ร่วมแถลงเปิดชื่อแบรนด์ ไส้กรอกเถือน หลัง ปคบ.ร่วมมือกับ อย. ทลายโรงงานผลิตเถื่อนที่ไม่ได้มาตรฐาน พบใส่สารอันตรายจนทำให้เด็กกินป่วยเกือบตาย จากภาวะ methemoglobinemia (เมธฮีโมโกลบินนีเมีย)
วันนี้ ( 3 ก.พ. 65 ) กองบัญชาการตำรวจสอบสวนกลาง ร่วมกันแถลงผลการปฏิบัติงาน กรณีจับกุมแหล่งผลิตไส้กรอกปนเปื้อนพื้นที่ จ.ชลบุรี ตรวจยึดของกลาง 32 รายการ มูลค่ากว่า 700,000 บาท
สืบเนื่องจาก พบผู้บริโภคซึ่งเป็นเด็กหลายรายเข้ารักษาตัวในโรงพยาบาลเนื่องจากการรับประทานไส้กรอกและเกิดภาวะ methemoglobinemia (เมธฮีโมโกลบินนีเมีย) จึงประสานสำนักงานสาธารณสุขจังหวัด สืบทราบแหล่งจำหน่ายและขยายผลทำการสืบสวนจนทราบแหล่งผลิตผลิตภัณฑ์ดังกล่าว
ต่อมาได้มีการลงพื้นที่ตรวจสอบโรงงานเป้าหมายใน จ.ชลบุรี จากการตรวจค้นพบหญิงสาวรายหนึ่ง แสดงตนเป็นเจ้าของกิจการผลิตผลิตภัณฑ์จากเนื้อสัตว์ เช่น ไส้กรอก ลูกชิ้น หมูยอ โดยรับว่าทำการผลิตโดยไม่ได้รับอนุญาตแต่อย่างใด และฉลากผลิตภัณฑ์ไส้กรอกหลายรายการตรงกับฉลากผลิตภัณฑ์ อีกทั้งขั้นตอนการผลิตไม่เข้าข่ายโรงงานตามกฏหมาย ทั้งนี้ได้เก็บตัวอย่างอาหารเพื่อตรวจวิเคราะห์หากพบสารต้องห้ามในอาหาร จะเป็นความผิดตาม พ.ร.บ.อาหาร พ.ศ.2522 มาตรา 25 ฐาน “ผลิตอาหารไม่บริสุทธิ์” ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสองปีหรือปรับไม่เกินสองหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ และหากเป็นอาหารปลอม ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่หกเดือนถึงสิบปี และปรับตั้งแต่ 5,000 บาท ถึงหนึ่ง 100,000 บาท
เบื้องต้นการกระทำดังกล่าวเป็นความผิดตามพระราชบัญญัติอาหาร พ.ศ.2522 ฝ่าฝืนมาตรา 6(7) สถานที่ผลิตอาหารไม่เป็นไปตามหลักเกณฑ์วิธีการผลิตที่ดี (GMP) โทษปรับไม่เกิน 10,000 บาท และฝ่าฝืนมาตรา 6(10) ผลิตภัณฑ์อาหารแสดงฉลากไม่ถูกต้อง โทษปรับไม่เกิน 30,000 บาท
ทั้งนี้ นพ.วิทิต สฤษฎีชัยกุล รองเลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา กล่าวตอนท้ายว่า ขอเน้นย้ำผู้ประกอบการที่เป็นตัวแทนจำหน่ายอาหาร ให้เลือกซื้อไส้กรอกหรือผลิตภัณฑ์อาหาร จากสถานที่ผลิตอาหารที่ได้รับอนุญาตมาจำหน่ายต่อเพื่อความปลอดภัยของผู้บริโภค โดยสังเกตที่ฉลากจะระบุชื่ออาหาร ชื่อและที่ตั้งของผู้ผลิต วันเดือนปีที่ผลิตหรือหมดอายุหรือควรบริโภคก่อน แสดงส่วนประกอบและข้อมูลวัตถุเจือปนอาหาร น้ำหนักสุทธิ เลขสารบบอาหารในกรอบเครื่องหมาย อย. และผลิตภัณฑ์มีการเก็บรักษาในอุณหภูมิที่เหมาะสมเพื่อคงคุณภาพของผลิตภัณฑ์ไว้ตลอดการจำหน่าย ส่วนผู้บริโภคเองหากไม่แน่ใจคุณภาพหรือความปลอดภัยของอาหาร หรือพบเห็นแหล่งผลิตหรือผลิตภัณฑ์สุขภาพที่ไม่ได้มาตรฐานหรืออาจไม่ปลอดภัยในการบริโภค ขอให้แจ้งเบาะแสร้องเรียนมาได้ที่ สายด่วน อย. โทร. 1556 อีเมล์ [email protected] หรือสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดทั่วประเทศ