อนุทิน ลั่นเจรจาซื้อวัคซีนโควิดสารพัดยี่ห้อ แต่ส่งไม่ทัน พ.ค. สักราย ย้ำเป้าฉีดวงกว้าง มิ.ย.

Home » อนุทิน ลั่นเจรจาซื้อวัคซีนโควิดสารพัดยี่ห้อ แต่ส่งไม่ทัน พ.ค. สักราย ย้ำเป้าฉีดวงกว้าง มิ.ย.



อนุทิน ลั่นเจรจาซื้อวัคซีนโควิดสารพัดยี่ห้อ แต่ส่งไม่ทัน พ.ค. สักราย ย้ำเป้าฉีดวงกว้าง มิ.ย.

นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข กล่าวเมื่อวันอังคาร (20 เม.ย.) ว่าหน่วยงานที่เกี่ยวข้องหารือกับ ไฟเซอร์ บริษัทยาจากสหรัฐ เพื่อซื้อวัคซีนโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) แล้ว แต่ติดปัญหาเรื่องการจัดส่งที่ไม่ทันความต้องการของไทย

รัฐมนตรีรายนี้กล่าวต่อไปว่า ที่ผ่านมายังมีการเจรจาซื้อวัคซีนโควิด-19 กับบริษัทอีกหลายแห่ง แต่ก็ติดปัญหาเดียวกันหมด จะมีแต่วัคซีนของซิโนแวคเท่านั้นที่จัดหามาได้

อย่างไรก็ตาม นายอนุทินยังคงยืนยันเป้าหมายหลักของไทย คือ การให้บริการฉีดวัคซีนแก่ประชาชนในวงกว้างภายในเดือน มิ.ย. ปีนี้

จ่อขึ้นทะเบียนให้ผลิตวัคซีนแอสตร้าเซนเนก้า

นายอนุทิน กล่าวถึงวัคซีนโควิด-19 ที่แอสตร้าเซนเนก้า บริษัทยาจากสหราชอาณาจักร พัฒนาร่วมกับมหาวิทยาลัยออกซ์ฟอร์ดว่า สัปดาห์นี้ องค์การอาหารและยา (อย.) จะขึ้นทะเบียนอนุมัติไซต์การผลิตวัคซีนแล้ว และที่ผ่านมา การผลิตวัคซีนของไทยได้มาตรฐานดีมาก คิดว่าทุกอย่างจะดำเนินการได้ตามแผนที่วางไว้ ส่วนแผนการในขณะนี้ คือ การฉีดวัคซีนให้บุคลากรการแพทย์ให้ครบ 100%

ยาโควิดมีพอ เตียงด้วย

ส่วนข้อกังวลเรื่องจำนวนยา เวชภัณฑ์ และอุปกรณ์ป้องกัน นายอนุทิน กล่าวว่า ที่ได้รับรายงานมา ยังมีจำนวนเพียงพอ และตนได้สั่งการให้จัดหาเข้ามาเรื่อยๆ ยาฟาวิพิราเวียร์ ต้องมีสต็อกอย่างน้อย 500,000-1 ล้านเม็ด ส่วนสถานที่รองรับผู้ป่วย มีนโยบายว่า ผู้ติดเชื้อ ต้องได้รับการดูแลจากแพทย์ เราต้องทำทุกทางเพื่อรักษาชีวิตประชาชน มีความเป็นห่วงเรื่องข่าวสารที่เพิ่มมากขึ้น เพราะเป็นประเด็นที่สังคมสนใจ ขอให้ประชาชนรับข่าวสารจากกระทรวงสาธารณสุข ควบคู่กันเพื่อตรวจสอบข้อมูลกับแหล่งอื่น เพราะทางกระทรวงอธิบายตามข้อเท็จจริง โดยผู้ที่ทำงานจริง เข้าใจสถานการณ์จริง ก่อนหน้านี้ มีหมอจากจังหวัดภาคเหนือ ออกมากล่าวว่า ยาฟาวิพิราเวียร์ไม่พอ ก็ต้องให้ส่วนกลางชี้แจงว่ามีเพียงพอจนเข้าใจ ซึ่งคุณหมอได้ออกมาทำความเข้าใจกับประชาชนแล้ว

รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข กล่าวถึงสถานการณ์การระบาดของโรคโควิด-19 ว่าหลายฝ่ายกังวลว่าผู้ป่วยรายใหม่มีแนวโน้มมีอาการรุนแรงขึ้นและเตียงอาจจะไม่พอ ว่าตอนนี้ได้เตรียมเตียงไอซียูไว้รองรับแล้ว ซึ่งส่วนใหญ่ปัญหาจะเกิดขึ้นในพื้นที่กรุงเทพมหานคร ส่วนในต่างจังหวัดมีผู้ป่วยไม่มากก็จะไม่เป็นปัญหา เพราะมีการบริหารจัดการที่กระจายอำนาจไปซึ่งมีทั้งผู้อำนวยการโรงพยาบาล มีสำนักงานสาธารณสุขจังหวัด และ อสม. บูรณาการกันทำงาน

แท็กที่เกี่ยวข้อง

เรื่องอื่นที่น่าสนใจ