“อนุทิน” ชี้ สธ.ต้องเตรียมพร้อม "เปิดประเทศ" หลังนายกฯ ประกาศเป้าหมาย

Home » “อนุทิน” ชี้ สธ.ต้องเตรียมพร้อม "เปิดประเทศ" หลังนายกฯ ประกาศเป้าหมาย
“อนุทิน” ชี้ สธ.ต้องเตรียมพร้อม "เปิดประเทศ" หลังนายกฯ ประกาศเป้าหมาย

“อนุทิน” ชี้ สธ.ต้องเตรียมพร้อม หลัง “บิ๊กตู่” เล็งเปิดประเทศใน 120 วัน

จากกรณีที่พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ประกาศเป้าหมายว่าจะเปิดประเทศใน 120 วัน ล่าสุด 18 มิถุนายน 2564 นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า เป็นเป้าหมายของฝ่ายผู้บริหารให้หน่วยงาน และประชาชนต่างๆ ได้รับทราบว่าประเทศไทย มีแผนการไว้แบบนี้ เพื่อการเตรียมพร้อม และให้ไปในทิศทางเดียวกัน โดยกระทรวงสาธารณสุข เมื่อทราบเป้าหมายมาแล้ว ก็ต้องไปหาทางสำรองยา จัดสรร วางแผนทรัพยากร หากเปิดประเทศขึ้นมา ทางกระทรวงจะได้เป็นหน่วยงานสนับสนุนได้เลย

ทางผู้บริหาร อาจจะมองว่า ประเทศไทย ในอีก 120 วัน เราจะฉีดวัคซีนได้มากแล้ว และปัจจุบัน ไทยมีศักยภาพในการดูแลผู้ป่วยที่ดีมีมาตรฐาน ผู้ป่วยต้องไม่ถูกทอดทิ้ง ที่ผ่านมาประเทศไทย มีผู้ป่วยไม่แสดงอาการ 80% มีผู้ป่วยอาการหนัก 5% ก็อยู่ในจุดที่รับมือได้ ท่านน่าจะคิดมาถี่ถ้วนแล้ว หน่วยงานต่างๆ เมื่อทราบแผนการแล้ว ก็ต้องเตรียมตัว

ทั้งนี้ เมื่อถามถึงปัญหาการจัดการวัคซีนในพื้นที่กรุงเทพมหานครก่อนหน้านี้ นายอนุทิน ตอบว่า เป็นปัญหาขลุกขลักในช่วงเริ่มต้น อย่าลืมว่า ไทยได้เริ่มกระจายวัคซีนเป็นวงกว้างได้เพียง 2 อาทิตย์เท่านั้น ต้องแก้ไขกัน การให้บริการต้องเดินหน้า

ขณะเดียวกัน อำนาจการบริหารจัดการ ให้ ศบค.มีอำนาจสูงสุด ศบค.มีลักษณะเป็นบอร์ด ประกอบด้วยหลายหน่วยงานที่เข้ามาช่วยกันตัดสินใจ เป็นฝ่ายกำหนดนโยบาย กระทรวงสาธารณสุข กรม กองต่างๆ เป็นฝ่ายปฏิบัติ

ส่วนเรื่องวัคซีนโควิด-19 หากมองกันให้ดี ผู้ผลิตยังส่งวัคซีนให้ได้ตามกำหนด อาทิ แอสตร้าฯ ระบุว่า จะเริ่มส่งในเดือนมิถุนายน นี่ก็ส่งมาแล้ว 3.8 ล้านโดส และยังได้วัคซีนจากซิโนแวคอีก 3.5 ล้านโดส ขณะที่ผู้ปฏิบัติงานในส่วนของการให้บริการ ก็มีความชำนาญในการดึงวัคซีนให้ได้มาตรฐาน เมื่อกำหนดไว้ว่าต้องดึงให้ได้ 0.5 CC ก็ต้องดึงให้ได้จำนวนนั้น

ขณะเดียวกัน จังหวัดบุรีรัมย์เองก็ได้รับจัดสรรวัคซีน ซึ่งเป็นไปตามความเหมาะสม มีการแสดงความต้องการผ่านผู้ว่าฯ และนายแพทย์ สสจ.ขึ้นมาให้ ศบค.พิจารณา จากนั้น ศบค. มีสูตรคำนวณคือ เอาจำนวนวัคซีน หารจังหวัด เทียบอัตราส่วน แล้วเอาความเสี่ยงเข้าไปวิเคราะห์ร่วม คิดกันจนได้ตัวเลขที่เหมาะสม จึงส่งวัคซีนลงไป มีการบอกว่า บุรีรัมย์ได้วัคซีนมาก ไม่เป็นธรรม ทั้งที่ได้วัคซีนไปไม่ถึง 10% ของจำนวนประชาชนด้วนซ้ำ ขณะที่บางจังหวัดได้ไปแล้ว 70%

แท็กที่เกี่ยวข้อง

เรื่องอื่นที่น่าสนใจ