“หินแห่งชะตา” – บีบีซี รายงานว่า “หินแห่งชะตา” หรือที่มักเรียกกันในประเทศอังกฤษว่า หินแห่งสโคน และ หินราชาภิเษก ถูกเคลื่อนย้ายออกจากปราสาทเอดินบะระ ประเทศสกอตแลนด์ เป็นครั้งแรกในรอบกว่า 25 ปี และกำลังมุ่งหน้าสู่กรุงลอนดอนเพื่อนำไปประกอบพระราชพิธีบรมราชาภิเษกของ สมเด็จพระเจ้าชาร์ลส์ที่ 3
หินแห่งสโคนเป็นสัญลักษณ์โบราณของระบอบกษัตริย์ของสกอตแลนด์ แต่ถูกยึดโดยกษัตริย์เอ็ดเวิร์ดที่ 1 แห่งอังกฤษ ช่วงปลายศตวรรษที่ 13 และนำไปไว้ที่พระราชวังเวสต์มินสเตอร์แอบบีย์ในกรุงลอนดอน และอยู่ในอังกฤษเป็นเวลา 700 ปี
ถือเป็นส่วนหนึ่งของเก้าอี้ราชาภิเษกที่กษัตริย์และราชินีจะประทับนั่งระหว่างประกอบพิธีสวมพระมงกุฎ หินก้อนนี้ถูกส่งกลับไปเพื่อจัดแสดงอย่างถาวรในสกอตแลนด์ในปี 2539 แต่มีการตกลงกันว่าจะนำกลับมาที่เวสต์มินสเตอร์แอบบีย์ สำหรับพิธีราชาภิเษกในอนาคต
หินแห่งสโคนเป็นหินทรายสีแดงทรงสี่เหลี่ยมผืนผ้า มีน้ำหนัก 150 กิโลกรัม ยาว 66 เซนติเมตร กว้าง 42 เซนติเมตร และสูง 27 เซนติเมตร ถูกใช้สำหรับพระราชพิธีบรมราชาภิเษกของกษัตริย์สกอตแลนด์เป็นเวลาหลายร้อยปี ก่อนที่พระเจ้าเอ็ดเวิร์ดที่ 1 แห่งอังกฤษจะยึดครองไปในปีพ.ศ.1839 ในช่วงสงครามประกาศอิสรภาพสกอตแลนด์
ก่อนสร้างพระราชอาสน์ (เก้าอี้) ราชาภิเษกจากไม้โอ๊คแกะสลักและหินก้อนนี้ซึ่งถูกใช้ในพระราชพิธีสาบานตนของกษัตริย์และราชินีรวม 26 พระองค์ ที่เวสต์มินสเตอร์แอบบีย์ตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา
หินนี้อยู่ในประเทศอังกฤษเป็นเวลาหลายร้อยปี จนกระทั่งในวันคริสต์มาสปี 2493 มีเด็กนักเรียน 4 คนจากเมืองกลาสโกว์ เมืองที่ใหญ่ที่สุดของสกอตแลนด์ บุกเข้าไปในเวสต์มินสเตอร์แอบบีย์ และขโมยหินแห่งสโคนกลับไปยังสกอตแลนด์
ไม่กี่เดือนหลังจากนั้นหินแห่งสโคนก็ปรากฎตัวขึ้นอีกครั้ง ห่างจากอาร์บรอธแอบบีย์ สถานที่สำคัญแห่งประวัติศาสตร์สำคัญในการประกาศอิสรภาพสกอตแลนด์ ราว 500 ไมล์ หรือกว่า 804 กิโลเมตร
ในวันที่ 11 เม.ย.2494 หินก้อนนี้ถูกส่งกลับไปยังเวสต์มินสเตอร์แอบบีย์ซึ่งอีก 2 ปีต่อมา หินแห่งสโคนก็มีความโดดเด่นมากขึ้นกว่าเดิมเมื่อพระราชพิธีบรมราชาภิเษกของ สมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 2 แห่งอังกฤษ ถูกเผยแพร่ผ่านทางโทรทัศน์
ในเดือนก.ค.2539 สมเด็จพระราชินีเอลิซาเบธที่ 2 พร้อมด้วยนายกรัฐมนตรีจอห์น เมเจอร์ เห็นพ้องต้องกันว่าควรนำหินแห่งสโคนกลับคืนสู่สกอตแลนด์ ปัจจุบันหินก้อนนี้ตั้งอยู่ถัดจากมงกุฎเพชรแห่งสกอตแลนด์ในห้องเก็บมงกุฎของปราสาทเอดินบะระ
ข่าวที่เกี่ยวข้อง:
- บูรณะ “พระราชอาสน์” 700 ปี เร่งปิดทอง-เตรียมพร้อมพิธีราชาภิเษก “คิงชาร์ลส์ที่ 3”
- ‘วังบักกิงแฮม’ประกาศปรับแต่ง ‘มงกุฎ’ เพื่อใช้ในพิธีบรมราชาภิเษกคิงชาร์ลส์ที่ 3