‘อนุทิน’ ร่วมเวทีประเทศสมาชิก WHO ประชุมสมัชชาอนามัยโลก สมัยที่ 75 เรียกร้องทั่วโลกช่วยเหลือด้านสาธารณสุ ผู้ที่กำลังตกอยู่ในภาวะสงคราม
เมื่อวันที่ 23 พ.ค. 2565 น.ส.ไตรศุลี ไตรสรณกุล รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า เมื่อเวลา 09.00 น. ตามเวลาท้องถิ่น ณ นครเจนีวา สมาพันธรัฐสวิส นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี และรมว.สาธารณสุข ได้เข้าร่วมการประชุมสมัชชาอนามัยโลก (World Health Assembly: WHA) สมัยที่ 75 ซึ่งจัดขึ้นที่ ปาเล เด นาซียง (Palais de Nations) ที่ทำการสำนักงานสหประชาชาติ ประจำนครเจนีวา
นายอนุทิน ได้ร่วมหารือกับผู้แทนจากประเทศสมาชิกองค์การอนามัยโลก(WHO) ทั้ง 194 ประเทศ ภายใต้หัวข้อ “Health for Peace and Peace for Health” ใช้ประโยชน์จากวิทยาศาสตร์ ข้อมูล เทคโนโลยีและนวัตกรรม ฟื้นฟูสุขภาพและการสาธารณสุขจากโลกที่ถูกคุกคามจากความขัดแย้ง ความเหลื่อมล้ำ วิกฤตสภาพภูมิอากาศ และการระบาดใหญ่ของโควิด-19
จากนั้นเวลา 15.00 น. ตามเวลาท้องถิ่น นายอนุทิน ได้กล่าวถ้อยแถลงต่อที่ประชุมสมัชชาอนามัยโลก โดยย้ำถึงนโยบายสาธารณสุขของประเทศไทยที่ให้ความสำคัญกับการดูแลด้านสุขภาพประชาชนอย่างเท่าเทียม ด้วยนโยบายหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า(Universal Health Coverage : UHC) ซึ่งได้รับการพิสูจน์แล้วว่าเป็นพื้นฐานที่นำไปสู่สังคมที่สงบสุข ในช่วงแพร่ระบาดใหญ่ของโควิด19 รัฐบาลไทยให้การเข้าถึงทั้งการตรวจและการรักษา ให้วัคซีนแก่ทุกคนที่อาศัยในประเทศไทย
น.ส.ไตรศุลี กล่าวอีกว่า นายอนุทิน ได้เรียกร้องให้ประเทศสมาชิก WHO ทุกประเทศร่วมกันให้ความช่วยเหลือสนับสนุนด้านสาธารณสุขผู้ที่ตกอยู่ในภาวะสงคราม และให้ความความคุ้มครองเจ้าหน้าที่ด้านการแพทย์ทุกคนที่ทำงานในแนวหน้า ความร่วมมือของทุกประเทศจะเปลี่ยนความทุกข์ร้อนของผู้คนในภาวะสงครามไปสู่ความหวัง การร่วมกันดูแลสุขภาพของประชากรของทุกประเทศต้องอยู่เหนือความขัดแย้งทั้งปวง และประเทศไทยยังคงมุ่งมั่นที่จะทำงานร่วมกับประชาคมโลกในการไปสู่เป้าหมายดังกล่าว
รองนายกรัฐมนตรี กล่าวย้ำในตอนท้ายว่า ประเทศไทยจะร่วมกับทุกประเทศในการส่งเสริมให้ผู้คนมีสุขภาพที่ดี ไม่ใช่การสงคราม เพื่อการอยู่ในโลกแห่งสันติภาพไปด้วยกัน สุขภาพที่ดีของผู้คนเกิดขึ้นในโลกที่มีสันติภาพเท่านั้น เราไม่สามารถมีสิ่งหนึ่งโดยปราศจากอีกสิ่งหนึ่งได้
น.ส.ไตรศุลี กล่าวอีกว่า สมัชชาอนามัยโลก หรือ WHA นี้ ถือเป็นคณะซึ่งประกอบด้วยผู้แทนจากประเทศสมาชิกทั้ง 194 ประเทศ มีอำนาจตัดสินใจระดับนโยบายของ WHO กำหนดวาระด้านสุขภาพและสาธารณสุขที่ประเทศสมาชิกต้องนำไปดำเนินการเพื่อบรรลุเป้าหมายร่วมกัน