จากสถานการณ์ไทยได้รับผลกระทบจากซูเปอร์ไต้ฝุ่น พายุยางิ ตั้งแต่เมื่อวันที่ 10 กันยายน 2567 ที่ผ่านมา ส่งผลทำให้ประเทศไทยประสบวิกฤตอุทกภัยในหลาย ๆ พื้นที่ โดยเฉพาะทางภาคเหนือ ที่โดนน้ำป่าไหลพัดท่วมบ้านเรือนเสียหายเป็นบริเวณกว้าง
แต่ทุกคนรู้หรือไม่ การที่เราลุยน้ำในสถารการณ์น้ำท่วมเช่นนี้อาจทำให้เสี่ยงเป็น โรคน้ำกัดเท้า ได้โดยไม่รู้ตัววันนี้เราจะพามาทำความรู้จักกับโรคนี้กันค่ะ โรคน้ำกัดเท้า (Athlete’s Foot) หรือฮ่องกงฟุต เป็นโรคที่เกิดจากการติดเชื้อรา โดยเฉพาะเชื้อราในสายพันธุ์ Dermatophytes โรคนี้สามารถเกิดขึ้นได้จากการสัมผัสกับสิ่งสกปรก และสารเคมีที่ปะปนอยู่ในน้ำท่วมขัง ซึ่งเชื้อราเหล่านี้สามารถเจริญเติบโตได้ดีในที่เปียกชื้น เช่น รองเท้าที่ลุยน้ำท่วม, พื้นห้องอาบน้ำ, หรือพื้นบริเวณสระว่ายน้ำ
โดยสาเหตุเกิดจาก การระคายเคืองของผิวหนังเนื่องจากความเปียกชื้น และการสัมผัสสิ่งสกปรก สารเคมีต่าง ๆ ในน้ำท่วมขัง
- เช็คด่วน! 8 วิธี ดูแลสัตว์เลี้ยงยังไงให้ ปลอดภัย จากน้ำท่วม ทั้งคน และสัตว์
- แอพดีบอกต่อ! Google Flood Hub เช็คเสี่ยงน้ำท่วมได้ล่วงหน้า 7 วัน
- เตรียมเงินให้พร้อม! ดอนเมืองโทลล์เวย์ ปรับขึ้นราคา 5-10 บาท
อาการระยะแรกที่พบได้บ่อยคือ เท้าเปื่อย แดง และลอก เนื่องจากการระคายเคือง แต่ถ้ามีอาการคันและเกิดเป็นแผล จะมีการอักเสบ และติดเชื้อได้ง่าย ซึ่งการติดเชื้อจะทำให้เกิดอาการแสบร้อน ปวด แผลเป็นหนอง ผิวเป็นขุย และลอกออกเป็นแผ่นสีขาว อาจมีกลิ่นเหม็นตามซอกเท้า การรักษาจะใช้ยาทาสเตียรอยด์อ่อน ๆ เช่น ไตรแอมซิโนโลนชนิดครีม (triamcinoloe cream), เบตาเมทาโซนชนิดครีม (betamethasone cream) ทาบางๆ วันละ 2-3 ครั้ง หลังจากทำความสะอาดเท้าด้วยสบู่ และเช็ดให้แห้งแล้ว
ระยะที่ติดเชื้อแบคทีเรีย เป็นระยะที่มีอาการเป็นผื่นบวมแดงมาก มีหนอง และปวด อาการมักเกิดขึ้นอย่างรวดเร็วภายหลังจากการแช่น้ำเป็นเวลานาน จนมีรอยแผลเปื่อยที่ผิวหนังซึ่งเป็นช่องทางให้เชื้อโรคเข้าสู่แผล
การรักษาในกรณีที่เป็นไม่มาก ให้ล้างแผลด้วยน้ำเกลือ หรือด่างทับทิม แล้งทาแผลด้วยยาฆ่าเชื้อ เช่น โพวิโดน ไอโอดีน (povidone iodine) หรือ ขี้ผึ้งวิทฟิลด์ (Whitfield’s ointment) วันละ 2-3 ครั้ง หลังจากทำความสะอาดเท้าด้วยสบู่และเช็ดให้แห้งแล้ว ส่วนในกรณีที่มีการติดเชื้อรุนแรง มีอาการบวมและปวดมาก หรือในผู้ป่วยเบาหวานหรือผู้ป่วยที่มีภูมิคุ้มกันต่ำ ให้ไปพบแพทย์เพื่อรับยาฆ่าเชื้อ (ยาปฏิชีวนะ) ชนิดฉีด หรือชนิดรับประทาน เช่น คลอกซาซิลลิน (cloxacillin)
ระยะที่ติดเชื้อรา ระยะนี้มีความแตกต่างจากการ ติดเชื้อแบคทีเรีย ตรงที่การติดเชื้อรามักเกิดในผู้ที่แช่น้ำอย่างต่อเนื่องมาเป็นเวลานานมาก หรือผู้ที่มีนิ้วเท้าชิดหรือเกยกัน อาการคือผิวหนังมีขุยขาวเปียก มีกลิ่นเหม็น และมีอาการคัน ร่วมกับมีประวัติเป็นมานานเกิน 2 สัปดาห์
การรักษาจะใช้ยาต้านเชื้อรา เช่น ขี้ผึ้งวิทฟิลด์ (Whitfield’s ointment), คีโทโคนาโซลชนิดครีม (ketoconazole cream) และ โคลทริมาโซลชนิดครีม (clotrimazoe cream) โดยทาบางๆ วันละ 2-3 ครั้ง หลังจากทำความสะอาดเท้าด้วยสบู่และเช็ดให้แห้งแล้ว อย่างไรก็ตาม หากการติดเชื้อรามีอาการรุนแรง ไม่ตอบสนองต่อยาที่ใช้ทา หรือมีการติดเชื้อที่เล็บร่วมด้วย ต้องไปพบแพทย์เพื่อตรวจหาเชื้อ และรับประทานยาต่อไป
การป้องกัน
- หลีกเลี่ยงการสัมผัสน้ำท่วมขัง
- ล้างเท้าด้วยน้ำสะอาดและสบู่ทันทีหลังการสัมผัสน้ำสกปรก
- เช็ดเท้าให้แห้ง โดยเฉพาะบริเวณซอกนิ้ว
- ใส่ถุงเท้าที่ซักสะอาด และแห้ง ในรายที่มีอาการของโรคอยู่ ถ้านำถุงเท้าไปต้ม จะช่วยลดปริมาณเชื้อได้มาก หลีกเลี่ยงการใช้ถุงเท้าที่ทำจากสารบางประเภทที่ทำให้แพ้ เพราะจะเสริมอาการคันมากขึ้น
- การเกาตามบริเวณร่างกาย โดยใช้มือ-เล็บที่ไปเกาแผลที่มีเชื้อรามาก่อน อาจทำให้บริเวณใหม่ที่ไปเกาได้เชื้อเพิ่มขึ้นมาอีกหนึ่งตำแหน่ง เป็นการติดเชื้อที่แพร่จากร่างกายตนเองผ่านการเกา
- ไม่ใช้ข้าวของส่วนตัวปนกับผู้อื่น เช่น ผ้าเช็ดตัว ถุงเท้า รองเท้า แม้แต่รองเท้าแตะ โดยเฉพาะผู้ที่มีโรคนี้อยู่ เพราะสามารถติดต่อกันได้
ข้อมูลจาก โรงพยาบาลบางประกอก3