อนุทิน บินโตเกียว แลกเปลี่ยนความรู้ สปสช.ญี่ปุ่น เสริมแกร่งระบบสาธารณสุขไทย

Home » อนุทิน บินโตเกียว แลกเปลี่ยนความรู้ สปสช.ญี่ปุ่น เสริมแกร่งระบบสาธารณสุขไทย


อนุทิน บินโตเกียว แลกเปลี่ยนความรู้ สปสช.ญี่ปุ่น เสริมแกร่งระบบสาธารณสุขไทย

อนุทิน นำคณะสธ. บินโตเกียว จับมือ JICA แลกเปลี่ยนความรู้ สปสช. ญี่ปุ่น เสริมแกร่งระบบสาธารณสุขไทย พร้อมหารือความร่วมมือการวิจัยด้านมะเร็ง

เมื่อวันที่ 14 พ.ย. 2565 น.ส.ไตรศุลี ไตรสรณกุล รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ระหว่างวันที่ 13-18 พ.ย. นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี และรมว.สาธารณสุข พร้อมคณะ ประกอบด้วย คณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (บอร์ด สปสช.) ประธานกรรมการตรวจสอบ ผู้บริหารกระทรวงสาธารณสุข อาทิ นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข นพ.พงศ์เกษม ไข่มุก รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข

นพ.จเด็จ ธรรมธัชอารี เลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) นพ.สุวิทย์ วิบุลผลประเสริฐ ผู้ทรงคุณวุฒิด้านสังคมศาสตร์ เข้าร่วมการศึกษาดูงานด้านหลักประกันสุขภาพของญี่ปุ่น ที่กรุงโตเกียว ประเทศญี่ปุ่น ภายใต้โครงการความร่วมมือระหว่างกระทรวงสาธารณสุขและสปสช.ของไทยกับองค์การความร่วมมือระหว่างประเทศแห่งญี่ปุ่น (JICA) ด้านสุขภาพโลกและการประกันสุขภาพถ้วนหน้า

โดยวันที่ 14 พ.ย. นายอนุทินได้นำคณะเข้าร่วมการต้อนรับการศึกษาดูงาน ที่กระทรวงสาธารณสุข แรงงาน และสวัสดิการ พร้อมกับเป็นผู้แทนรัฐบาลไทยแสดงความขอบคุณต่อรัฐบาลญี่ปุ่นและ JICA ที่เชิญประเทศไทยเข้าร่วมโครงการความร่วมมือนี้ ซึ่งเป็นโอกาสที่คณะเจ้าหน้าที่ของทั้ง 2 ประเทศได้แลกเปลี่ยนประสบการณ์ความรู้ระหว่างกัน เพื่อนำไปสู่ความแข็งแกร่งของระบบสาธารณสุขรองรับกับสถานการณ์ต่างๆ ที่จะเกิดขึ้นในอนาคต การระบาดของโควิด-19 ใน 3 ปีที่ผ่านมาได้ชี้ชัดแล้วว่า ระบบสุขภาพที่แข็งแกร่งคือสิ่งสำคัญที่ปกป้องชีวิตของคนทั่วโลก

น.ส.ไตรศุลี กล่าวว่า ในโอกาสนี้นายอนุทินและคณะ ได้พบหารือกับนาย Kato Katsunobu รมว.สาธารณสุข แรงงาน และสวัสดิการ ญี่ปุ่น พร้อมคณะผู้บริหารกระทรวงฯ ในประเด็นการขยายความร่วมมือด้านสาธารณสุขของ 2 ประเทศด้วย และได้หารือถึงการสนับสนุนภารกิจของสำนักงานเลขาธิการศูนย์อาเซียน ด้านการรับมือกับภาวะฉุกเฉินทางสาธารณสุขและโรคอุบัติใหม่ (ACPHEED) ที่ประเทศไทย

โดยการริเริ่มโครงการนี้ ญี่ปุ่นได้สนับสนุนงบประมาณ 50 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ผ่านกองทุน Japan ASEAN Integration Fund (JAIF) สำหรับการศึกษาจัดตั้งศูนย์ฯ ซึ่งขณะนี้สมาชิกอาเซียนอยู่ระหว่างการจัดทำ Establishment Agreement (EA) ของศูนย์ฯ เมื่อแล้วเสร็จและมีการลงนาม EA โดยญี่ปุ่นยินดีที่จะส่งผู้เชี่ยวชาญเข้าร่วมขับเคลื่อนภารกิจของ ACPHEED กับประเทศไทยและสมาชิกอาเซียนในทุกด้าน

น.ส.ไตรศุลี กล่าวต่อว่า กระทรวงสาธารณสุขไทยมีความยินดีที่ญี่ปุ่นจะเป็นประธานการจัดประชุม G7 Summit ในปี 2023 ซึ่งได้มีการจัดตั้ง “Hiroshima G7 Global Health Task Force” ขึ้น เพื่อการขับเคลื่อนประเด็นด้านสาธารณสุข โดยญี่ปุ่นได้เชิญประเทศไทยเข้าร่วมเป็นคณะทำงานในประเด็นขับเคลื่อนต่างๆ ด้วย อันจะเป็นการกระชับความสัมพันธ์ระหว่างญี่ปุ่นและไทย รวมทั้งเป็นการพัฒนาขีดความสามารถด้าน Global Health ของญี่ปุ่นและไทยในระดับโลกด้วย

น.ส.ไตรศุลี กล่าวว่า นอกจากนี้ ทั้ง 2 ฝ่ายยังได้หารือถึงความร่วมมือการวิจัยด้านมะเร็ง ซึ่งโรงพยาบาลภายใต้ National Cancer Institute ของญี่ปุ่นมีความสนใจจะดำเนินโครงการ Asian Cancer Trials Network (ATLAS) เพื่อพัฒนายาที่เป็นองค์ความรู้ของเอเชีย พร้อมกับพัฒนา Genomic Medicine และการพัฒนาศักยภาพบุคลากรที่เกี่ยวข้อง รวมถึงโครงการ Decentralized Clinical Trials (DCT) ซึ่งเป็นการศึกษาวิจัยการรักษาผู้ป่วยมะเร็งผ่านระบบ Telemedicine โดยฝ่ายไทยได้มอบหมายให้สถาบันมะเร็ง กรมการแพทย์เป็นผู้ประสานงาน

อนุทิน บินโตเกียว แลกเปลี่ยนความรู้ สปสช.ญี่ปุ่น เสริมแกร่งระบบสาธารณสุขไทย

อนุทิน บินโตเกียว แลกเปลี่ยนความรู้ สปสช.ญี่ปุ่น เสริมแกร่งระบบสาธารณสุขไทย

ด้านนายอนุทิน กล่าวว่า โควิด-19 เผยให้เห็นว่าปัญหาด้านสาธารณสุขเป็นความท้าท้ายของทุกประเทศ เช่นเดียวกับปัญหาอื่นๆ ไม่ว่าจะเป็นปัญหาสังคม ความไม่เท่าเทียมทางเศรษฐกิจ ทั้งหมดจำเป็นที่ต้องมีความร่วมมือทั้งในและระหว่างประเทศในการดูแลแก้ไข ซึ่งญี่ปุ่นเป็นหนึ่งในประเทศที่ประสบความสำเร็จในด้านต่างๆ รวมถึงการบริหารระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า (UHC) และการดูแลระบบสังคมผู้สูงอายุ ที่ไทยสามารถเรียนรู้และนำไปปรับใช้ให้ระบบของไทยแข็งแกร่งยิ่งขึ้น

“ความร่วมมือภายใต้โครงการนี้ระหว่างไทยและญี่ปุ่น เริ่มมาตั้งแต่ปี 2558 โดยขณะนี้ดำเนินการเป็นระยะที่ 2 ซึ่งการศึกษาดูงานนับเป็นโอกาสอันดีที่เจ้าหน้าที่ของฝ่ายไทย ญี่ปุ่น จะได้แลกเปลี่ยนประสบการณ์การทำงาน ผมมั่นใจว่าประสบการณ์และบทเรียนที่เราที่ได้รับจากประเทศญี่ปุ่น จะช่วยกำหนดรูปแบบการทำงานทั้งการรักษาพยาบาล และการบริหารกองทุนสปสช.ของไทยให้เข้มแข็งขึ้นอีก รัฐบาลไทยขอบคุณรัฐบาลญี่ปุ่น และJICA ที่ให้การสนับสนุนการพัฒนาด้านต่างๆ ของไทยด้วยดีเสมอมา” นายอนุทิน กล่าว

แท็กที่เกี่ยวข้อง

เรื่องอื่นที่น่าสนใจ