สภาฯ จัดเสวนา “กติกาเลือกตั้งใหม่ ใครได้ประโยชน์” มาร์ค เชื่อ ศาลรธน.ให้ผ่าน กม.ลูกเลือกตั้งส.ส. ค้าน ออกพ.ร.ก.คุมเลือกตั้ง ฉะ ม.272 ให้ส.ว.เลือกนายกฯ
เมื่อเวลา 10.00 น. วันที่ 29 พ.ย. 2565 ที่รัฐสภา สำนักเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร ร่วมกับมูลนิธิคอนราด อาเดนาวร์ ประเทศไทย จัดโครงการพัฒนากระบวนการมีส่วนร่วมและการสื่อสารทางการเมืองเพื่อสร้างภาพลักษณ์ที่ดีต่อสถาบันนิติบัญญัติ โดยเสวนาเรื่อง ‘กติกาเลือกตั้งใหม่ ใครได้ประโยชน์’ มีนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ อดีตนายกรัฐมนตรี นายสมชัย ศรีสุทธิยากร อดีตโฆษกคณะกรรมาธิการ (กมธ.) ร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ (พ.ร.ป.) ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. และนายเจษฎ์ โทณะวณิก ประธานคณะนิติศาสตร์มหาวิทยาลัยบัณฑิตเอเชีย เข้าร่วมเสวนา
นายอภิสิทธิ์ กล่าวว่า ในกรณีที่ชี้ว่าขัด ต้องชี้ให้เห็นว่าขัดตรงไหน ทั้งนี้ ตนเชื่อว่าศาลรัฐธรรมนูญอาจจะให้ผ่าน และมาตราที่มีการพูดถึง ส.ส.พึงมี ก็เสมือนกับว่าไม่ได้ใช้ ทิ้งไว้เช่นนั้น ซึ่งน่าจะเป็นวิธีที่ง่ายที่สุด ทั้งนี้ ถ้ากฎหมายลูกเสร็จไม่ทัน คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ซึ่งเป็นผู้มีอำนาจในการจัดการเลือกตั้ง ก็ต้องจัดให้เป็นไปตามรัฐธรรมนูญ ด้วยวิธีการออกกฎระเบียบต่างๆ เพื่อให้สอดคล้องกับรัฐธรรมนูญที่เขียนไว้
“ผมไม่ค่อยเห็นด้วยกับความคิดที่ว่า ถ้าทำกฎหมายไม่ทันก็ออกพระราชกำหนด (พ.ร.ก.) เพราะรัฐธรรมนูญไม่ได้ให้อำนาจฝ่ายบริหารในการออกพ.ร.ก. มาแทนพ.ร.ป. อย่างไรก็ตาม มีปัญหาที่ใหญ่กว่านั้น คือเราไม่ได้มีการกลับมาถกเถียงกันตั้งแต่เริ่มต้นว่า เราต้องการระบบเลือกตั้งแบบใด เพราะอะไร” นายอภิสิทธิ์ กล่าว
นายอภิสิทธิ์ กล่าวต่อว่า ทั้งนี้ ไม่ว่าพรรคเล็กหรือพรรคใหญ่จะได้เปรียบหรือเสียเปรียบ เราก็ยังมีมรดกที่ตกค้าง คือ มาตรา 272 ที่ให้ส.ว. 250 คน สามารถเลือกนายกฯ ได้ การทำรัฐธรรมนูญปี 60 ขึ้นมา จงใจให้พรรคการเมืองเป็นเบี้ยหัวแตก ไม่มีพรรคไหนมีโอกาสได้เสียงข้างมาก แต่ข้อดีของรัฐธรรมนูญแบบเก่า คือ เป็นระบบที่สะท้อนเจตนารมณ์ของประชาชนได้ดีที่สุด แต่บังเอิญว่าการเลือกตั้งครั้งที่แล้ว มีการใช้สูตรคำนวณส.ส.แบบพิสดารมาก ที่ให้พรรคการเมืองที่มีคะแนนไม่กี่หมื่นคะแนนสามารถมีส.ส.ได้ ในขณะที่พรรคการเมืองที่เหลือเศษอีกเป็นแสนคะแนน ไม่สามารถมีส.ส.เพิ่มได้
นายอภิสิทธิ์ กล่าวต่อว่า ตนไม่ได้มองว่าเรื่องนี้เป็นประโยชน์กับพรรคนั้นหรือพรรคนี้ เท่ากับว่าเมื่อไหร่เราจะทำระบบของเราให้ชัดเจนว่า เราต้องการแบบไหน อย่างไร สิ่งที่ตนเป็นห่วงคือเราเลือกตั้งไปทำไม เราเลือกตั้งเพื่อให้ประชาชนกำหนดทิศทางของประเทศได้ แต่ถ้าระบบเลือกตั้งสับสนเช่นนี้ก็ไม่ทราบว่าเลือกไปแล้ว สุดท้ายเจตนารมณ์ของประชาชนคืออะไร ตนอยากให้ช่วยกันคิดมากกว่าว่าจะทำอย่างไรให้ประชาชนและประเทศชาติได้อะไรจากการเลือกตั้ง
ด้านนายเจษฎ์ กล่าวว่า การปรับแต่งระบบเลือกตั้ง ต้องคิดว่าจะเอาอะไร และต้องคิดอย่างรอบคอบว่าตอบสนองอะไร ถ้าเริ่มแบบนี้จะทำให้เห็นภาพ และถ้าเห็นว่าร่างนั้นไม่สมบูรณ์ สภาต้องมีหน้าที่แก้ไข แต่ที่ผ่านมาสภากลับไม่แก้ไข จนเกิดปัญหา คือ วาระแรกเอาสูตรหาร 100 วาระ 2 เอาสูตรหาร 500 และวาระ 3 ตัดสินใจไม่ได้ จึงต้องไปที่ศาลรัฐธรรมนูญ
นายเจษฎ์ กล่าวต่อว่า ท้ายที่สุดหากศาลรัฐธรรมนูญเห็นว่าขัด จะตีตกแบบไหน ตีตกเฉพาะรายมาตรา หรือตีตกทั้งฉบับ แต่หากจะตีตกทั้งฉบับ เมื่อจะไปทำใหม่ปัญหาอยู่ที่รัฐธรรมนูญ ไม่ใช่กฎหมายลูก ศาลรัฐธรรมนูญจะสามารถบอกได้หรือไม่ว่า เพราะรัฐธรรมนูญขัดกันเองจึงต้องไปแก้ที่รัฐธรรมนูญ
ขณะที่ นายสมชัย กล่าวว่า วันพรุ่งนี้ (30 พ.ย.) ศาลรัฐธรรมนูญจะตัดสินร่างพ.ร.ป.ว่าด้วยการเลือกตั้งส.ส. หากผ่านก็จะเข้าสู่กระบวนการเลือกตั้งอย่างสบายใจ แต่สิ่งที่หลายคนคาดการณ์ไว้ คือ พรรคการเมืองขนาดใหญ่จะได้เปรียบจากการเลือกตั้งในครั้งนี้จะเป็นจริง แต่หากไม่ผ่านเนื่องจากขัดรัฐธรรมนูญ สิ่งแรกที่นายกฯ ต้องทำ คือ เชิญ กกต.มาหารือว่าจะแก้ไขสถานการณ์อย่างไร และต้องเสนอร่างกฎหมายใหม่โดยคณะรัฐมนตรี (ครม.) ในทันที และเป็นหน้าที่ของสภา ต้องเร่งพิจารณาร่างกฎหมายให้เร็วที่สุดภายใน 180 วัน
นายสมชัย กล่าวต่อว่า แต่ถ้าสภาทำไม่เสร็จ ก็ต้องหาทางออก เช่น พ.ร.ก.หรือออกเป็นคำสั่งประกาศ แต่ถ้าวาระ 1 รับหลักการแล้ว ก็เอาร่างในวาระ 1 มาใช้เป็นกติกาการเลือกตั้ง ทั้งนี้ การออกคำสั่งประกาศมีโอกาสที่จะขัดรัฐธรรมนูญ และมีโอกาสที่จะถูกฟ้องว่าทำผิดรัฐธรรมนูญ เป็นเหตุให้การเลือกตั้งทั้งหมดเป็นโมฆะในภายหลัง