อนุกมธ.งบฯ พท.เสนอชู 3 จว.ใต้ “ปัตยะรา” เป็นมหานครทางเศรษฐกิจของโลกมุสลิม เปลี่ยนภาพความรุนแรงเป็นเมืองแห่งเศรษฐกิจ
เมื่อวันที่ 10 ก.ค. นายวรวัจน์ เอื้ออภิญญกุล คณะกรรมการยุทธศาสตร์และทิศทางการเมืองพรรคเพื่อไทย ฐานะที่ปรึกษาคณะอนุกรรมาธิการ (กมธ.) แผนงานบูรณาการ 2 ในคณะ กมธ.วิสามัญ พิจารณาร่างพ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปี 2566 กล่าวว่า ในการประชุมคณะอนุกมธ.ฯ ได้มีการตั้งข้อสังเกต และข้อแนะนำให้แต่ละหน่วยงานที่มาชี้แจง
โดยเฉพาะศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต) เกี่ยวกับการนำงบประมาณลงไปบูรณาการการทำงานร่วมกันในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ โดย กมธ.เห็นว่า พื้นที่ “ปัตยะรา” (ปัตตานี ยะลา นราธิวาส) ยังเป็นมหานครแห่งโอกาสและความหวัง เป็นประตูเศรษฐกิจสู่อาณาจักรมุสลิมที่มีกำลังซื้อมหาศาล เป็นมหานครฮาลาลที่มีอนาคตที่สุดแห่งหนึ่งของประเทศไทย เพียงแต่ต้องเข้าใจและเปลี่ยนเป็นการนำทางด้วยเศรษฐกิจและการพัฒนา โปรดอย่ามองด้วยสายตาว่าในพื้นที่นี้แข็งกระด้างและรุนแรง พี่น้องในปัตยะราทุกคนต่างต้องการอยู่ดีกินดี มีอาชีพที่มั่นคง
นายวรวัจน์ กล่าวต่อว่า ตนฝากนายสุภัทร จำปาทอง ปลัดกระทรวงศึกษาธิการ พัฒนาการศึกษาเพื่อการมีงานทำ และเพื่อเพิ่มขีดความสามารถการแข่งขันของประเทศ โดยขอให้ปรับหลักสูตรให้สอดคล้องกับการนำศักยภาพทรัพยากรธรรมชาติของพื้นที่ สู่การสร้างรายได้ที่มั่นคง ยั่งยืน พร้อมขอฝากกรมศิลปากรและกรมโยธาช่วยพัฒนาการออกแบบสถาปัตยกรรม
โครงสร้างพื้นฐานของเมืองให้มีกลิ่นอายของมรดกวัฒนธรรมถิ่น ในหลัก 8 วิถี 9 วัฒนธรรม ที่เคยวางเป็นยุทธศาสตร์การพัฒนาศิลปะวัฒนธรรมให้กับกระทรวง โดย 8 วิถี softpower ประกอบด้วย 1.อาหาร 2.แฟชั่น เครื่องประดับ เครื่องแต่งกาย 3.สถาปัตยกรรมและที่อยู่อาศัย 4.ข้าวของเครื่องใข้ของตกแต่งบ้าน 5.ภาษา 6.ศิลปวัฒนธรรม 7.ดนตรีและบันเทิง และ 8.ความเชื่อความเป็นมงคล ขอเพียงตั้งใจหยิบมาดำเนินการ มหานครปัตยะราจะเปลี่ยนเป็นเมืองท่องเที่ยวที่สวยงาม ที่สุดที่จะสามารถดึงดูดนักท่องเที่ยวมุสลิมจากทั่วโลกมาเยือน
นายวรวัจน์ กล่าวอีกว่า นอกจากนี้ในดินแดนที่น้ำฟ้าฝนอุดมสมบูรณ์ ซึ่งเป็นแหล่งผลิตเกษตรและผลไม้ที่สำคัญเพื่อการส่งออกสู่โลกมุสลิม ถ้า ศอ.บต.สามารถยกระดับการนำเทคโนโลยีและนวัตกรรมมาใช้ โดยเฉพาะ Cryogenic หรือการเยือกแข็งด้วยไนโตรเจนที่สามารถคงความสดใหม่ของผลไม้ เช่น ลองกอง ทุเรียน อาหารทะเล
โดยมีโครงการนวัตภัตรา (การนำนวัตกรรมมาพัฒนาอาหารสู่การส่งออก) ที่จ.แพร่เป็นแนวทางให้ศึกษาดูงานเพื่อการพัฒนา ยังมีอีกหลายประการที่อนุกมธ.ฯฝากข้อสังเกตไว้ หาก ศอ.บต.รับเป็นเจ้าภาพบูรณาการอย่างจริงใจ ตนเชื่อว่าการเปลี่ยนแปลงครั้งยิ่งใหญ่กำลังจะมาถึง ขอเป็นกำลังใจให้กับศอ.บต.และหน่วยงานบูรณาการทุกหน่วยให้ทำงานร่วมกัน โดยมีเป้าหมายในการพัฒนาศักยภาพของพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนใต้ ให้เป็นมหานครทางเศรษฐกิจของโลกมุสลิม เปลี่ยนภาพความรุนแรง เป็นภาพแห่งการพัฒนาโดยมีเศรษฐกิจเป็นธงนำ