'อนุทิน' เผยวัย 20-29 ปี เสี่ยงซึมเศร้า 16.48% แนะมองโลกแง่ดี ช่วยเหลือผู้อื่น

Home » 'อนุทิน' เผยวัย 20-29 ปี เสี่ยงซึมเศร้า 16.48% แนะมองโลกแง่ดี ช่วยเหลือผู้อื่น


'อนุทิน' เผยวัย 20-29 ปี เสี่ยงซึมเศร้า 16.48% แนะมองโลกแง่ดี ช่วยเหลือผู้อื่น

‘อนุทิน’ เผยคนไทย 20-29 ปี เสี่ยงซึมเศร้า 16.48% แนะปรับตัวเข้าสถานการณ์ อยู่กับปัจจุบัน มองโลกแง่ดี ช่วยเหลือผู้อื่นเท่าที่จะช่วยได้

วันที่ 3 พ.ย. 2565 ที่มหาวิทยาลัยราชภัฏนครราชสีมา จ.นครราชสีมา นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) เปิดงานสัปดาห์สุขภาพจิตแห่งชาติ ประจำปี 2565 “วัดใจ เติมพลัง สังคมมีสุข” จ.นครราชสีมา โดยมี พญ.อัมพร เบญจพลพิทักษ์ อธิบดีกรมสุขภาพจิต นพ.สุผล ตติยนันทพร นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัด (นพ.สสจ.) นครราชสีมา ผศ.อดิศร เนาวนนท์ อธิการบดีมหาวิทยาลัยราชภัฏนครราชสีมา คณาจารย์ และนักศึกษา เข้าร่วมงานกว่า 300 คน

นายอนุทิน กล่าวว่า ปัจจุบันเทคโนโลยีเข้ามามีบทบาทอยู่ในการดำเนินชีวิตของประชาชนมากขึ้น โดยเฉพาะวัยรุ่นซึ่งเป็นช่วงอายุที่อารมณ์อ่อนไหวต่อสิ่งเร้าที่แวดล้อมรอบด้านได้ง่าย ทำให้อาจได้รับผลกระทบต่อภาวะสุขภาพจิตทั้งระยะสั้นและระยะยาวได้ ซึ่งจากข้อมูลการตรวจคัดกรองวัดสุขภาพใจด้วยตนเองผ่านแอพพลิเคชั่นไลน์ โปรแกรม Mental Health Check-In (MHCI) ตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค. – วันที่ 2 พ.ย. 2565 พบว่า ภาพรวมประชาชนไทยกลุ่มอายุ 20-29 ปี เสี่ยงมีภาวะซึมเศร้าถึงร้อยละ 16.48

นายอนุทิน กล่าวต่อว่า ช่วงที่ผ่านมาประเทศไทยมีหลายสถานการณ์ที่อาจส่งผลกระทบทำให้เกิดความเศร้าโศกเสียใจ หรือสูญเสียบุคคลอันเป็นที่รัก การเร่งฟื้นฟูให้ประชาชนมีสุขภาพจิตใจที่เข้มแข็ง ดำเนินชีวิตต่อไปได้ จึงเป็นภารกิจเร่งด่วนของ สธ.

“นอกจากปัจจัยเรื่องเทคโนโลยี ความเปลี่ยนแปลงของสภาพทางสังคมที่รวดเร็วก็อาจส่งผลต่อสุขภาพจิตได้ จึงต้องรู้จักพัฒนาจิตใจตนเองให้มีความพร้อมอยู่เสมอ ปรับตัวให้เข้ากับสถานการณ์ อยู่กับปัจจุบัน มองโลกในแง่ดี รู้จักคิดบวกและช่วยเหลือผู้อื่นเท่าที่จะช่วยได้ หากพัฒนาได้ตามนี้เราก็จะมีความสุข” นายอนุทิน กล่าว

ด้าน พญ.อัมพร กล่าวว่า กรมสุขภาพจิตได้ลงนามบันทึกข้อตกลง (เอ็มโอยู) จัดโครงการคู่เครือข่ายดูแลจิตใจก้าวสู่คนไทยคุณภาพ กับมหาวิทยาลัยราชภัฏทั่วประเทศ เพื่อให้นักศึกษาได้รับการดูแลช่วยเหลืออย่างเหมาะสมทันท่วงที โดยมหาวิทยาลัยราชภัฏนครราชสีมา ได้ดำเนินงานร่วมกันตั้งแต่ปี 2564 นักศึกษาที่ประเมินสุขภาพจิตด้วยตนเองผ่าน MHCI พบว่า มีอัตราเสี่ยงซึมเศร้า ร้อยละ 11.01 ได้ดูแลให้คำปรึกษาช่วยเหลือเบื้องต้น โทรศัพท์ติดตามในรายที่มีความเสี่ยงสูง

พ.ญ.อัมพร กล่าวต่อว่า รายที่เสี่ยงสูงมากจะส่งข้อมูลให้ โรงพยาบาลคู่เครือข่ายที่มีจิตแพทย์ นักจิตวิทยาและพยาบาลจิตเวชทราบ เพื่อติดตามให้การช่วยเหลือ ดำเนินการแล้วกว่า 17 ราย นอกจากนี้ ยังสนับสนุนการจัดกิจกรรมเติมพลังจิตใจ เสริมสร้างความเข้มแข็งทางใจให้แก่นักศึกษาและอาจารย์ รวมถึงพัฒนาศักยภาพคณาจารย์ ให้มีทักษะการฟัง ให้คำปรึกษาช่วยเหลือนักศึกษาเบื้องต้น จำนวนกว่า 50 คน

ขอเชิญชวนประชาชนที่สนใจร่วม “วัดใจ เติมพลัง สังคมมีสุข” โดยโรงพยาบาลจิตเวชนครราชสีมาราชนครินทร์ และศูนย์สุขภาพจิตที่ 9 ในงานสัปดาห์สุขภาพจิตแห่งชาติ ระหว่างวันที่ 3-4 พฤศจิกายน 2565 ณ อาคารยุพราชเบญจมงคล (อาคาร 31) มหาวิทยาลัยราชภัฏนครราชสีมา ตั้งแต่เวลา 08.30 น. เป็นต้นไป ภายในงานมีกิจกรรม อาทิ ให้คำปรึกษาทางสุขภาพจิต กิจกรรมเสริมสร้างพลังใจ พลังสังคม ให้มีความสุขร่วมกัน

แท็กที่เกี่ยวข้อง

เรื่องอื่นที่น่าสนใจ