ยลโฉม พ่อพันธุ์ “เจ้าตะวันฉาย” ควายไทยที่มีค่าตัวแพงที่สุดในประเทศไทย ค่าตัวกว่า 20 ล้าน คนแห่จองลูกราคา 3 แสนขึ้นถึงหลักล้าน
ภายหลังจากที่เมื่อคืนที่ผ่านมา (22 ธ.ค.) นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี และ รมว.คลัง พร้อมด้วย น.ส.แพทองธาร ชินวัตร หัวหน้าพรรคเพื่อไทย ในฐานะหัวเรือใหญ่ซอฟต์พาวเวอร์ของไทย ได้เดินทางไปดูมวยไทยคู่หยุดโลก ระหว่าง “ซ้ายดารา” ตะวันฉาย พีเค.แสนชัยยิม ป้องกันแชมป์โลกมวยไทย รุ่นเฟเธอร์เวต กับซุปเปอร์บอน สิงห์มาวิน ผู้ท้าชิง ในรายการ ONE CHAMPIONSHIP ที่เวทีลุมพินี กรุงเทพมหานคร ซึ่งมีการถ่ายทอดสดไปกว่า 190 ประเทศทั่วโลก
ผลการชกตะวันฉาย ชนะคะแนนซุปเปอร์บอน สามารถป้องกันแชมป์ไว้ได้ โดยนายเศรษฐาฯ ได้ขึ้นกล่าวชื่นชมว่า มวยไทยเป็นซอฟต์พาวเวอร์การต่อสู้ที่ยิ่งใหญ่ที่สุดในโลกนั้น
วันนี้ (23 ธ.ค.) ก็ได้มีกระแส “ตะวันฉายฟีเวอร์” เกิดขึ้นใน จ.นครราชสีมา โดยกลุ่มคนรักควายโคราช ได้กล่าวขานถึง “เจ้าตะวันฉาย” ควายไทยที่มีค่าตัวแพงที่สุดในประเทศไทย ซึ่งอยู่ที่ชัยชนะฟาร์ม บ้านเลขที่ 100 บ้านห้วยลึก หมู่ 9 ต.บ้านหัน อ.สีคิ้ว จ.นครราชสีมา โดยมีคนรักควายสวยงาม เดินทางเข้ามาชมความสวยงามของเจ้าตะวันฉายกันอย่างคึกคักตลอดทั้งวัน
นายยศพนธ์ ครุฑจันทรา อายุ 45 ปี เจ้าของชัยชนะฟาร์ม ควายงามเมืองย่าโม กล่าวว่า ชัยชนะฟาร์ม ก่อตั้งมาตั้งแต่ปี 2561 และปี 2562 ก็เริ่มซื้อพ่อพันธุ์มา 1 ตัว ตั้งชื่อว่า “ตะวันฉาย” ตามชื่อของนักมวยไทยที่มีชื่อเสียงโด่งดังในขณะนี้ ด้วยกระแสควายสวยงามที่กำลังมาแรง
ทำให้อยากจะพัฒนาพันธุ์ควาย จึงมีการนำแม่พันธุ์ควายมาเพาะพันธุ์ รวมทั้งซื้อพันธุ์ควายมาเข้าฟาร์มกว่า 100 ตัว โดยลูกควายที่ผ่านการเพาะพันธุ์ และพัฒนาสายพันธุ์แล้ว ก็แบ่งให้เกษตรกรนำไปเลี้ยง โดยตกลงกันว่าจะแบ่งลูกกันระหว่างคนเลี้ยงกับฟาร์ม
ส่วนพ่อพันธุ์ที่ซื้อมาคือ “ตะวันฉาย” ก็ได้แชมป์การประกวดควายแห่งชาติ ตั้งแต่ปี 2563 เว้นไป 1 ปี คือปี 2564 เนื่องจากมีการระบาดของไวรัสโควิด-19 และปี 2565 ก็ได้แชมป์การประกวดควายแห่งชาติอีกครั้ง หลังจากนั้นก็ไม่ได้ส่งประกวด เพราะฟันขึ้นเกิน 3 คู่แล้ว ไม่เข้าเกณฑ์การประกวด ตอนนี้จึงใช้เป็นพ่อพันธุ์อย่างเดียว
แต่ลูกตะวันฉาย ตัวล่าสุด ที่เกิดจากแม่พันธุ์ฟ้าหยาด ชื่อ “คุณนายกระต่ายทอง” อายุ 18 เดือน ก็เพิ่งไปคว้าแชมป์จากการประกวดควายงามที่ อ.กบินทร์บุรี จ.ปราจีนบุรี เมื่อวันที่ 10 ธ.ค.66 ที่ผ่านมา
สำหรับพ่อพันธุ์ “ตะวันฉาย” นั้น ตั้งแต่ซื้อมาก็เริ่มเดินสายประกวดทั่วประเทศ ซึ่งก็กวาดแชมป์มานับไม่ถ้วน จนได้แชมป์ระดับประเทศ ปี 2563 และปี 2565 หลังจากนั้นก็ใช้เป็นพ่อพันธุ์หลักในฟาร์ม คู่กับแม่พันธุ์ “หยาดฟ้า” ซึ่งเป็นแม่พันธุ์ไซส์เดียวกันกับตะวันฉาย คือสูง 170 ซม. ซึ่งลูก ๆ ของตะวันฉายทุกตัว ก็มีคนมาจับจองซื้อกันไปทั้งหมด
ถ้าเป็นลูกตะวันฉายกับแม่พันธุ์ทั่วไป ราคาซื้อขายสตาร์ทที่ 150,000 บาท ถ้าเป็นลูกตะวันฉายกับแม่พันธุ์ที่ได้รับการพัฒนาแล้ว ก็ราคาตั้งแต่ 200,000 บาทขึ้นไป แต่ถ้าลูกตะวันฉายกับแม่ฟ้าหยาด ซึ่งเป็นพ่อพันธุ์ แม่พันธุ์หลักของฟาร์ม จะมีค่าตัวสูงถึงหลักล้านบาท
จึงทำให้พ่อพันธุ์ตะวันฉาย มีคนให้ค่าตัวสูงกว่า 20 ล้านบาท แต่ตนเองไม่ขายจะเก็บไว้ทำพ่อพันธุ์ต่อไป ส่วนแม่พันธุ์หยาดฟ้า ก็มีค่าตัวไม่น้อยกว่า 15 ล้านบาทกันเลยทีเดียว ขณะที่ลูกเจ้าตะวันฉาย ชื่อคุณนายกระต่ายทอง อายุ 18 เดือน ที่เพิ่งไปคว้าแชมป์จากการประกวดควายงามที่ อ.กบินทร์บุรี จ.ปราจีนบุรี เมื่อวันที่ 10 ธ.ค.66 ที่ผ่านมานั้น ขณะนี้มีคนให้ราคากว่า 3 ล้านบาทแล้ว จึงนับว่าการพัฒนาพันธุ์ควายงาม เป็นการเพิ่มมูลค่าควายไทยได้เป็นอย่างดีมาก
ตอนนี้การเลี้ยงควายสวยงาม กำลังได้รับความสนใจจากเกษตรกรเป็นอย่างมาก โดยเฉพาะกลุ่มเกษตรกรที่เลี้ยงวัว ม้า และไก่ชน เป็นต้น หลายคนก็เริ่มหันมาเลี้ยงควายสวยงามเพิ่มจากสัตว์ที่ตัวเองเลี้ยงอยู่แล้ว ทำให้การพัฒนาสายพันธุ์ควายในประเทศไทยมีความคึกคักเป็นอย่างมาก
จนหลายคนอยากให้รัฐบาลช่วยส่งเสริมให้กลายเป็นหนึ่งในซอฟต์พาวเวอร์ของไทยด้วย แต่ทั้งนี้ก็ต้องกลับมาคิดต่อยอดว่าจะทำอย่างไรให้การเลี้ยงควายสวยงาม มีการพัฒนาต่อยอดให้อาชีพนี้ยั่งยืน ไม่ให้เป็นแค่กระแสที่ผ่านมาแล้วก็ผ่านไปเท่านั้น
ซึ่งตนเองก็อยากให้กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ รวมทั้งหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้ส่งเสริมให้มีการแปรรูป และการส่งออก โดยการแปรรูปนั้น ต้องมีตลาดที่ชัดเจน เพราะทุกวันนี้ตลาดเนื้อควายแปรรูปในประเทศไทยมีน้อยมาก คนเลี้ยงก็ไม่รู้ว่าจะเอาไปขายให้ใคร ส่วนการส่งออกนั้น ก็อยากให้เน้นไปที่การส่งออกแม่พันธุ์ พ่อพันธุ์ควายไปยังต่างประเทศ
โดยเฉพาะประเทศเพื่อนบ้าน เช่น สปป.ลาว ขณะนี้มีความต้องการพันธุ์ควายสวยงามจากไทยเป็นอย่างมาก แต่ติดปัญหาเรื่องของข้อกฎหมายการเคลื่อนย้ายสัตว์ และการส่งออกควายเท่านั้น ถ้ามีตลาดเนื้อควายที่ชัดเจน และมีการส่งเสริมส่งออกอย่างจริงจังจากรัฐบาล ก็จะทำให้เกษตรกรกล้าซื้อพ่อพันธุ์ แม่พันธุ์ที่ราคาสูงๆ มาพัฒนาสายพันธุ์กันมากขึ้นด้วย
นอกจากนี้ ก็ขอให้แก้กฎเกณฑ์ของการส่งควายสวยงามประกวดด้วย เพราะทุกวันนี้มีข้อจำกัดว่า ต้องการประกวดพ่อพันธุ์ แม่พันธุ์ ต้องมีฟันไม่เกิน 3 คู่ ซึ่งเป็นพ่อพันธุ์ แม่พันธุ์ที่ยังไม่โตเต็มวัยดีนัก เพราะที่โตเต็มวัยจริงๆ ต้องมีฟัน 4 คู่ ซึ่งมีอายุประมาณ 7-8 ปี แต่ปศุสัตว์และกองประกวดไม่อนุญาต ทำให้เกษตรกรไม่เคยได้เห็นพ่อพันธุ์ แม่พันธุ์ที่โตเต็มวัยเลย
อย่างเช่น “ตะวันฉาย” ซึ่งเป็นพ่อพันธุ์ที่ได้แชมป์มาตั้งแต่เด็ก แต่ต้องเลิกประกวดตั้งแต่อายุ 4 ปี เพราะฟันคู่ที่ 3 หักแล้ว ดังนั้นเมื่อฟันคู่ที่ 4 งอก เกษตรกรจึงไม่เคยได้เห็นตะวันฉายตัวโตเต็มวัยเข้าสู่เวทีประกวดควายงามอีกเลย