อนุชา เดินหน้าผลักดันเศรษฐกิจฐานรากเปิดโครงการ ‘โคล้านครอบครัว’ หวังให้สมาชิกกองทุนหมู่บ้าน มีรายได้ มีความมั่นคงในครอบครัว
เมื่อวันที่ 19 เม.ย.2566 นายอนุชา นาคาศัย รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กำกับดูแลสำนักงานกองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมืองแห่งชาติ (สทบ.) กล่าวว่า การจัดทำโครงการโคล้านครอบครัวนั้นเชื่อมั่นว่าเป็นหนทางให้เกษตรกรหลุดพ้นจากความยากจน โดยรัฐบาลสนับสนุนให้สมาชิกกองทุนสามารถกู้ยืมเงินตั้งต้นซื้อโคครอบครัวละ 50,000 บาท แบบปลอดดอกเบี้ย ครบปีที่ 3 คืนครึ่งหนึ่งของเงินที่กู้ยืมไป ปีที่ 4 คืนเต็มจำนวน
ขอย้ำว่าไม่ใช่โครงการแจกเงิน แต่เป็นโครงการแจกเครื่องมือทำเงิน เพราะโคเป็นสัตว์เลี้ยงง่าย ไม่จำกัดฤดู และสามารถออกลูกออกหลานให้เกษตรกรสามารถขายลูกโคเพื่อทำเงินได้ตลอดเป็น 10 ปี แค่เริ่มจากโค 2 ตัว และจะเพิ่มเป็นเท่าทวีคูณ รับรองถ้าเลี้ยงดีๆ ใส่ใจดูแลภายใน 3 ปีคืนทุนได้และมีกำไรหลักแสนด้วย
ด้าน รศ.ดร.ธนวรรธน์ พลวิชัย อธิการบดีมหาวิทยาลัยหอการค้าไทย ให้สัมภาษณ์ว่า การเลี้ยงโค พิสูจน์ได้ว่าเป็นอาชีพเสริมที่เพิ่มรายได้ให้เกษตรกร หากมีการส่งเสริมการเลี้ยงโคที่ถูกวิธี จะเพิ่มจำนวนโคในปีถัดไป พร้อมสร้างโอกาสให้ทำไร่นาสวนผสมและเลี้ยงปศุสัตว์ควบคู่กันไปได้ ส่วนของตลาดต่างประเทศและในประเทศ จากสถิติของกระทรวงเกษตรฯ มีการเลี้ยงโคเนื้อมากขึ้น โดยปี 2563 เลี้ยงโคถึง 6 ล้านตัว, ปี 2564 จำนวน 7 ล้านตัว และปี 2565 จำนวน 9 ล้านตัว ถือว่าเติบโตมากขึ้นกว่า 10 เปอร์เซ็นต์
โดยที่เนื้อโคของบ้านเรามีการบริโภคถึง 1.2-1.3 ล้านตัวต่อปี ซึ่งตลาดเนื้อแบ่งเป็น 2 ประเภท คือตลาดเนื้อต่างประเทศและตลาดเนื้อในประเทศ และจะถูกแยกเป็นตลาดเนื้อคุณภาพดีและตลาดเนื้อคุณภาพปกติ โดยธุรกิจร้านอาหารที่มีการบริโภคเนื้อมีหลายระดับ ตั้งแต่เนื้อเกรดพรีเมี่ยมจนถึงเกรดปกติ สังเกตได้จากร้านชาบู ปิ้งย่างที่มีราคาเนื้อต่างกัน และปัจจุบันคนไทยบริโภคเนื้อจากต่างประเทศมากขึ้น แต่ประเทศเราส่งออกน้อยแสดงให้เห็นว่าตลาดในประเทศยังมีความต้องการอยู่ แสดงให้เห็นว่าแนวโน้มความต้องการบริโภคเนื้อยังคงมีสูง
ปัจจุบัน ตลาดโคเนื้อคุณภาพปกติก็มีตลาดรองรับ และถ้าเกษตรกรมีการเลี้ยงโคและเริ่มเข้าใจการเลี้ยงมากขึ้น จนสามารถเลี้ยงโคคุณภาพสูงขึ้นได้ จนทำให้มีเทคนิคการถ่ายทอด เทคนิคการฝึกให้เลี้ยงโคที่มีคุณภาพก็จะสามารถเข้าสู่ตลาดที่พรีเมียม ขายได้ราคามากขึ้น
รศ.ดร.รังสรรค์ พาลพ่าย อาจารย์ประจำสาขาวิชาเทคโนโลยีชีวภาพสำนักวิชาเทคโนโลยีการเกษตรมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี กล่าวว่า การเลี้ยงโคต้องมีการคัดเลือกพันธุ์และมีกระบวนการเลี้ยงที่ประณีต อาจจะต้องมีการนำเทคโนโลยีเข้ามาช่วยเพื่อตรวจสอบข้อมูลต่าง ๆ สามารถสรุปและติดตามข้อมูลได้ตลอดเวลา และเพิ่มข้อมูลที่เป็นประโยชน์ เช่น วิธีการดูแล การทำอาหารเบื้องต้น การปรับปรุงพันธุ์ เป็นต้น ซึ่งจะช่วยให้การเลี้ยงโคมีคุณภาพมากขึ้น
นายเกียรติศักดิ์ ทองสุระวิโรจน์ รักษาการผู้อำนวยการฝ่ายพัฒนากองทุนหมู่บ้านและเสริมสร้างศักยภาพชุมชน กล่าวว่า กองทุนฯ จะสร้างรายได้ สร้างอาชีพที่เลี้ยงครอบครัวได้จริง และเชื่อมั่นว่าจะสามารถต่อยอดอาชีพไปได้อีก โดยไม่จำเป็นต้องเลี้ยงโคอย่างเดียว ก่อให้เกิดอาชีพต่าง ๆ ได้ในอนาคต ต้องการให้คนในชุมชนผ่านการฝึกอบรมความรู้เรื่องปศุสัตว์และนำความรู้กลับมาพัฒนาชุมชน เป็นการสร้างชุมชนที่แข็งแรงผ่านการเลี้ยงโค และเป็นจุดเริ่มต้นเพิ่มความมั่งคั่งให้กับชุมชน การเลี้ยงโคเพียงแค่หนึ่งอาชีพ แต่ทำให้เกิดหลากหลายอาชีพ ตามที่เราคาดหวังไว้
กองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมืองที่สนใจเข้าร่วมโครงการ โคล้านครอบครัว สามารถเตรียมความพร้อมและสอบถามรายละเอียดได้ที่ สำนักงานกองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมืองแห่งชาติ สาขาเขต ทั้ง 13 สาขาเขต ในทุกภูมิภาค และศูนย์ประสานงานกองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมืองประจำจังหวัด (ทุกจังหวัด)