ห้ามโดนฝน! ไฟไหม้โรงงานปะทุอีกรอบ ยันไม่ใช่ฝนกรด แต่มีสารเคมีอันตราย

Home » ห้ามโดนฝน! ไฟไหม้โรงงานปะทุอีกรอบ ยันไม่ใช่ฝนกรด แต่มีสารเคมีอันตราย

ห้ามโดนฝน! ไฟไหม้โรงงานปะทุอีกรอบ ยันไม่ใช่ฝนกรด แต่มีสารเคมีที่เป็นอันตรายต่อผิวหนังและทางเดินหายใจ

(6 ก.ค.64) จากกรณีเพลิงไหม้ที่โรงงานผลิตเม็ดพลาสติกของบริษัท หมิงตี้เคมีคอล จำกัด อ.บางพลี จ.สมุทรปราการ มีรายงานว่าไฟได้ปะทุขึ้นอีกครั้งเมื่อเวลาประมาณ 17.00 น. โดยมีควันดำจำนวนมากพวยพุ่งขึ้นสู่ท้องฟ้า ท่ามกลางฝนที่ตกอย่างหนักในพื้นที่

  • ไฟปะทุอีก! ควันพวยพุ่งจากโรงงานกิ่งแก้ว ขณะฝนตกหนัก

นายอรรถพล เจริญชันษา อธิบดีกรมควบคุมมลพิษ เปิดเผยว่า หากฝนตกจะเกิดผลดีต่อสภาพอากาศรอบจุดเกิดเหตุ เนื่องจากเป็นการกำจัดมลพิษที่ลอยอยู่ในอากาศและส่งผลให้อุณหภูมิบริเวณจุดระเบิดเย็นลง แต่กลับกันจะส่งผลกระทบกับแหล่งน้ำธรรมชาติโดยรอบ เพราะสารเคมีที่เจ้าหน้าที่ใช้ควบคุมเพลิงจะไหลลงสู่แหล่งน้ำ จึงขอเตือนประชาชนว่าภายในระยะเวลา 1-2 วัน งดการสัมผัสฝน และแหล่งน้ำธรรมชาติโดยตรง แต่ยืนยันว่าฝนที่ตกลงมาไม่ใช่ฝนกรดอย่างแน่นอน

อนึ่ง ฝนกรด (acid rain) เป็นปรากฏการณ์ธรรมชาติอันเกิดเนื่องมาจากมลภาวะทางอากาศ ซึ่งส่วนใหญ่เกิดมาจากการกระบวนการผลิตไฟฟ้าและอุตสาหกรรมทั่วไปของมนุษย์ โดยฝนกรดเป็นผลมาจากก๊าซซัลเฟอร์ไดออกไซด์ และไนโตรเจนออกไซด์ โดยก๊าซทั้งสองชนิดนี้มักจะเกิดจากการเผาผลาญเชื้อเพลิงฟอสซิล เช่น ถ่านหิน ก๊าซธรรมชาติ และน้ำมัน ก๊าซทั้งสองชนิดนี้จะทำปฏิกิริยากับน้ำ และสารเคมีอื่นๆ ในชั้นบรรยากาศเพื่อก่อให้เกิดกรดซัลฟิวริก ,กรดไนตริก และสารมลพิษอื่น ๆ ก๊าซเหล่านี้มักจะทำปฏิกิริยากับสารเคมีจะส่งผลทำให้อากาศอบอ้าวอากาศร้อนชื้นทำให้เกิดมลพิษทางอากาศ เมื่อไปโดนกับออกซิเจนอาจถูกกระแสลมพัดพาไปหลายร้อยกิโลเมตร และมักจะกลับสู่พื้นโลกโดยฝน หิมะ หมอก หรือแม้แต่ในรูปฝุ่นผงละออง

นายแพทย์โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า  สารเคมีที่ทำให้เกิดควันพิษจากไฟไหม้โรงงานผลิตพลาสติก คือ สารเคมีสไตรีนโมโนเมอร์ เป็นสารเคมีที่มีลักษณะเป็นของเหลว ใส ไม่มีสี  แต่มีกลิ่นเฉพาะตัว สามารถกลายเป็นไอระเหยและลุกติดไฟได้ และพิษจากสารเคมีอื่นๆ ที่เกิดจากการเผาไหม้สไตรีน ได้แก่ ก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ และก๊าซคาร์บอนมอนอกไซด์ ควันดำหรือฝุ่น PM10 และ PM2.5 

ถ้าสูดดมเข้าไป จะทำให้เกิดการระคายเคืองระบบทางเดินหายใจ ปวดศีรษะ มึนงง อ่อนเพลีย คลื่นไส้ และมึนเมา หากได้รับสารพิษปริมาณมาก อาจทำให้เกิดอาการหมดสติและเสียชีวิตได้ หรือถ้าสัมผัสถูกผิวหนัง จะรู้สึกระคายเคืองผิว ทำให้ผิวแดง แห้ง และแตก ซึ่งสารสไตรีนโมโนเมอร์ยังเป็นสารที่อาจก่อให้เป็นมะเร็งได้

สำหรับหลักการปฐมพยาบาลเบื้องต้นเมื่อสัมผัสกับควันพิษ ดังนี้

  1. หากโดนผิวหนัง ให้ล้างบริเวณที่ถูกสารเคมีโดยใช้น้ำสะอาดล้างให้มากที่สุดเพื่อให้เจือจาง ถ้าสารเคมีถูกเสื้อผ้าให้ถอดเสื้อผ้าออกก่อน
  2. หากเข้าตา ให้ล้างตาด้วยน้ำสะอาดทันที โดยเปิดเปลือกตาขึ้นให้ไหลผ่านตาอย่างน้อย 15 นาที แล้วรีบนำส่งโรงพยาบาลโดยเร็ว
  3. หากการสูดดมควันพิษเข้าไป ให้ย้ายผู้ป่วยไปที่ที่มีอากาศบริสุทธิ์หรือมีอากาศถ่ายเท และทำการประเมินการหายใจ หรือการเต้นของหัวใจ 
  4. ถ้าชีพจรอ่อนให้ทำการปั๊มหัวใจช่วยชีวิต หรือ CPR และแจ้งไปที่เบอร์สายด่วนศูนย์แพทย์ฉุกเฉิน โทร. 1669  
  • 4 โรคอันตรายจาก “ควันพิษ” ที่มาจากการเผาไหม้ของ “สารเคมี”

แท็กที่เกี่ยวข้อง

เรื่องอื่นที่น่าสนใจ