“อนุทิน” ระบุ พ.ร.ก.โรคติดต่อ มีอำนาจเทียบเท่า พ.ร.ก.ฉุกเฉิน สั่งเคอร์ฟิวและปิดกิจการเสี่ยงแพร่ระบาดได้
วันนี้ (22 ก.ย.) นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข กล่าวถึงกรณีที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติผ่านร่าง พ.ร.ก.แก้ไขเพิ่มเติม พ.ร.บ.โรคติดต่อ พ.ศ. 2558 พ.ศ. …. ว่า เป็นการเพิ่มความเข้มข้นมากขึ้น โดยเมื่อไหร่ที่มีการประกาศให้โรคใดเป็นโรคติดต่อร้ายแรง คณะกรรมการโรคติดต่อแห่งชาติ ซึ่งปกติมีรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขเป็นประธาน ก็จะถูกยกระดับทันที โดยมีนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน มีรองนายกรัฐมนตรีที่นายกฯ แต่งตั้ง เป็นรองประธานฯ ส่วนรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข เป็นกรรมการ
ทั้งนี้ มีอำนาจในการประกาศสถานการณ์ต่างๆ ได้ทางด้านสาธารณสุข สามารถประกาศบังคับความร่วมมือของทุกหน่วยงาน และประกาศกฎเกณฑ์ต่างๆ ได้ เหมือนเป็น ศบค.ปัจจุบัน แต่ไม่ได้อยู่ภายใต้พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ถือเป็นเรื่องที่ดีที่ทำให้ความร่วมมือระหว่างกันมีมากขึ้น
- จับตาร่าง พ.ร.ก.โรคติตด่อ คาด ศบค.แปลงกาย พร้อมคุ้มครองบุคลากร-ป้องกันถูกฟ้องคดี
- ไม่ต่ออายุ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน หลัง 30 ก.ย.นี้ พร้อมไฟเขียว นิรโทษกรรมบุคลากรแพทย์
เมื่อถามว่าหาก พ.ร.ก.ฉบับนี้ประกาศใช้ในราชกิจจานุเบกษาแล้ว สามารถย้าย ศบค. มาเป็นกรรมการชุดใหม่ได้ทันทีหรือไม่ นายอนุทิน กล่าวว่า ต้องรอให้มีการประกาศก่อน เมื่อวานที่ผ่านมา ครม.เห็นชอบแล้ว พร้อมย้ำว่าส่วนนี้ไม่ได้เสนอขึ้นมาจากกระทรวงสาธารณสุข แต่ผู้เสนอมาจาก ครม. โดยรองนายกฯ วิษณุ เครืองาม
นอกจากนี้ นายอนุทิน ยังกล่าวเพิ่มเติมว่า พ.ร.ก.ฉบับนี้ อำนาจ ขอบข่ายความรับผิดชอบ การป้องกันบุคลากร เจ้าหน้าที่ที่ปฏิบัติงานภายใต้ พ.ร.ก.นี้ เพราะฉะนั้นครอบคลุมหมด ทั้งการสั่งปิดสถานที่ และประกาศเคอร์ฟิวได้ด้วย
ในขณะที่มีรายงานว่า ในวันพรุ่งนี้ (23 ก.ย.) จะมีการประชุมคณะกรรมการโรคติดต่อแห่งชาติ โดยมีวาระแจ้งเพื่อทราบเกี่ยวกับร่าง พ.ร.ก.แก้ไขเพิ่มเติม พ.ร.บ.โรคติดต่อ พ.ศ. 2558 พ.ศ. …. ด้วย