‘วิชาญ’ อดีต ส.ว. คาดพรรคฝ่ายค้านมีโอกาสจัดตั้งรัฐบาลสูง เชื่อ ส.ว.ต้านลำบาก ถ้าโหวต 2 ลุง เป็นเสียงข้างน้อย สภาเจ๊งตั้งแต่วาระแรก
วันที่ 1 พ.ค. 2566 นายวิชาญ ศิริชัยเอกวัฒน์ อดีตสมาชิกวุฒิสภา(ส.ว.) ประเมินการเลือกตั้งครั้งนี้ว่า เป็นรอยต่อช่วงชิงระหว่างอำนาจเก่ากับอำนาจใหม่ในเชิงนโยบาย และเชื่อว่าสังคมก็มีความกังวลต่อผลการเลือกตั้งด้วย โดยเฉพาะบทบาทของ กกต. ที่ยังถูกกังขาความเป็นกลางจากบทเรียนการเลือกตั้งปี 62 ที่มีการเตะตัดขาบางพรรคการเมืองด้วยการยุบพรรค และยังเล่นแร่แปรธาตุถ่วงเวลาประกาศผลการเลือกตั้งให้ช้าลงถึง 60 วัน ทั้งที่ในอดีตสามารถประกาศผลอย่างเป็นทางการได้ภายใน 1 สัปดาห์ ก็จัดตั้งรัฐบาลได้เลย
“ไม่สามารถระบุได้ว่าการเลือกตั้งครั้งนี้จะจบอย่างไร เพราะยังมีตัวแปรที่สำคัญหลายประการที่จะต้องแข่งขันกัน ทั้งกติกา กรรมการ และช่องว่างที่อาจนำไปสู่การอ้างเหตุขัดต่อรัฐธรรมนูญให้ยุบพรรคได้ ส่วนโพลบางแห่งที่ระบุว่าบางพรรคการเมืองมีคะแนนนำนั้น เชื่อว่ายังมีความสวิงอยู่ แต่ถ้าไม่มีตัวแปรเตะขัดขาหรือดึงเกมโดย กกต. โอกาสที่ฝ่ายค้านจัดตั้งรัฐบาลสูงมาก”
“จากสถานการณ์เวลานี้หากพรรคเพื่อไทยสามารถแลนด์สไลด์ได้ 200 เสียง พรรคก้าวไกล 70-80 เสียง ก็เป็นเสียงข้างมากในสภา แม้ไม่ถึงกึ่งหนึ่งของทั้งสองสภาหรือ 376 เสียง แต่เชื่อว่าเสียง ส.ว.คงต้านลำบาก เพราะหากสองพรรคลุงได้เสียงโหวตจาก ส.ว. แต่เป็นเสียงข้างน้อยในสภา แม้จะดึงคนของพรรคเพื่อไทย พรรคก้าวไกล มาได้ 10-20 เสียง ก็ยังไม่พอสำหรับโหวต พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ เปิดสภาวาระแรกก็เจ๊งแล้ว”
นายวิชาญ กล่าวต่อว่า แม้ส.ว.ไม่โหวตให้เพื่อไทยและก้าวไกล พรรคลุงก็จะมีโอกาสจัดตั้งรัฐบาลลำบาก แม้จะมีนายกรัฐมนตรีได้ ก็อยู่ได้เพียง 6 เดือน ซึ่งมีความเป็นไปได้ที่จะใช้กลไกของ กกต.ในการรับรอง 2 พรรคการเมืองให้ช้า ซึ่งจะเป็นเครื่องมือในการถ่วงเวลาจัดตั้งรัฐบาล มีความเป็นไปได้ที่ทำให้เกิดเดดล็อกทางการเมือง เพราะจัดตั้งรัฐบาล มีนายกฯ ไม่ได้ และกรณีหาก ส.ว.พากันงดออกเสียง ก็อาจเป็นเหตุให้จัดตั้งรัฐบาลไม่ได้เช่นกัน
“เชื่อว่าการหาเหตุยุบพรรคการเลือกตั้งในครั้งนี้จะไม่ใช่เรื่องง่ายอย่างที่ผ่านมา มีความน่ากังวลของเรื่องมวลชน ซึ่งต่างจากการเลือกตั้งปี 62 ที่มีการยุบพรรคไทยรักษาชาติ แต่ยังเหลือพรรคเพื่อไทย ซึ่งการเลือกตั้งครั้งนี้ไม่มีพรรคพี่พรรคน้อง มีแค่พรรคเพื่อไทยพรรคเดียว จึงเชื่อว่าสังคมไม่แฮปปี้ หากมีการยุบพรรคก้าวไกล อาจทำให้เกิดกระแสลุกฮือได้”
นายวิชาญ กล่าวต่อว่า คำถามคือเราจะปล่อยให้ประเทศเป็นง่อยหรือไม่ ส่วนตัวจึงมองว่าทุกคนต้องการการเปลี่ยนแปลง ความก้าวหน้าของประเทศ ไม่ว่าจะก้าวช้าหรือก้าวเร็ว แต่ต้องการหลุดออกจากสังคมที่ถูกครอบไว้ 8-9 ปี
“ในวงอดีต ส.ว. มีการพูดคุยกันถึงประเด็นดังกล่าวและเชื่อว่าเสียงส.ว.น่าจะแตกแถวเป็น 3 กลุ่ม ซึ่งกลุ่มงดออกเสียงเป็นกลุ่มที่ต้องจับตาในครั้งนี้ว่าจะมีมากน้อยอย่างไร โดยมีปัจจัยมาจากการที่ลุงตู่ ลุงป้อม แตกพรรคกันเอง และส.ว.ชุดนี้เหลือวาระเพียง 1 ปี แม้จะตั้งโดย 2 ป. แต่ก็มีเสียงบ่นของ ส.ว.ให้เห็นว่าไม่ชอบช่วงเวลา 4-5 ปีที่ผ่านมา เสียดายที่รัฐบาลไม่ได้นำพาประเทศไปข้างหน้า อย่าง พญ.คุณหญิงพรทิพย์ โรจนสุนันทน์ และนายวันชัย สอนศิริ ส.ว.”
นายวิชาญ กล่าวอีกว่า ส่วนสัปดาห์โค้งสุดท้ายการเลือกตั้ง เชื่อว่าจะมีวาทกรรมออกมาแน่นอน น่าจะดึงสถาบันมาเชื่อมโยง ส่วนประเด็นพานายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกฯ กลับบ้าน เชื่อว่าไม่ใช่ประเด็นปลุกกระแสในรอบนี้ เพราะนายทักษิณพูดแต่แรกแล้วว่าจะกลับบ้าน ซึ่งการกลับบ้านก็ไม่ได้หมายความว่าจะไม่รับโทษ
นายวิชาญ กล่าวต่อว่า ประเมินว่าการเลือกตั้งครั้งนี้พรรคเพื่อไทยสามารถแลนด์สไลด์ได้ 200 เสียง แม้จะยังไม่สามารถจัดตั้งรัฐบาลได้ แต่เชื่อว่าโอกาสจะรวมกับพรรคพลังประชารัฐน่าจะเป็นไปได้ยาก และเชื่อว่าพรรคเพื่อไทยมีตัวแปร 3 พรรคกลางที่สามารถไปควบรวมเพื่อให้ได้ 376 เสียง นอกเหนือจากพรรคก้าวไกล และพรรคย่อย คือพรรคประชาธิปัตย์ พรรคพลังประชารัฐ และพรรคภูมิใจไทย ซึ่งโอกาสน่าจะไปจับมือกับพรรคภูมิใจไทยมากกว่า