อริภาษาอะไร : ทำไม มิลาน-อินเตอร์ จึงเป็นทีมคู่ปรับที่นักเตะย้ายข้ามฟากเป็นว่าเล่น ?

Home » อริภาษาอะไร : ทำไม มิลาน-อินเตอร์ จึงเป็นทีมคู่ปรับที่นักเตะย้ายข้ามฟากเป็นว่าเล่น ?
อริภาษาอะไร : ทำไม มิลาน-อินเตอร์ จึงเป็นทีมคู่ปรับที่นักเตะย้ายข้ามฟากเป็นว่าเล่น ?

ฮาคาน ชัลฮาโนกลู, ซลาตัน อิบราฮิโมวิช, อันเดรีย ปีร์โล่, คลาเรนซ์ เซดอร์ฟ, โรนัลโด้ R9 … และอื่น ๆ คือกลุ่มนักเตะที่เคยลงเล่นให้กับ 2 สโมสรอริร่วมเมืองมิลาน ย่าง เอซี  มิลาน และ อินเตอร์ มิลาน

ทั้งสองสโมสรมีเกมดาร์บี้ที่มีชื่อว่า Derby della Madonnina เคยมีเหตุการณ์มากมายเกินขึ้นในการแข่งขันจนดูเหมือนว่าพวกเขาเกลียดกันเข้าไส้ 

อย่างไรก็ตามสิ่งที่สวนทางคือมีนักเตะถึง 27 คนที่ย้ายข้ามฝั่งโดยตรง ทั้งที่แฟนบอลดูจะเดือดกันขนาดนั้น ทำไมมันจึงเกิดขึ้นได้ง่ายดายและบ่อยครั้งนัก

 

ติดตามเรื่องราวของ มิลาน ดาร์บี้ และความสัมพันธ์ที่หลายคนอาจจะยังไม่รู้ได้ที่ Main Stand

จุดเริ่มต้นของเรื่องทั้งหมด 

ก่อนจะเริ่มความ ก็ต้องมองไปถึงจุดกำเนิดของสโมสรในเมืองมิลาน ที่เป็นคู่รักคู่แค้นกันมาเกิน 100 ปี … เรื่องราวมันเกิดขึ้นเมื่อปี 1899 เมื่อชาวอังกฤษที่ชื่อว่า เฮอร์เบิร์ต คิลปิน ที่เข้ามาทำมาหากินในเมืองมิลานจนมีฐานะร่ำรวย ได้ก่อตั้งทีมคริกเก็ตและทีมฟุตบอลประจำเมืองขึ้นมาโดยใช้ชื่อว่า “มิลาน ฟุตบอล แอนด์ คริกเกต คลับ” (Milan Foot-Ball and Cricket Club)


Photo : commons.wikimedia.org

มิลาน ฟุตบอล แอนด์ คริกเกต หรือ เอซี มิลาน ในเวลาต่อมา จึงกลายเป็นสโมสรแรกแห่งเมืองมิลาน และสโมสรที่ 4 แห่ง อิตาเลียน ฟุตบอล แชมเปี้ยนชิพ พวกเขาทำผลงานได้อย่างโดดเด่น คว้าแชมป์ได้ทันทีในปี 1901 และอีก 2 สมัยในปี 1906 และ 1907 กับแนวทางการสร้างทีมด้วยแนวคิดที่ว่า “ทีมเพื่อประชาชน ทีมสำหรับชนชั้นแรงงาน และมีความชาตินิยมในหมู่นักเตะและแฟนบอล”

 

ในตอนแรกผู้คนที่นั่นก็เชียร์ทีมนี้ เพราะมันมีตัวเลือกเดียว แต่นานวันเข้าการเปลี่ยนแปลงภายในก็เริ่มเกิดขึ้น เพราะภายใต้อุดมการณ์ที่สวยหรู แต่กลุ่มนักเตะและคนในสโมสรบางส่วนก็ไม่ได้ชอบใจนัก เนื่องจากในความเป็นจริงนั้นมีการเล่นพรรคเล่นพวกในกลุ่มผู้บริหารชาวอังกฤษ นอกจากนี้ กลุ่มผู้ก่อตั้งยังพยายามผลักดันสโมสรคริกเกตที่เกิดขึ้นมาพร้อมกันอีกด้วย 

แต่สิ่งสำคัญที่สุดคือความเป็นหัวโบราณของ มิลาน ฟุตบอล คลับ ด้วยความเป็นชาตินิยม ทำให้พวกเขากีดกันไม่ให้นักเตะต่างชาติลงสนาม ซึ่งสิ่งนี้ก็เป็นคลื่นใต้น้ำจนถึงวันแตกหัก 

9 ปีหลังจากที่เมือง มิลาน มีสโมสรเดียว กลุ่มคนที่ไม่เห็นด้วยกับแนวทางการทำทีม ซึ่งเป็นกลุ่มหัวก้าวหน้า มีการศึกษา และเป็นนักธุรกิจที่มีฐานะร่ำรวย จึงได้ออกมาก่อตั้งสโมสรเองในปี 1908 และใช้ชื่อว่า ฟุตบอลคลับ อินเตอร์นาซิอองนาล (Football Club Internazionale) โดยมีผู้ร่วมก่อตั้งอย่าง จอร์โจ มักกีอานี ศิลปินผู้เป็นชาวเมืองมิลานเป็นหัวเรือใหญ่

โดยคำว่า Internazionale ก็คือคำว่า International ในภาษาอังกฤษ ที่แปลว่านานาชาติ ซึ่งมีความหมายว่าสโมสรแห่งนี้พร้อมจะเปิดรับผู้เล่นต่างชาติ โดยไม่ได้จำกัดเฉพาะผู้เล่นชาวอิตาลี ซึ่งต่างจาก เอซี มิลาน อย่างชัดเจน  


Photo : arieeoke.blogspot.com

 

จาก 1 กลายเป็น 2 และความรู้สึกเเตกแยกกันก็เกิดขึ้น พวกเขาต่างมีความเชื่อในแบบของตัวเอง ฝั่ง เอซี มิลาน มีชนชั้นแรงงานในเมืองสนับสนุน และยังคงรักมั่นกับสโมสรนี้เป็นกองเชียร์อยู่ โดยได้รับเงินสนับสนุนจากกลุ่มขุนนางที่ต้องการความนิยมจากกลุ่มชนชั้นรากหญ้า 

ขณะที่ฝั่ง อินเตอร์ มิลาน ที่ก่อตั้งโดยกลุ่มหัวก้าวหน้า ก็มีกลุ่มปัญญาชนผู้มีรายได้สูงเป็นแฟนบอล แถมพวกเขายังประสบความสำเร็จมากกว่า โดยเฉพาะช่วงครึ่งแรกของศตวรรษที่ 20 ด้วยการคว้าแชมป์ลีกหรือเซเรียอาถึง 5 สมัย (1909–10, 1919–20, 1929–30, 1937–38, 1939–40)   

ด้วยเหตุดังกล่าวจึงทำให้เกิดการแบ่งแยกด้วยฐานะระหว่างแฟนบอลทั้ง 2 ทีม จนเกิดวลีที่ว่า “แฟน อินเตอร์ ขับมอเตอร์ไซค์ แฟน มิลาน นั้นไซร้นั่งรถราง” ในช่วงทศวรรษที่ 1950s ซึ่งนั่นหมายความว่า กลุ่มแฟน อินเตอร์ นั้นรวยกว่า สามารถมีเงินไปซื้อรถมอเตอร์ไซค์ที่เป็นของแพงในยุคนั้นขี่ไปเชียร์ทีมในแต่ละนัด ขณะที่แฟนมิลานต้องมาต่อคิวกันเพื่อขึ้นรถราง ที่เป็นขนส่งสาธารณะที่มีค่าใช้จ่ายถูกกว่าเยอะ เพื่อเดินทางไปยังสนามในแต่ละเกม 

นี่คือภาพสะท้อนถึงความแตกต่างของ 2 สโมสรเมื่อในอดีต พวกเขาแตกต่างกันในแง่ของแนวคิด การเมือง และประเพณี มีความแตกต่างเกิดขึ้นจากการแยกตัวออกมา 

อย่างไรก็ตาม ทั้งที่เป็นอย่างนั้นพวกเขาควรจะโกรธแค้น ไม่ชอบหน้า และไม่ควรจะส่งนักเตะของตัวเองไปให้อีกฝั่งเหมือนที่เป็นอยู่ทุกวันนี้ไม่ใช่หรือ ?

เวลาผ่านไปและความบาดหมางที่ไม่มากพอ

ความบาดหมางของ เอซี มิลาน และ อินเตอร์ มิลาน ส่วนใหญ่แล้วหนักไปทางแนวคิดและฐานะ ทว่า หากเทียบกับ ดาร์บี้ ที่อื่นที่มีการเมืองและศาสนามาเกี่ยวข้อง กรณีความขัดแย้งของ มิลาน และ อินเตอร์ ก็ดูซอฟต์ลงมาทันที 

นอกจากนี้ ยิ่งมีเหตุผลเรื่องของเวลามาเกี่ยวข้องด้วยแล้ว ความบาดหมางระดับเอากันให้ถึงตายจึงเกิดขึ้นไม่บ่อยนักหลังผ่านพ้นยุค 1960s เป็นต้นมา 


Photo : www.brandmilano.org

มิลาน ที่เคยเป็นสโมสรลัทธิชาตินิยมก็เปิดใจรับการใช้นักเตะต่างชาติ และได้เห็นความเปลี่ยนแปลง หลังปล่อยให้ทีมอื่น ๆ คว้าแชมป์สคูเด็ตโต้ไปหลายปี ซึ่งการมีนักเตะต่างชาติก็ทำให้พวกเขาเริ่มกลับมาทวงบัลลังก์ คว้าแชมป์เซเรียอาอีกหลายครั้ง ในช่วงทศวรรษที่ 1950-1980

 

แถมโชคชะตาของพวกเขายังเปลี่ยนไปเมื่อ ซิลวิโอ แบร์ลุสโคนี่ นักการเมืองที่ภายหลังได้เป็นนายกรัฐมนตรีของประเทศอิตาลี เข้ามาเทคโอเวอร์ทีมในปี 1986  ที่ทำให้ทีมก้าวหน้าขึ้นในแง่ของแนวคิด และไม่กลัวที่จะลงทุนคว้านักเตะต่างชาติระดับโลกอย่าง แฟรงค์ ไรการ์ด, รุด กุลลิต และ มาร์โก ฟาน บาสเท่น เข้ามาสู่ทีม

ขณะที่ อินเตอร์ ก็เติบโตไปในทิศทางของพวกเขา เมื่อมี มัสซิโม โมรัตติ เศรษฐีน้ำมันเข้ามาซื้อทีม และทำให้ทั้งสองสโมสรมีอะไรคล้าย ๆ กัน พวกเขาอยู่ได้ด้วยเงินของเศรษฐีและผู้มีอิทธิพล 

ดังนั้นดราม่าเรื่องฐานะของคนท้องถิ่นและชนชั้นสูงจึงกลายเป็นเรื่องของอดีต อาจจะมีแฟนบอลยุคเก่า ๆ ที่ยังอินกับความเป็น มิลาน ดาร์บี้ อยู่บ้าง แต่เมื่อเวลาผ่านไป กลุ่มคนรุ่นใหม่ก็ไม่คิดถึงเรื่องโบราณคร่ำครึอะไรแบบนั้นแล้ว ว่าง่าย ๆ ก็คืออุดมการณ์ของทั้ง 2 ฝั่งเปลี่ยนมาเป็นแบบเดียวกัน นั่นคือการสร้างสโมสรให้ประสบความสำเร็จที่สุด

อีกทั้ง ในปี 1983 ตัวแทนแฟนบอลทั้งสองฝ่ายยังได้ลงนาม “สนธิสัญญายกเลิกการรุกราน” นั่นหมายความว่า จะไม่มีการโจมตีหรือเหตุรุนแรงนอกสนาม จากกลุ่มแฟนบอลหัวรุนแรงเหมือนกับที่เกิดขึ้นในอดีตอีกเเล้ว 

เนื่องจากมันเป็นสิ่งที่ไร้ประโยชน์ ทั้งยังทำลายมิตรภาพและความสำคัญในครอบครัวอีกด้วย ตัวแทนของทั้งคู่จึงจับมือกันลงสู่สนาม ซาน ซิโร่ พร้อมกับแลกธงเชียร์เพื่อยืนยันถึงมิตรภาพที่ดีต่อกัน และยังคงเป็นเช่นนั้นเรื่อยมา

 

“ประวัติศาสตร์ระหว่าง เอซี มิลาน และ อินเตอร์ มิลาน เป็นอะไรที่ค่อนข้างประหลาด สองทีมใหญ่ประจำเมืองมีฐานแฟนคลับจำนวนมาก แต่แทบไม่มีปัญหาอะไรกันเลย นอกจากในยุค 70s ที่กลุ่มอัลตร้าของทั้ง 2 ทีมห้ำหั่นกันนอกสนาม ซึ่งช่วงเวลานั้นอาจเป็นเพราะว่าสภาพแวดล้อมทางการเมืองในอิตาลีค่อนข้างจะร้อนระอุด้วย” บาร์บาร่า บัลลาร์ดินี่ ผู้ศึกษาด้านงานเขียนและวิทยานิพนธ์ ที่เป็นแฟนบอลของ เอซี มิลาน กล่าวในมุมของเธอ 

“แต่เนื้อแท้เเล้วพวกเขาแข่งกันแค่ฟุตบอล ไม่ได้แข่งกันด้วยศาสนาหรือการเมือง มันจึงเป็นความสัมพันธ์ของคู่ปรับที่ค่อนข้างประหลาดตามที่ได้กล่าวไว้” 


Photo : www.ilgiorno.it

จอห์น ฟุต นักเขียนผู้เขียนหนังสือ Calcio: A History of Italian Football ระบุไว้ไม่ต่างกัน การเติบโตมาในแบบเดียวกันและการแลกธงสงบศึก เป็นเหตุการณ์สำคัญที่แฟนบอล อินเตอร์ และ เอซี ร่วมกันสร้าง “ดาร์บี้ เฟรนด์ลี่” หรือเกมดาร์บี้แมตช์แห่งมิตรภาพ พวกเขาเลิกบาดหมางกันในเรื่องนอกสนาม และมันก็ค่อย ๆ เปลี่ยนแปลงแนวคิดของแฟนบอลยุคใหม่ ๆ ไปโดยปริยาย มิลาน ดาร์บี้ จึงไม่ได้ดุเดือดและอันตรายเท่า โรม ดาร์บี้ (โรม่า vs ลาซิโอ) 

เอาล่ะ ในเมื่อความบาดหมางทั้งหมดถูกโยนทิ้ง และต่างฝ่ายต่างโฟกัสไปที่ภาพกว้าง ฟุตบอลระหว่าง เอซี และ อินเตอร์ จึงกลายเป็นเกมแบบครอบครัว แม้จะไม่สนิทชิดเชื้อเท่ากับ เมอร์ซี่ย์ไซด์ ดาร์บี้ ที่ ลิเวอร์พูล แข่งกับ เอฟเวอร์ตัน แต่ภาพของการเข้าไปเชียร์เกมกันทั้งครอบครัวโดยมีพ่อใส่เสื้อ อินเตอร์ และลูกชายใส่เสื้อ เอซี ยังคงมีให้เห็นอยู่เสมอ

โลกของทุนนิยม 

เมื่อพวกเขาไม่เกลียดกันในระดับเข้ากระดูกดำ ไม่แค้นกันขนาดตามแช่งชักหักกระดูก ดังนั้นจึงไม่น่าแปลกใจเลยว่าทำไมการซื้อขายนักเตะกันโดยตรงจึงไม่ใช่เรื่องใหญ่ 


Photo : www.sportspromedia.com

พวกเขามองข้ามอุดมการณ์ในอดีต และไม่ได้ขัดแย้งกันในแง่ของศาสนาและการเมือง การซื้อขายนักเตะให้กันและกันจึงไม่ต่างอะไรกับการขายนักเตะให้ทีมอื่น ๆ แบบเงินมานักเตะไป ได้ราคาที่ต้องการก็พร้อมจะขาย นั่นคือสิ่งที่เราเห็นมาเสมอ แต่หลายคนก็สงสัยมาตลอดว่า พวกเขาไม่ตะขิดตะขวงใจกันบ้างหรือ ?

คำตอบที่ค่อนข้างชัดเจนคือ “มี แต่น้อยมาก” นักเตะที่ย้ายทีมอาจจะได้ยินเสียงโห่บ้างหากต้องมาเจอกัน แต่ไม่มีอะไรมากไปกว่านั้น นั่นเป็นความจริงที่เกิดขึ้นอยู่ทุกวัน 

สิ่งที่สังเกตได้อีกอย่างคือ การย้ายทีมข้ามฟากที่เกิดขึ้น มักไม่ได้เกิดขึ้นในรูปแบบของตัวท็อปย้ายค่าย นักเตะแต่ละคนที่ย้ายทีมแต่ละครั้งมีเหตุผลที่พอยอมรับได้ 

ยกตัวอย่างเช่น อันเดรีย ปีร์โล่ ตอนย้ายไป มิลาน ก็ไม่ได้ทำร้ายความรู้สึกแฟนบอลของ อินเตอร์ นัก เพราะสมัยที่ ปีร์โล่ อยู่กับทีม เขาก็ไม่ได้เป็นตัวหลักตัวสำคัญถึงขั้นขาดไม่ได้ เมื่อมีข้อเสนอที่ดีและนักเตะอยากจะย้ายเพื่อได้โอกาสลงสนาม การย้ายทีมข้ามฟากจึงเกิดขึ้น 


Photo : sport.sky.it

เช่นเดียวกันกับกรณีของนักเตะที่ย้ายตรงอย่าง คลาเรนซ์ เซดอร์ฟ ที่ อินเตอร์ ยอมแลกตัวกับ ฟรานเชสโก้ โคโค่ และได้รับเงินอีกส่วนในตอนนั้น นั่นก็เพราะ เซดอร์ฟ เองก็ไม่สามารถมีอาชีพที่สวยงามนักสมัยยังใส่เครื่องแบบดำ-น้ำเงิน

Photo : www.sportskeeda.com 

เมื่อไม่ได้ใช้งานหรือไม่ตรงกับแนวทางการทำทีมก็ขายต่อ มันออกมาในรูปแบบนั้นมากกว่า นอกจาก ปีร์โล่ และ เซดอร์ฟ แล้วยังมีการระบายนักเตะให้กันและกันอีกมากมาย เช่น มาเทียส ซิลเวสเตร, อมันติโน่ มันชินี่, อันโตนิโอ คาสซาโน่, ตาริโบ เวสต์, โธมัส เฮลเว็ค, กูลี่, จามเปาโล ปาซซินี่, ดาริโอ ซิมิช, เมาริซิโอ กานซ์ และ จุสเซปเป้ ฟาวัลลี่ เป็นต้น

เมื่อเห็นรายชื่อเหล่านี้คุณจะพบว่า พวกเขามักจะทำได้ดีกับสโมสรจากเมืองมิลานสโมสรใดสโมสรหนึ่งเท่านั้น หลังจากย้ายทีม หรือไม่ก็เป็นการโดนขายออกจากทีมเพราะหาที่ลงไม่ได้ 

จะมีก็แต่รายล่าสุดอย่าง ฮาคาน ชัลฮาโนกลู กองกลางชาวตุรกี ที่ฝั่ง มิลาน อาจจะเคืองอยู่บ้าง เพราะพวกเขาอยากต่อสัญญา เเต่ฝั่ง อินเตอร์ ได้มอบสัญญาที่มีมูลค่ามากกว่าให้ จึงเกิดการย้ายข้ามฟากในซัมเมอร์ที่ผ่านมา และนี่แทบจะเป็นดีลเดียวเลยก็ว่าได้ที่พวกเขาส่งนักเตะที่เป็นตัวหลักให้กับอีกทีม ซึ่งความจริงแล้ว มิลาน ไม่เต็มใจเท่าไรนัก แต่ก็ช่วยไม่ได้ที่สัญญาหมดลง และนักเตะก็มีสิทธิ์เลือกทางของตัวเอง 

ขณะเดียวกัน ก็มีนักเตะอีกหลายคนที่เคยเล่นให้กับ 2 สโมสรเมืองมิลานในอาชีพค้าแข้งอย่าง ซลาตัน อิบราฮิโมวิช, เอ็ดการ์ ดาวิดส์, พาทริก วิเอร่า, คริสเตียน วิเอรี่, โรนัลโด้ R9, เลโอนาร์โด โบนุชชี่ และอื่น ๆ อีกมากพอสมควร แต่นักเตะเหล่านี้ไม่ได้ย้ายข้ามฝั่งโดยตรง


Photo : api.allfootballapp.com


Photo : www.irishtimes.com

การย้ายทีมของพวกเขาเป็นไปตามวัฏจักรของฟุตบอล บางครั้งพวกเขาก็ได้ค่าเหนื่อยที่ดีกว่า บางครั้งพวกเขาก็ต้องการประสบการณ์ความท้าทายแบบใหม่ บางรายเป็นนักเตะที่ทีมยอมทุ่มซื้อเพื่อยกระดับทีมขึ้นไป 

ไม่มีอะไรพิเศษไปมากกว่านั้น ทุกอย่างอยู่บนเงื่อนไขการตลาดและการซื้อขาย มี Demand ก็มี Supply เมื่อทีมนั้นไม่ต้องการพวกเขาแต่อีกทีมอยากได้ … เป็นเรื่องมันง่ายมากที่จะบอกว่าความบาดหมางระหว่างสองสโมสร รวมถึงความขัดแย้งในอดีตโดนลบไปจนเกลี้ยง ทำให้ไม่มีอะไรต้องมาคาใจสำหรับนักเตะ พวกเขารู้ว่าต่อให้ย้ายทีมไปเล่นให้อีกฝั่ง พวกเขาก็จะไม่โดนเหตุการณ์อย่างการขู่ฆ่าหรือถูกมองว่าเป็นจูดาส (คนทรยศ) 

ดังนั้นจึงเป็นเหตุผลว่า ทำไมจึงมีนักเตะที่เคยเป็นสมาชิกของ มิลาน และ อินเตอร์ มากถึง 27 คน แบบที่ทีมร่วมเมืองในที่อื่น ๆ หรือประเทศอื่น ๆ ไม่มี

แท็กที่เกี่ยวข้อง

เรื่องอื่นที่น่าสนใจ