หมอแล็บฯ ไขข้อสงสัย ทำไมรู้สึก “ร้อนมาก” เมื่อออกนอกบ้านในช่วงนี้ ทั้งที่อุณหภูมิ 30 องศาฯ ต้นๆ แต่ร้อนยังกับ 50 องศาฯ
ทนพ.ภาคภูมิ เดชหัสดิน นักเทคนิคการแพทย์ชื่อดัง เจ้าของแฟนเพจ หมอแล็บแพนด้า ได้โพสต์ข้อความระบุว่า “ออกบ้านแต่ละครั้ง เหมือนกับว่าเรากำลังทำพิธีลุยไฟ ทั้งๆ ที่อุณหภูมิอากาศมันวัดได้แค่ 34 องศาเซลเซียส แต่ร้อนอย่างกับ 50 องศา ต้องมีอะไรผิดพลาดตรงไหน ไม่เข้าใจเลยสักครั้ง
มันเป็นแบบนี้ครับพี่น้อง ปัจจัยที่ทำให้เราร้อนไม่ได้มีแค่อุณหภูมิของอากาศ แต่ “ความชื้นสัมพัทธ์” ก็มีผลต่อความรู้สึกร้อนอย่างมาก พูดแบบบ้านๆ ก็คือ ความชื้นในอากาศนั่นแหละ มันมีผลโคตรๆ ทำให้เรารู้สึกร้อนมากกว่าเดิม เขาเรียกว่า “ดัชนีความร้อน” หรืออุณหภูมิที่มนุษย์รู้สึกได้ (Feels Like)
ความชื้นเกี่ยวอะไร
เวลาที่ร่างกายเราร้อน ร่างกายจะมีการขับเหงื่อออกมาทางผิวหนัง เอาไว้ช่วยลดอุณหภูมิในร่างกายลง การระเหยของเหงื่อ จะช่วยดึงความร้อนส่วนเกินออกไปจากร่างกาย ถ้าระเหยเร็วก็ระบายความร้อนได้ดี ระเหยช้าก็ระบายความร้อนได้ไม่ค่อยดี
ทีนี้ถ้าความชื้นในอากาศต่ำ แสดงว่ามีไอน้ำอยู่ในอากาศน้อย หมายความว่ายังมีพื้นที่ในอากาศว่างสำหรับไอน้ำอยู่มาก เหงื่อก็จะระเหยได้ง่ายและเร็ว ดึงความร้อนออกจากร่างกายได้เร็ว
แต่อย่างเมื่อวานนี้ ความชื้นในอากาศปาเข้าไปถึง 80% แปลว่ามีไอน้ำในอากาศเยอะเต็มไปหมด แทบไม่เหลือพื้นว่างให้ไอน้ำอื่นเลย การระเหยของเหงื่อก็เลยยาก และใช้เวลานานกว่า การระบายความร้อนก็เลยช้า เราก็เลยรู้สึกว่าทำไมมันร้อนจัง นอกจากความชื้นแล้ว ลมก็มีผล ลองนึกภาพว่าเราเปิดแอร์ 24 องศา แล้วเปิดพัดลมเบอร์ 3 อัดลมใส่ตัวเรา มันก็จะรู้สึกเย็นกว่าปกติยังไงล่ะ
แต่ยังไงก็ตาม ช่วงนี้อากาศค่อนข้างชื้นเลยแหละ ไม่ว่าเราจะวัดอุณหภูมิในอากาศได้เท่าไหร่ แสดงว่า “เราจะรู้สึกร้อนกว่านั้นแน่ๆ ร้อนของแทร่จ้า” อยู่ในไทยแลนด์ร้อนยังกับไฟเออร์”