อะไรที่ ‘ขึ้นรา’ ควรทิ้ง! อ.เจษฎา ชี้ หากเจอราที่มีพิษ แล้วเกิดอาการแพ้ อาจถึงตายได้

Home » อะไรที่ ‘ขึ้นรา’ ควรทิ้ง! อ.เจษฎา ชี้ หากเจอราที่มีพิษ แล้วเกิดอาการแพ้ อาจถึงตายได้

อะไรที่ ‘ขึ้นรา’ ควรทิ้ง! อ.เจษฎา ชี้ หากเจอราที่มีพิษ แล้วเกิดอาการแพ้ อาจถึงตายได้ ปมสาวซื้อคิมบับ ร้านดัง เจอเสื่อม้วนข้าวปั้นขึ้นรา!

กลายเป็นอีกประเด็นร้อนในโลกออนไลน์ เมื่อผู้ใช้ TikTok รายหนึ่งได้โพสต์คลิปขณะที่ตนเองได้เข้าไปกล่าวตักเตือนร้านขายคิมบับ ที่ตนได้ซื้อมาก่อนหน้า โดยพบว่า เสื่อม้วนข้าวปั้นที่ทางร้านใช้นั้นมีคราบเชื้อราขึ้นเต็มไปหมด จึงอยากให้ทางร้านเปลี่ยนเพื่อความปลอดภัย

โดยทางฝั่งของแม่ค้าและทางฝั่งของลูกค้าได้มีการโต้เถียงกันอยู่สักพัก จนแม่ค้าเริ่มมีอารมณ์เพราะไม่เข้าใจความต้องการของลูกค้า จึงพยายามแก้ด้วยการโอนเงินคืน และนำเจลแอลกอฮอล์มาฉีดลงบนเสื่อแล้วเช็ดให้ดู

  • สาวผงะ! ซื้อ คิมบับ พบร้านใช้เสื่อขึ้นรามาทำอาหาร แถมแก้ด้วยการใช้สิ่งนี้เช็ดอีก

เกี่ยวกับเรื่องนี้ ล่าสุดวันนี้ (8 ก.พ.) รศ.ดร.เจษฎา เด่นดวงบริพันธ์ หรืออ.เจษฏา อาจารย์ประจำภาควิชาชีววิทยา คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ก็ได้ออกมาโพสต์ผ่านเพจเฟซบุ๊ก อ๋อ มันเป็นอย่างนี้นี่เอง by อาจารย์เจษฎ์ โดยอ.เจษฏาได้ระบุว่า “ถ้าอุปกรณ์ทำครัวเกิดขึ้นรา ไม่ว่าจะเสื่อไม้ไผ่หรือเขียงไม้ ก็ไม่ควรเอามาใช้ประกอบอาหารต่อไป และอาหารอะไรที่ขึ้นรา ก็ควรทิ้งไป อย่าเสียดาย

  1. เมื่อกินอาหารที่ปนเปื้อนเชื้อราเข้าไป จะเกิดอันตรายหรือไม่ ขึ้นอยู่กับชนิดพันธุ์ของเชื้อรา
    • หากเป็นราที่ไม่มีพิษ ก็อาจไม่เกิดอาการอะไรเลย
    • แต่ถึงเป็นชนิดที่ไม่มีพิษ แต่ถ้าคนนั้นแพ้สารจากเชื้อรา ก็อาจจะอันตรายได้ เช่น เชื้อราเพนนิซิเลี่ยม Penicillium (ที่ใช้สังเคราะห์ยาเพนนิซิลิน penicillin) คนปรกติ กินเข้าไป จะไม่อันตราย แต่ถ้าเป็นคนที่แพ้ ก็อาจเป็นอันตรายได้
    • คนที่แพ้เชื้อราบางชนิด อาจมีอาการรุนแรงคือความดันต่ำ หายใจลำบาก หัวใจล้มเหลว ช็อก และเสียชีวิตได้
    • หากเป็นเชื้อราชนิดที่สร้างสารพิษที่ไม่รุนแรง และมีปริมาณน้อย อาจทำให้ปวดท้อง ท้องร่วง คลื่นไส้ อาเจียน เวียนศีรษะ และอ่อนเพลียได้
    • แต่ถ้าเป็นเชื้อราที่สร้างสารที่มีพิษ ก็อาจส่งผลต่อสุขภาพได้ เช่น เป็นพิษต่อตับ ไต ระบบประสาท กล้ามเนื้อ และระบบภูมิคุ้มกัน
    • สารอะฟลาท็อกซิน (aflatoxin) จากเชื้อรา อาจทำให้เกิดตับอักเสบเฉียบพลัน ซึ่งหากไม่ได้รักษาก็อาจกลายเป็นมะเร็งตับได้
    • สารไตรโคธีซีน (trichothecene) เป็นพิษที่ดูดซึมได้ทั้งทางลำไส้และการหายใจ อาจทำให้เกิดจุดเลือดออกที่ผิวหนังได้
    • สารพวกเออร์กอต อัลคาลอยด์ ergot alkaloids อาจทำให้ปวดศีรษะรุนแรง ความดันต่ำ ชีพจรเต้นช้า เจ็บหน้าอก หายใจติดขัด แขนขาชา ไปจนถึงขั้นสั่นและชักกระตุกได้ ซึ่งหากอาการรุนแรง อาจทำให้หลอดเลือดแดงเล็กหดเกร็ง และเซลล์ขาดเลือดได้ แต่สารนี้ดูดซึมทางลำไส้ได้น้อย
  2. หากเผลอกินเชื้อราเข้าไป พอรู้ตัว ให้หยุดทานทันที และเก็บอาหารใส่ถุงทิ้ง
    • ทั่วไป มักจะแยกชนิดเชื้อราไม่ได้ด้วยตาเปล่า ไม่รู้ว่าราที่เผลอทานเข้าไปมีพิษหรือไม่
    • สังเกตอาการ หากมีอาการผิดปกติ เช่น เวียนศีรษะ คลื่นไส้ ปวดท้อง ต้องทำให้อาเจียนเพื่อขับสารพิษออก และรีบไปพบแพทย์โดยด่วน
    • ควรระวังการกินอาหารที่ปนเปื้อนเชื้อราเป็นประจำ โดยไม่รู้ตัว เพราะจะทำให้ป่วยเรื้อรัง และรักษาได้ลำบาก
  3. วิธีหลีกเลี่ยงเชื้อราในอาหาร
    • สังเกตอาหารก่อนทานทุกครั้ง หากพบว่ามีราขึ้น ให้หลีกเลี่ยงการทานและการสูดดมเด็ดขาด
    • ให้เก็บใส่ถุง มัดให้มิดชิด และทิ้งทันที โดยเฉพาะในอาหารปรุงสุก อาหารสำเร็จรูป ขนมปัง เนื้อสัตว์ โยเกิร์ต ผักผลไม้เนื้ออ่อน แม้พบเชื้อราเพียงเล็กน้อย ก็ให้ทิ้งทั้งหมด
    • ควรเก็บอาหารและพืชผักที่ขึ้นราได้ง่าย เช่น หอม กระเทียม ถั่วลิสงป่น กุ้งแห้ง ไว้ในที่แห้ง และมีอากาศถ่ายเท
    • ผักชนิดแข็ง เช่น หัวแครอท มันเทศ กะหล่ำปลี หากมีราขึ้น ให้ตัดส่วนที่เป็นราทิ้งไป และนำส่วนที่เหลือมาปรุงอาหารได้ เนื่องจากสายของราไม่แผ่เข้าไปในเนื้ออาหาร (แต่จริงๆ ทิ้งได้ ก็ทิ้งไปเลยเถอะ)



แท็กที่เกี่ยวข้อง

เรื่องอื่นที่น่าสนใจ