อภ.งัดวัคซีนฝีดาษ ที่เก็บแช่แข็งมากว่า 43 ปี ส่งตรวจกรมวิทย์ พบยังเพาะเชื้อขึ้น น่าจะมีประสิทธิภาพ พร้อมเร่งตรวจคุณภาพวัคซีน
วันที่ 27 พ.ค. 65 นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ให้สัมภาษณ์ถึงการเฝ้าระวังโรคฝีดาษลิงว่า เมื่อวันที่ 26 พ.ค. ตนเดินทางกลับมาจากการประชุมสมัชชาองค์การอนามัยโลก (WHA) เมื่อเข้ามาถึงด่านควบคุมโรคระหว่างประเทศ นพ.โรม บัวทอง นายแพทย์ผู้เชี่ยวชาญกองระบาดวิทยาและกองด่านควบคุมโรคติดต่อระหว่างประเทศ กรมควบคุมโรค พาดูขั้นตอนมาตรการเฝ้าระวังที่สนามบิน
ย้ำว่าผู้ที่เดินทางเข้าประเทศไทยยังต้องลงทะเบียนผ่าน Thailand pass หากผู้ที่สงสัยป่วยเป็นโรคฝีดาษลิง กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ก็สามารถนำตัวอย่างเชื้อหรือสารคัดหลั่งมาตรวจวินิจฉัยได้ว่าเป็นฝีดาษลิงหรือไม่ เนื่องจากมี DNA Code อยู่
เมื่อถามถึงการหารือกับ ผอ.ใหญ่องค์การอนามัยโลกเรื่องวัคซีนฝีดาษ นายอนุทินกล่าวว่า ผอ.ใหญ่องค์การอนามัยโลก ก็บอกว่าหากมีความจำเป็นก็จะให้การสนับสนุนตามสถานการณ์ของแต่ละประเทศ อย่างไรก็ตาม เราได้นำวัคซีนที่เกี่ยวข้องกับโรคฝีดาษ ไข้ทรพิษที่มีการแช่แข็งเก็บรักษาไว้โดยองค์การเภสัชกรรม (อภ.) ส่งไปยังกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ เพื่อตรวจสอบว่าการเพาะเชื้อเป็นอย่างไร เพื่อนำมาวิเคราะห์ วิจัย นำมาทำเป็นวัคซีนหรือยารักษาโรค หากเป็นโรคติดต่อร้ายแรงก็สามารถประกาศเป็นภาวะฉุกเฉินเพื่อดูแลสถานการณ์ต่าง ๆ ได้
“เราแช่แข็งไว้อยู่แต่เก็บมากว่า 40 กว่าปีก็ต้องนำมาตรวจดูว่า เชื้อยังใช้ประโยชน์ได้หรือไม่ แม้กระทั่งองค์การอนามัยโลก ตอนถามเขาก็ยังไม่ได้บอกว่า วัคซีนนี้จะตรงกับสายพันธุ์ของโรคฝีดาษลิงในปัจจุบันหรือไม่ เราก็ต้องพึ่งพาตัวเองเท่าที่ทรัพยากรเรามีอยู่ ไม่ได้อยู่เฉย” นายอนุทิน กล่าว
ด้าน นพ.เกียรติภูมิ วงศ์รจิต ปลัด สธ. และประธานกรรมการองค์การเภสัชกรรม (อภ.) กล่าวว่า วัคซีนฝีดาษที่ อภ.มีการแช่แข็งเก็บไว้นั้น เมื่อนำไปเพาะเชื้อที่กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ก็พบว่าเชื้อยังขึ้นอยู่ จึงน่าจะยังมีประสิทธิภาพ
ส่วน นพ.ศุภกิจ ศิริลักษณ์ อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กล่าวว่า วัคซีนฝีดาษที่ อภ.เก็บรักษาไว้ 43 ปีในลักษณะผง (Dry freeze) มีประมาณหมื่นโดส โดยปกติจะเก็บไว้เป็นตัวอย่างหรือการอ้างอิง เราจึงนำมาตรวจดู ซึ่งต้องใช้เวลาอีกระยะหนึ่งเพื่อให้ทราบว่า วัคซีนยังมีคุณภาพหรือไม่ คือมีความปลอดภัย มีเชื้อปนเปื้อน สารเคมีเปลี่ยนไปหรือไม่ และยังมีประสิทธิภาพในการป้องกันโรคหรือไม่
เพราะข้อมูลการปลูกฝีดาษคน (Smallpox) ที่หยุดปลูกไปเมื่อปี 2523 ที่ระบุว่าป้องกันได้ 85% เป็นข้อมูลเก่า แต่ฝีดาษตัวปัจจุบันยังไม่มีข้อมูล ถ้าเราเจอคนไข้ในประเทศไทยจะเอาเชื้อฝีดาษลิงปัจจุบันมาเพาะ และเอาผู้ที่เคยรับวัคซีนนำเลือดมาตรวจว่าภูมิคุ้มกันสู้กับเชื้อฝีดาษลิงได้หรือไม่ ส่วนที่มีการตรวจผู้สงสัยยังไม่พบฝีดาษลิง เป็นโรคอื่น
“สำหรับวัคซีนฝีดาษที่นำมาตรวจ เป็นวัคซีนเชื้อเป็นอ่อนฤทธิ์ที่มาทำให้น็อกหมดฤทธิ์ เมื่อนำมาตรวจดูก็พบว่าเชื้อโตเร็วมากหรือเชื้อยังแอคทีฟอยู่ทั้งที่ผ่านมา 43 ปี แต่กระบวนการยังอีกยาว โดยวันนี้ได้ตั้งคณะกรรมการขึ้นมาดูว่าเราต้องตรวจอะไรอีกบ้าง หากจะใช้จริง ต้องทำอย่างไรบ้าง หากมีเชื้อฝีดาษลิงมาก็จะมาตรวจกับคนที่ภูมิจากวัคซีนหรือตรวจกับวัคซีนว่าเป็นอย่างไร” นพ.ศุภกิจกล่าว
เมื่อถามถึงการตรวจหาเชื้อฝีดาษลิงในผู้ที่เข้าข่ายสงสัยมีกี่ราย และใช้วิธีการใด นพ.ศุภกิจกล่าวว่า เมื่อมีเคสสงสัยมาเราก็ตรวจ หากยังไม่มีผื่นก็เก็บตัวอย่างเชื้อจากจมูก เพื่อทำ RT-PCR แต่หากมีผื่นแล้วก็เก็บตัวอย่างจากผื่น ซึ่งมีโอกาสเจอเชื้อมากกว่า ดังนั้นหากผู้ที่มาจากแอฟริกา อังกฤษ ที่เริ่มมีไข้ มีความเสี่ยงสูงเราก็นำมาตรวจ แต่ช่วงที่เริ่มแพร่เชื้อคือช่วงที่ออกผื่น ซึ่งช่วงนั้นทำให้สังเกตได้ คนก็จะเลี่ยงการสัมผัสได้