จากกรณีที่มีการวิพากษ์วิจารณ์ เรื่องไทยพิจารณากลับเข้ารับวัคซีนโควิด 19 ผ่านโครงการ COVAX ล่าสุด นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า การพิจารณาของไทย ไม่ได้หมายความว่า การที่ไทยไม่ได้เข้าร่วมในปีนี้ ถือว่าผิดแผน ผิดพลาด ล้มเหลว แต่ไทยตัดสินใจบนสถานการณ์จริง ที่ปี 2564 ทั่วโลกต้องการวัคซีนมากมายมหาศาล ทาง COVAX ก็เช่นกัน ต้องประสบกับความยากลำบากในการจัดหา ซึ่งก็ปรากฏเป็นข่าวอยู่เนืองๆ ปัจจุบันนี้ ค่าเฉลี่ยการกระจายวัคซีนให้ชาติสมาชิกอยู่ที่ ประเทศละ 1 ล้านโดส และในความเป็นจริง บางชาติได้รับหลักล้าน แต่บางชาติได้รับหลักหมื่น โครงการ COVAX สำหรับปี 2564 ยังมีความไม่แน่นอนอยู่สูง ดังนั้น ไทยจึงไม่ได้หวังพึ่งจากโครงการนี้เป็นหลัก แต่ได้เข้าไปจัดหากับผู้ผลิตโดยตรง
หากมองในมุมของประเทศไทยที่มีการซื้อวัคซีนตรงกับบริษัทผู้ผลิตที่เราตกลงกันไว้ตั้งแต่ ก.ย.63 ทำให้ตั้งแต่เดือนก.พ.64 จนถึงสิ้นเดือน ก.ค.64 ไทยเรามีวัคซีนรวมสะสมทั้งสิ้นประมาณ 27 ล้านโดส แบ่งเป็นแอสตร้าฯ ราว 12 ล้านโดส และซิโนแวคอีก 15 ล้านโดส และยังมีส่วนที่ได้รับการบริจาคราว 3.5 ล้านโดสเป็นวัคซีนแอสตร้าฯ 1 ล้านโดสที่เราได้รับจากประเทศญี่ปุ่น วัคซีนซิโนแวค 1 ล้านโดสจากประเทศจีน และวัคซีนไฟเซอร์ 1.5 ล้านโดสที่จะเข้ามาปลายเดือนนี้
“ย้อนกลับไป ตอนที่ไทย มีแผนวัคซีน เราไม่ได้เลือก COVAX เป็นแผนหลัก เพราะตอนนั้น เราไม่อยากวางเงินซื้อ ซึ่งเรารู้ดีว่า หลังจากนั้น เราจะกำหนดอะไรไม่ได้ ทางไทย จึงกันงบ ไว้จัดซื้อ จัดหากับผู้ผลิตโดยตรง ที่การพูดคุยหารือ ยังเป็นไปได้มากกว่า”
อย่างไรก็ตาม สถานการณ์ปัจจุบันของโครงการ COVAX มีแนวโน้มที่ดีขึ้น ไทยและ COVAXได้หารือกันมาตลอด มีคณะทำงานที่ตั้งขึ้นมาเพื่อพิจารณาในเรื่องนี้โดยเฉพาะ พบว่า ในปี 2565 การกักตุนวัคซีนจะน้อยลง COVAX จะมีวัคซีนเข้ามามากขึ้น บริหารจัดการง่ายขึ้น ชาติสมาชิกจะมีความชัดเจนเรื่องการได้รับวัคซีน ไทยจึงเข้าร่วม เราตัดสินใจบนสถานการณ์จริง