สูตรยาที่แชร์ๆ กันในอินเตอร์เน็ตว่าช่วยรักษาโควิด-19 ได้ ความจริงแล้วเป็นอย่างไร
หลายคนอาจเคยเห็นข้อความหรือคลิปที่แชร์กันในโลกอินเตอร์เน็ตว่า ถ้าเป็นโควิด-19 และต้องอยู่กับบ้าน ควรกินยาเหล่านี้เพื่อรักษาโควิด-19 ให้หาย แต่จริงๆ แล้วตัวยาเหล่านั้นช่วยรักษาหรือบรรเทาอาการของโควิด-19 ได้มากน้อยแค่ไหน Sanook Health มีคำตอบจาก อาจารย์เจษฎา เด่นดวงบริพันธ์ อาจารย์ประจำภาควิชาชีววิทยา คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มาฝากกัน
อย่าเข้าใจผิด “ยา” เหล่านี้ รักษา “โควิด-19” ไม่ได้
อ. เจษฎา แนะนำว่า ส่วนใหญ่ยาที่แนะนำเป็นการบรรเทารักษาตามอาการป่วยของคนเป็นโรคโควิด-19 แบบที่ไม่รุนแรง และสามารถรักษาตัวเองอยู่กับบ้านแบบ home isolation ได้ แต่เนื่องจากยาบางตัวก็ไม่เหมาะสม จึงไม่ควรจะเผยแพร่ต่อ สามารถดูคำอธิบายได้ ดังนี้
- ยาพาราเซตามอล ยาพาราเซตามอลสามารถกินแก้ปวดลดไข้ได้ตามอาการ แต่ระวังอย่ากินเกินปริมาณที่กำหนด
- วิตามินซี วิตามินดี และซิงค์ (สังกะสี) กลุ่มนี้เป็นกลุ่มวิตามินเกลือแร่ ที่ร่างกายต้องการและช่วยเรื่องการเสริมสร้างภูมิคุ้มกันของร่างกาย แต่ถ้าเกิดป่วยเป็นโรคโควิด-19 แล้ว ไม่มีหลักฐานว่า การได้รับวิตามินเกลือแร่กลุ่มนี้ แม้เป็นปริมาณมากๆ ก็ตาม จะช่วยให้หายจากโรคได้ จึงควรจะกินแค่เสริมสุขภาพเท่านั้น ตามปริมาณที่แนะนำข้างขวด
- ฟ้าทะลายโจร สมุนไพรที่กำลังเป็นประเด็นฮิตตอนนี้ ซึ่งสามารถเอามาใช้กินบรรเทาอาการเป็นไข้ตัวร้อน เหมือนกับกลุ่มพวกยาพาราเซตามอลได้ แต่ไม่หวังผลว่าใช้รักษาโรคโควิดโดยตรง และที่สำคัญคือ ไม่ควรกินเป็นปริมาณมาก เป็นระยะเวลายาวนานเพื่อป้องกันโรค
- NAC เป็นยาที่ใช้ละลายเสมหะ ดังนั้นถ้าเกิดมีอาการป่วยแบบมีเสมหะ ก็สามารถจะใช้กินได้ แต่ถ้าไม่มี ก็ไม่จำเป็นต้องกิน
- โซดามิ้นท์ อันนี้เป็นความเข้าใจผิดๆ ตามความเชื่อเกี่ยวกับเรื่องอาหารด่าง น้ำด่าง ที่ว่าถ้าร่างกายเรามีความเป็นด่าง จะสามารถสู้กับโรคไวรัสได้ ถ้าเป็นกรด ก็ติดเชื้อง่าย จึงให้ไปกินพวกยาที่ทำออกฤทธิ์เป็นด่าง
ซึ่งจริงๆ แล้ว ไม่ได้มีประโยชน์แบบที่ว่าเลย ค่า pH หรือกรดด่างของเลือดในร่างกายเรา มีค่าค่อนข้างคงที่ ที่เป็นด่างอ่อนๆ ซึ่งปรับสมดุลโดยอัตราการหายใจของร่างกาย ไม่ใช่จากอาหารที่กินเข้าไป ดังนั้น จึงไม่มีความจำเป็นใดๆ ที่ต้องพยายามเอาด่างเข้าร่างกายเหมือนที่อ้างกัน
ดูแลตัวเองอย่างไร หากติดโควิด-19 แต่ต้องอยู่บ้าน
ข้อมูลจากกรมการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข ระบุว่า ในกรณีที่ติดโควิด-19 แต่มีความจำเป็นที่จะต้องอยู่ที่บ้านจริงๆ หรือเป็นช่วงที่รอเตียง รอรถพยาบาลมารับ สามารถดูแลตัวเองได้ ดังนี้
- กักตัวเอง แยกตัวเองออกมาจากคนอื่นในครอบครัว แยกอยู่คนละห้อง หากอยู่คอนโดที่มีห้องเดียว ควรเปิดหน้าต่างให้อากาศถ่ายเท รวมถึงรักษาระยะห่างจากคนอื่นๆ ด้วย
- สวมหน้ากากอนามัยทุกครั้งเมื่อต้องพบเจอผู้อื่น หรือออกมานอกบ้าน
- แยกของใช้ส่วนตัว ไม่ใช้ร่วมกับผู้อื่นโดยเด็ดขาด
- ถ้าแยกห้องน้ำได้ด้วยจะดีมาก แต่หากมีห้องน้ำห้องเดียว ผู้ป่วยควรใช้ห้องน้ำเป็นคนสุดท้าย และล้างห้องน้ำหลังใช้ทุกครั้ง
- แยกขยะส่วนตัวไปทิ้งเองคนเดียว
- ล้างมือด้วยสบู่บ่อยๆ ระหว่างวัน โดยเฉพาะหลังขับถ่ายในห้องน้ำ
- รับประทานอาหารให้ครบ 5 หมู่ และดื่มน้ำสะอาดให้มากเพียงพอต่อความต้องการของร่างกาย
- งดการเดินทางหากไม่จำเป็น สั่งบริการเดลิเวอรี่มาที่บ้านไปก่อน
- เมื่อต้องใช้ลิฟท์ ควรใช้ไม้จิ้มฟัน ปากกา ปลายกุญแจ หรืออาจจะเป็นข้อศอก เพื่อกดเลขชั้นแทนการใช้ปลายนิ้วกด
- ไม่ต้องกังวลหรือเครียดจนเกินไป หากิจกรรมยามว่างทำรอเวลารับความช่วยเหลือ หากมีอาการแย่ลงกะทันหัน ควรโทรแจ้งโรงพยาบาล หรือโทร. 1669