อย่าหาแชร์ หน้ากากทองแดง ฆ่าเชื้อโควิดได้ 100% ใน 30 นาที เป็นข่าวปลอม

Home » อย่าหาแชร์ หน้ากากทองแดง ฆ่าเชื้อโควิดได้ 100% ใน 30 นาที เป็นข่าวปลอม

ระวังเสียเงินเปล่า สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา ชี้ หน้ากากทองแดง ฆ่าเชื้อโควิดได้ 100% ใน 30 นาที เป็นข่าวปลอม

จากกรณีที่มีการเผยแพร่ข้อมูลผ่านสื่อโซเชียลมีเดียเรื่อง หน้ากากทำจากทองแดง ฆ่าเชื้อโควิดได้ 100% ใน 30 นาที ทางศูนย์ต่อต้านข่าวปลอมได้ดำเนินการตรวจสอบข้อเท็จจริงโดย สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา กระทรวงสาธารณสุข พบว่าประเด็นดังกล่าวนั้น เป็นข้อมูลเท็จ

กรณีการแชร์ข้อมูลเรื่องหน้ากาก ที่ทำจากทองแดง โดยกล่าวว่าสามารถฆ่าเชื้อไวรัสโควิด-19 ได้ถึง 97% ในเวลาเพียง 5 นาที และ 100% ใน 30 นาทีนั้น ทางสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ได้ ตรวจสอบข้อมูลและชี้แจงว่า มีการศึกษาว่าสาร COPPER หรือ ทองแดง มีคุณสมบัติในการฆ่าเชื้อแบคทีเรียหรือไวรัสได้ จึงมีนักวิจัยสนใจจะพัฒนาหน้ากากที่ทำจากทองแดง เพื่อหวังว่าหน้ากากจะสามารถฆ่าเชื้อไวรัสหรือแบคทีเรียได้ โดยหน้ากากดังกล่าวจะเข้าข่ายเป็นผลิตภัณฑ์ที่ผู้ผลิตหรือเจ้าของผลิตภัณฑ์มุ่งหมายใช้เพื่อป้องกันโรค จึงจัดเป็นเครื่องมือแพทย์ ซึ่งหากผู้ใดประสงค์จะนำเข้าหน้ากากดังกล่าวเข้ามาในประเทศไทยต้องมีการขออนุญาตนำเข้าเครื่องมือแพทย์ต่อสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยาก่อนการนำเข้า

ซึ่งในก่อนหน้านี้ ได้มีการ เปิดตัวนวัตกรรมใหม่ อย่าง “แผ่นฟิล์มทองแดง” ที่นักวิทยาศาสตร์พบว่าสามารถฆ่าเชื้อแบคทีเรียและเชื้อ “ไวรัสโคโรน่า” ได้อย่างมีประสิทธิภาพ โดยทาง อ.อ๊อด หรือ รศ.ดร.วีรชัย พุทธวงศ์ อาจารย์ประจำภาควิชาเคมี คณะศิลปะศาสตร์และวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ได้เคยให้ข้อมูลไว้ว่า ทองแดงเข้มข้น 95% มีคุณสมบัติสามารถฆ่าเชื้อไวรัสโคโรน่าได้ โดยแค่ใช้เวลาเพียง 2.5 นาที โดยกลไกที่ทองแดงสามารถฆ่าเชื้อไวรัสและแบคทีเรียได้นั้น เกิดขึ้นได้โดยเมื่อทองแดงไปสัมผัสกับเยื่อหุ้มเซลล์ จากนั้น copper ion จะเข้าไปแทรกในเยื่อหุ้มเซลล์เพื่อทำลายส่วนประกอบต่างๆ ภายในเซลล์ จึงทำให้เซลล์ตาย จากการค้นพบว่าทองแดงสามารถฆ่าเชื้อไวรัสและแบคทีเรียได้ เราจึงได้มีการพัฒนาเป็นผลิตภัณฑ์ต่างๆ เช่น ราวบันได ลูกบิดประตู ที่จับเปิด-ปิดประตู เป็นต้น

อย่างไรก็ตาม ในส่วนของเรื่องที่นำมาทำเป็นหน้ากากนั้น ทางศูนย์ต่อต้านข่าวปลอมได้ดำเนินการตรวจสอบข้อเท็จจริงโดย สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา กระทรวงสาธารณสุข พบว่าประเด็นดังกล่าวนั้น เป็นข้อมูลเท็จ นื่องจาก ไม่พบการขึ้นทะเบียนผลิตภัณฑ์หน้ากากทองแดงในสากล และยังไม่มีบริษัทใดยื่นขออนุญาตนำเข้าผลิตภัณฑ์หน้ากากทองแดงต่อสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยาของประเทศไทย ซึ่งเมื่อผลิตภัณฑ์ดังกล่าวไม่ได้ขออนุญาตนำเข้าต่อสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา จึงยังไม่ผ่านการตรวจสอบว่าผลิตภัณฑ์ดังกล่าวมีประสิทธิภาพและความปลอดภัยหรือไม่ หากประชาชนหลงเชื่อซื้อผลิตภัณฑ์ดังกล่าวมาใช้ สวมใส่เพื่อป้องกันโควิด-19 อาจทั้งเสียเงินและเสี่ยงติดโรคหรือได้รับอันตรายจากหน้ากากได้

ดังนั้นขอให้ประชาชนอย่าหลงเชื่อข้อมูลดังกล่าว และขอความร่วมมือไม่ส่ง หรือแชร์ข้อมูลดังกล่าวต่อในช่องทางสื่อสังคมออนไลน์ต่างๆ และเพื่อให้ประชาชนได้รับข้อมูลข่าวสารเกี่ยวกับผลิตภัณฑ์ทางด้านสุขภาพ หรือหากพบผลิตภัณฑ์ที่ต้องสงสัย สามารถแจ้งได้ที่ www.fda.moph.go.th หรือโทรสายด่วน อย. 1556

ขอบคุณข้อมูลจาก antifakenewscenter / กรุงเทพธุรกิจ

แท็กที่เกี่ยวข้อง

เรื่องอื่นที่น่าสนใจ