อธิบดีกรมสุขภาพจิต ชี้ เกณฑ์คัดเลือกเด็กไม่ร้องไห้ ใช้ประเมินไม่ได้ทั้งหมด

Home » อธิบดีกรมสุขภาพจิต ชี้ เกณฑ์คัดเลือกเด็กไม่ร้องไห้ ใช้ประเมินไม่ได้ทั้งหมด



จากกรณี ผู้ปกครองของเด็กนักเรียน แชร์ประกาศของโรงเรียนแห่งหนึ่ง ในจังหวัดมหาสารคาม เกี่ยวกับการรับสมัครนักเรียนอนุบาล 1-2-3 เพื่อเข้ารับการศึกษา ซึ่งจะมีการหักคะแนนเด็กที่ร้องไห้นั้น

เมื่อวันที่ 4 กุมภาพันธ์ พญ.อัมพร เบญจพลพิทักษ์ อธิบดีกรมสุขภาพจิต ให้สัมภาษณ์ถึงภาวะการควบคุมอารมณ์ในเด็ก ว่า สำหรับเด็กเล็กนั้นการร้องไห้ถือเป็นเรื่องปกติ เป็นเรื่องธรรมชาติ ยิ่งในเด็กเล็ก 2-3 ขวบ การควบคุมอารมณ์ต้องอาศัยพัฒนาการทางสังคม และวุฒิภาวะ ซึ่งเป็นสิ่งที่ผู้ใหญ่ต้องให้ความสำคัญ ทำความเข้าใจ เพื่อดูแลให้เขาเกิดการพัฒนา ฝึกทักษะทางสังคมซึ่งไม่ใช่เพียงการควบคุมอารมณ์เสียใจ แต่เป็นการแสดงออกทางอารมณ์อื่นๆ ด้วย เช่น ขว้างปาสิ่งของเมื่อเวลาโกรธ หรือร้องไห้เมื่อเวลาเสียใจ หรือเวลากลัว

“เป็นหน้าที่ของผู้ใหญ่ที่ต้องสนับสนุนให้เด็กเรียนรู้ในการแสดงออกทางอารมณ์ จะให้เกิดความเหมาะสม ซึ่งต้องอาศัยเรื่องของวัยเช่นกัน คู่กับประสบการณ์และอื่นๆ เกี่ยวข้อง” พญ.อัมพร กล่าว

เมื่อถามถึงกรณีที่โรงเรียนแห่งหนึ่งระบุกติกาการเข้าสอบของเด็กชั้นอนุบาล 1-3 ว่าหากเด็กร้องไห้จะมีการหักคะแนนและยังกำหนดว่าไม่ให้ผู้ปกครองเข้าร่วมในการสอบ พญ.อัมพร กล่าวว่า ส่วนนี้เราอาจจะต้องดูวัตถุประสงค์ของการตั้งกติกา เช่น หากเป็นการคัดเลือกเด็กเพื่อเข้าร่วมกิจกรรมอะไรบางอย่างเป็นพิเศษ ซึ่งผู้คัดเลือกอาจจะต้องวางเกณฑ์สำหรับเด็กที่มีวุฒิภาวะทางอารมณ์ดีกว่า หรือมีพัฒนาการทางสังคมที่มากกว่า ในส่วนนี้สามารถวางกติกาเพิ่มเติมได้ แต่หากนำไปใช้ในกิจกรรมที่ไม่ใช่ก็อาจจะผลส่งเสียกับเด็กได้

“แต่เวลาเราประเมินเด็กก็ไม่ใช่ว่าเด็กที่ควบคุมอารมณ์ได้ดีกว่าจะมีแต้มการประเมินมากกว่าเด็กคนอื่น ทั้งนี้ คำแนะนำสำหรับผู้ปกครองคือ สร้างความสบายให้กับเด็ก ไม่สร้างความวิตกกังวลเพิ่ม โดยให้เด็กอยู่ใกล้คนที่เด็กไว้ใจ การที่เด็กอยู่ในสถานการณ์เช่นนี้ก็จะเกิดความวิตกกังวลได้” พญ.อัมพร กล่าว

อย่างไรก็ตาม เรื่องดังกล่าว ผอ.โรงเรียนดังสารคาม ได้ออกมาชี้แจงระเบียบ ว่า มีการกำหนดระเบียบไว้นานแล้ว ถือเป็นระเบียบเพื่อสร้างความเสมอภาพให้กับเด็กที่เจ้าทดสอบคนอื่น ๆ ด้วย การร้องไห้อาจรบกวนสมาธิของเด็กนักเรียนคนอื่นๆ เพราะถ้าเด็กคนหนึ่งร้องอาจทำให้เพื่อนคนอื่น ๆ ร้องตาม ทำให้ไม่สนใจในสิ่งที่อยู่ข้างหน้าหรืออาจไม่สามารถเข้าทดสอบความรู้ความสามารถได้ต่อ ส่งผลกระทบต่อเด็กคนอื่น ๆ ซึ่งการตัดคะแนนก็ถือว่าให้ความเป็นธรรมต่อเด็กคนอื่นด้วย

แท็กที่เกี่ยวข้อง

เรื่องอื่นที่น่าสนใจ