อดีตกกต. ชี้ช่อง เบิกความ กรธ.ทุกคนให้ความเห็น คลายปม 8 ปี 'บิ๊กตู่'

Home » อดีตกกต. ชี้ช่อง เบิกความ กรธ.ทุกคนให้ความเห็น คลายปม 8 ปี 'บิ๊กตู่'


อดีตกกต. ชี้ช่อง เบิกความ กรธ.ทุกคนให้ความเห็น คลายปม 8 ปี 'บิ๊กตู่'

“อดีต กกต.” ชี้ช่อง ศาลรธน.เบิกความ กรธ.ทุกคนให้ความเห็นเจตนารมณ์ ม.158-264 คลายปมวาระ 8 ปี “ประยุทธ์” เปรียบบ้านมีปัญหาต้องถามคนก่อสร้าง

เมื่อวันที่ 12 ก.ย. 2565 นางสดศรี สัตยธรรม อดีตกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) และอดีตกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ ในสภาร่างรัฐธรรมนูญ 2550 กล่าวกรณีพิจารณาวาระการดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ว่า จะเห็นได้ว่าคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) ทั้ง 20 คน ยังลงความเห็นเรื่องการนับวาระการดำรงตำแหน่งนายกฯ ไม่เหมือนกัน ทั้งจากการให้สัมภาษณ์ และการชี้แจงต่อศาลรัฐธรรมนูญ ซึ่งเป็นเรื่องสำคัญ เพราะเป็นการชี้ข้อสำคัญในคดีดังกล่าว และข้อขัดแย้งดังกล่าว พยานบุคคลยังมีความสับสนกันอยู่

ทั้งนี้ เหมือนกรณีการสร้างบ้าน เมื่อบ้านเกิดปัญหา คนที่จะให้คำตอบได้ดีที่สุดคือช่างที่ก่อสร้างบ้าน ซึ่งในกรณีนี้คือ กรธ.ยกร่างรัฐธรรมนูญปี 2560 ดังนั้น เพื่อให้เกิดความชัดเจนน่าจะให้กรธ.ทั้ง 20 คนเป็นพยานศาลในการให้การ ว่าเหตุผลอะไรถึงมีการบัญญัติมาตรา 158 เรื่องวาระดำรงตำแหน่งนายกฯ และมาตรา 264 ด้วย

นางสดศรี กล่าวอีกว่า การที่กรธ.ไปให้การต่อศาลน่าจะเกิดประโยชน์แก่ทุกฝ่าย ศาลจะได้รับฟังเจตนารมณ์จากผู้ร่างรัฐธรรมนูญ น่าจะเกิดผลดีกว่าที่จะต้องไปตีความโดยศาล หากกรธ.ชี้แจงต่อศาลเองน่าจะดีที่สุด ซึ่งจะทำให้เข้าใจว่าทำไมศาลรัฐธรรมนูญถึงมีคำวินิจฉัยในทางใดทางหนึ่ง และจะต้องเป็นการพิจารณาโดยเปิดเผย

ทั้งนี้ การเบิกความคงกินเวลาไม่มาก เนื่องจากอธิบายเพียงมาตรา 158 มาตรา 264 และมาตราที่เกี่ยวข้องกับเรื่องนี้โดยตรง นอกจากนั้น ตนยังเชื่อว่าในการประชุมกรธ. น่าจะมีการบันทึกเทปไว้ ดังนั้น การถอดเทปการประชุมประกอบกับการเบิกความกรธ. น่าจะยิ่งเกิดความชัดเจนมากยิ่งขึ้น

“น่าจะเป็นผลดีและเป็นการเคลียร์ข้อกฎหมายนี้ได้ชัดเจนจากผู้ยกร่างเอง โดยที่ศาลไม่ต้องไปตีความอะไรเลย แต่ให้ผู้ร่างรัฐธรรมนูญเป็นผู้ชี้แจงเหตุผลในการบัญญัติกฎหมาย เพราะรายงานการประชุมเป็นเพียงบทสรุป ซึ่งจะสู้รายงานจากปากของผู้ร่างรัฐธรรมนูญไม่ได้” นางสดศรี กล่าว

นางสดศรี กล่าวด้วยว่า ทั้งนี้ ไม่ใช่การชี้นำศาล แต่วิธีการปฏิบัติในกรธ.ทำมาอย่างนี้ คือ แต่ละมาตราจะมีการพูดกัน หากเห็นไม่ตรงกันก็จะมีการลงมติ เสียงข้างมากว่าอย่างไรก็จะเป็นไปอย่างนั้น แต่พอเกิดปัญหาแล้วมีคนไปพูดอีกอย่างหนึ่ง ทำให้ประชาชนเกิดความสับสน และเกิดความไม่แน่ใจในคำตัดสินของศาลรัฐธรรมนูญ หากศาลสามารถให้กรธ.อธิบายเจตนารมณ์ของกฎหมายก็จะเป็นประโยชน์สูงสุดต่อส่วนรวมและประชาชน

แท็กที่เกี่ยวข้อง

เรื่องอื่นที่น่าสนใจ