแซนด์เฮิสต์ แต่พระองค์ถูกกลั่นแกล้ง เจ้าชายทรงมีพระประสงค์ที่จะกลับบ้าน แต่สมเด็จพระราชินีนาถวิกตอเรียทรงไม่เห็นด้วย

อย่างไรก็ตาม ในท้ายที่สุดเจ้าชายอาเลมาเยฮูทรงได้รับพระราชานุญาตให้พระอาจารย์ถวายการเรียกการสอนที่พระตำหนักในเมืองลีดส์ แต่พระองค์กลับประชวรด้วยโรคปอดบวมและทรงปฏิเสธการรักษาเพราะคิดว่าถูกวางยาพิษ หลังจากประทับอยู่ในอังกฤษนาน 1 ทศวรรษ เจ้าชายก็สิ้นพระชนม์เมื่อปี 2422 ด้วยพระชันษา 18 ปี

สื่ออังกฤษตีพิมพ์ข่าวการจากไปของเจ้าชาย ขณะที่สมเด็จพระราชินีนาถวิกตอเรียทรงมีพระราชหัตถเลขาในสมุดบันทึกว่าทรงโทมนัสยิ่งหลังทราบข่าวจากโทรเลขว่าเจ้าชายหนุ่มสิ้นพระชนม์เพียงลำพังในต่างแดน ชีวิตของเจ้าชายไร้ความสุข แบกความทุกข์ยากทุกอย่างและคิดว่าผู้คนจ้องมองเจ้าชายเพราะสีผิวที่แตกต่าง นั่นทำให้สมเด็จพระราชินีนาถวิกตอเรียทรงมีพระราชเสาวนีย์ให้ฝังพระศพเจ้าชายในพระราชวังวินเซอร์

ทั้งนี้ เอธิโอเปียไม่ได้เพิ่งเรียกร้องให้ส่งพระศพกลับ เพราะเมื่อปี 2550 นายกิร์มา โวลเด-กิยอร์กิส อดีตประธานาธิบดีเอธิโอเปีย ถวายคำร้องอย่างเป็นทางการต่อ สมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 2 แต่ไร้ผล

นางอาเบเบค คาซา ผู้สืบเชื้อสายราชวงศ์เอธิโอเปีย กล่าวว่าอยากนำพระศพเจ้าชายกลับเอธิโอเปีย เพราะไม่อยากให้พระองค์ต้องอยู่ต่างแดน พระองค์ทรงมีชีวิตที่น่าเศร้า ตนร้องไห้เมื่อคิดถึงพระองค์ และหวังว่าจะได้รับการตอบรับในทางที่ดีจาก สมเด็จพระเจ้าชาร์ลส์ที่ 3

ส่วนนางอลูลา แพงก์เฮิร์สต์ ผู้เชี่ยวชาญด้านความสัมพันธ์อังกฤษ-เอธิโอเปีย กล่าวว่าการส่งคืนพระศพจะช่วยปรองดองและเรียนรู้ถึงความผิดพลาดในอดีตได้

แท็กที่เกี่ยวข้อง

เรื่องอื่นที่น่าสนใจ